วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

คน ไท ทิ้ง แผ่นดิน ( ภาค ๖ ทิ้งแผ่นดิน )

ภาค ๖
ทิ้งแผ่นดิน
๑...
ระหว่างที่ล้อมเมืองไต๋อยู่นั้น วันหนึ่งสีเภาขับม้าออกไปนอกค่าย ใจของเขาเบื่อหน่ายที่ต้องมาทำศึกกับคนไทด้วยกัน เมื่อมาถึงชายป่า สีเภาเห็นนักบวชผู้หนึ่งเดินผ่านมาสีเภาจึงถามนักบวชผู้นั้นว่า “ ข้าได้ยินว่า นักบวชพวกสูแยกตัวออกจากความวุ่นวายของชีวิต แต่รู้ในความเป็นไปของชีวิตเป็นอันมากและสูรู้ในความเป็นไปเบื้องหน้า สูจะบอกข้าได้หรือไม่ว่า เมื่อแคว้นไทแตกแยกกันเช่นนี้ และนอกจากนี้แล้วยังมีภัยจากภายนอกคอยรุกรานอยู่อีก ชะตาของคนไทจะเป็นอย่างไร ”
นักบวชผู้นั้นตอบว่า “ ข้าเองไม่รู้เหตุการณ์ข้างหน้าเกินกว่าที่จะคาดได้ตามวิสัยของมนุษย์ แต่ว่านักบวชผู้หนึ่งที่วัดป่าลายกล่าวให้ข้าฟังดังนี้ สูจงฟังไว้เถิดสำหรับเล่าต่อๆไปแต่ลูกหลานของคนไท เขากล่าวว่าคนไทถูกกำหนดให้ต้องพรากจากถิ่นเพราะแตกร้าวกันเอง คนไทจะพ่ายต่อศัตรูภายนอก เพราะความอ่อนแอภายใน และจะต้องอพยพไปอยู่ดินแดนใหม่ แต่แล้วคนไทจะเอาความหลังไว้สอนตนก็หาไม่ เขาจะรวมกันได้ชั่วเวลาหนึ่ง แล้วจะแตกร้าวกันอีก แม้แต่ชื่อเผ่าของเขา เขาก็จะเรียกให้ต่างกันไปทั้งที่เขาเป็นไทด้วยกัน คนไทจะตั้งบ้านเมืองเป็นสุขอยู่ได้ชั่วเวลาหนึ่ง แต่แล้วภัยจะเกิดขึ้นแก่เขาอีก เพราะเขาไม่อาจรวมกันได้ยั่งยืน สายตาของเขาจะไม่มองไปถึงกาลก่อนที่เขาพ่ายต่อการรุกรานเพราะเขาแตกร้าวกัน ”
แล้วนักบวชนั้นก็เดินต่อไป สีเภากล่าวขึ้นว่า “ นักบวชสูจงหยุดก่อน ที่สูบอกนั้นเป็นชะตาของคนไทที่แตกร้าวกันในภายหน้า สำหรับชะตาของคนไทเวลานี้เล่า สูจะไม่มีอะไรบอกข้าบ้างหรือ ”
นักบวชนั้นกล่าวว่า “ ในไม่ช้าแคว้นไทจะถูกจิ๋นรุกรานอีก ”
แล้วนักบวชนั้นก็เข้าป่าไป สีเภาเมื่อกลับมาก็แจ้งไปยังคำอ้ายให้มอบเมืองให้แก่ชาวไต๋เสียโดยดี แล้วออกไปเสียจากเมืองและสีเภาบอกคำอ้ายถึงถ้อยคำของนักบวช ที่กล่าวถึงการแตกร้าวของคนไทและกล่าวถึงคำของนักบวชที่ว่า จิ๋นจะมารุกรานแคว้นไทในไม่ช้า
คำอ้ายตอบสีเภาไปว่า “ ถ้าสูกลัวจิ๋นจะมาช่วยข้า สูจงรีบหนีไปอยู่ดินแดนอื่นเสียโดยเร็ว ใครเล่าที่ทำให้คนไทแตกแยกกัน สูมิใช่หรือที่ทำลายคนไทอยู่เวลานี้ ”
สีเภาจึงให้ทหารเข้าโจมตีอีก แต่ก็ไม่อาจยึดเมืองได้ทั้งสองฝ่ายก็อ่อนกำลังลง
๒...
และเมื่อกษัตริย์จิ้นอ๋องได้ข่าวว่า แคว้นลือกับแคว้นไต๋ทำศึกกันอยู่ พระองค์ดีใจนัก วิ่งตะโกนไปทั่วทั้งวังว่า “ คนไทวิวาทกันแล้ว คนไทวิวาทกันแล้ว ” และในคืนนั้นกษัตริย์จิ๋นกล่าวขึ้นในที่ประชุมขุนนางผู้ใหญ่ว่า “ ข้าอายต่อบัลลังก์ที่ข้านั่งมาหลายปีแล้วนับแต่ทัพของลิบุ๋นพ่ายต่อกุมภวา บัดนี้แคว้นลือและแคว้นไทอื่นๆ ได้อ่อนกำลังลง เพราะกำลังทำศึกกันเองเป็นโอกาสแล้วที่เราจะล้างความอายไปจากหน้าของเรา ที่ประชุมเห็นว่าผู้ใดควรจะยกทัพไปตีแคว้นไทในครั้งนี้ ”
ขุนนางจิ๋นทั้งปวงยังจำได้อยู่ว่า ทัพของลิบุ๋นกว่าสี่แสนมีเหลือกลับมาน้อยกว่าสีพัน และทุกคนยังจำคำกุมภวาได้ดีเมื่อครั้งมาเยือนเมืองโลยาง ดังนั้นที่ประชุมขุนนางจิ๋นคราวนี้จึงเงียบอยู่
ขณะนั้นลิตงเจียอยู่นั่นด้วย เมื่อเห็นที่ประชุมเงียบอยู่เช่นนั้น เขาจึงลุกขึ้นคำนับกษัตริย์จิ้นอ๋องแล้วกล่าวว่า “ ความอัปยศต่อคนไทนั้น เราชาวจิ๋นยังไม่ได้ล้างไปจากหน้าของเราแม้แต่พระองค์ยังถูกดูหมิ่นหน้าบัลลังก์ สำหรับขารู้สึกความอัปยศเกินกว่าชาวจิ๋นอื่นๆ ร้อยเท่า และข้าแค้นคนไททั้งชายและหญิงมากกกว่าชาวจิ๋นอื่นๆ พันเท่าจากสิ่งที่คนไทได้ทำกับข้าและพี่ชายของข้า แต่ข้าต้องเก็บความแค้นไว้ในใจตลอดมา บัดนี้เมื่อทุกคนลังเลใจอยู่ ข้าจะอาสาไปยึดแคว้นไทมาให้จงได้ ที่ข้าถูกคนไทจับได้ในการศึกครั้งก่อนนั้น จะเป็นด้วยฝีมือของคนไทก็หาไม่ แต่เพราะว่าม้าของข้าตกใจ ความบังเอิญจึงเกิดขึ้น ถึงแม้บัดนี้ข้าจะถืออาวุธไม่ได้สองแขน ข้าก็ยังถือได้ด้วยมือข้างหนึ่งและยังคุมกองทัพได้ ”
ทุกคนก็ยังนิ่งอยู่ กษัตริย์จิ้นอ๋องจึงกล่าวแก่ลิตงเจียว่า “ ข้าเชื่อว่าสูจะนำทัพไปยึดแคว้นไทไว้เป็นของจิ๋นได้ แต่ว่าตั้งแต่โบราณมา กษัตริย์ของจิ๋นไม่เคยส่งแม่ทัพพิการไปทำศึกเลย แต่ถ้าไม่มีใครกล้าอาสา ข้าจะส่งสูไปแก้หน้าของชาวจิ๋นและของสูเอง แต่ข้าเสียใจอยู่ที่ว่าไม่มีคนอื่นกล้าอาสาไปพบกับคนเถื่อนทางใต้ครั้งนี้ ”
ทันใดนั้นซุนโปกล่าวขึ้นว่า “ ข้าคิดว่าที่ทุกคนเฉยอยู่ไม่กล้าอาสาก็เพราะว่าทุกคนต้องการจะให้ได้แม่ทัพที่เหมาะแก่การศึกครั้งนี้ บัดนี้ข้านึกถึงคนจิ๋นคนหนึ่งที่อยู่ไกลจากโลยาง จนทำให้เราลืมเขาเสียแล้ว ชาวจิ๋นผู้นี้นอกจากจะรู้กำลังและความสามารถของคนไทดีแล้ว ยังรู้จักพื้นที่ของแคว้นไทดีอีกด้วย พระองค์จงให้ผู้นี้ไปทำงานก่อนเถิด ผู้นี้คือเตียวเหลียงที่ดูแลตังเกี๋ยอยู่เวลานี้สำหรับลิตงเจียนั้นเราคงมีงานให้เขาทำภายหลังเมื่อแคว้นไทอยู่ในอำนาจของเราแล้ว ”
ขุนนางในที่นั้นก็เห็นด้วยกับซุนโป กษัตริย์จิ้นอ๋องจึงให้ม้าเร็วเดินทางไปยังตังเกี๋ยให้เรียกเตียวเหลียงมายังโลยางโดยด่วน
ในไม่ช้าเตียวเหลียงก็มาถึงโยลางพร้อมกับเตียวลกและตันซูแล้วเตียวเหลียงไปยังซุนโปและถามว่า “ มีใครที่ตังเกี๋ยกล่าวหาข้ามายังโลยางหรือ ”
ซุนโปตอบว่า “ ข้าดูแลอยู่มิให้ผู้ใดกล่าวหาสูได้ เพราะข้ารู้ดีว่าสูปกครองแคว้นตังเกี๋ยเป็นผลดีทั้งแก่จิ๋นของเราและแก่ชาวตังเกี๋ยเอง แต่ที่สูถูกเรียกมานี้เกี่ยวกับการศึกในแดนอื่นที่ไกลไปจากตังเกี๋ย”
แล้วซุนโปนิ่งอยู่ครู่หนึ่งและกล่าวต่อไปว่า “ ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องอันไม่เพลิดเพลินของการศึก ข้ามีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจเมื่อเร็ววันนี้ คือว่าเป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะทำอะไรไปด้วยความโกรธแค้น สูอย่าถือว่าข้าถามในเรื่องโง่ๆ เลย จงช่วยตอบข้าเถิด ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ ไม่เป็นการถูกต้องที่จะทำอะไรไปด้วยความโกรธแค้น ในเรื่องนี้สูรู้อยู่แล้ว”
ซุนโปกล่าวต่อไป “ แต่ว่าความโกรธแค้นเป็นธรรมดาของคน เมื่อเราถูกทำร้าย เราย่อมจะโกรธผู้ทำร้ายเรา เช่นนี้แล้วเราจะทำร้ายตอบเพราะความโกรธนั้นไม่ได้หรือ ”
เตียวเหลียง “ เมื่อใครทำอะไรด้วยความโกรธ แม้ในขณะที่เขากำลังลงโทษผู้อื่น คนแรกที่รับโทษคือตัวเขาเองและในความโกรธหรือความแค้น ความคิดว่าอะไรผิดอะไรถูกจะเลือนรางไป เขาจะทำให้ถูกต้องได้ยาก ”
“ แล้วแม่ทัพที่จะนำคนออกศึกด้วยความโกรธหรือความแค้นเล่า สูไม่คิดหรือว่าความโกรธจะทให้เขาเองและคนในกองทัพฮึกเหิม และทำการรบได้ดีขึ้น ” ซุนโปถาม
“ ข้าไม่เห็นเช่นนั้น ” เตียวเหลียงตอบ “ หากแม่ทัพคนใดอยู่ใต้อำนาจของความโกรธหรือความรู้สึกทำนองเดียวกันนั้นกองทัพของเขาจะพบกับความพิบัติได้ง่าย อันว่าในการศึกนั้นจำเป็นที่เราจะป้องกันมิให้มีอันตรายเกิดแก่ทัพของเราเท่าๆ กับที่เราต้องการทำลายข้าศึก แต่ว่าแม่ทัพที่ทำงานด้วยความโกรธ จะไม่คำนึงให้พอควรถึงความปลอดภัยของคนของตน และจะทำงานโดยขาดความรอบคอบ เขาจะไม่มองไปข้างหน้าถึงภัยที่จะเกิดแก่ทัพของเขาสูรู้เรื่องราวของเล่าปี่ดีอยู่แล้ว ตราบเท่าที่เล่าปี่รักษาความคิดให้เยือกเย็นอยู่ได้ แม้แต่ในเวลาเข้าตาจนเขาก็เอาตัวรอดได้ แต่เมื่อกวนอูน้องร่วมสาบานถูกคนของซุ่นกวนฆ่า เล่าปี่โกรธยิ่งนักความโกรธทำให้เล่าปี่เอาเรื่องส่วนตัวของความเป็นพี่น้องมาเป็นธุระก่อนเรื่องของแผ่นดิน เล่าปี่ควรจะนำทัพไปปราบโจผีที่แย่งบังลังก์จากวงศ์ฮั่น แต่เขากลับนำทัพไปรบซุ่นกวนผู้เป็นศัตรูส่วนตัว ผลก็คือความพินาศของกองทัพและความตายของเล่าปี่ในเวลาต่อมา นี่เป็นตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ของหัวหน้าที่ทำงานด้วยความโกรธ แต่ว่าที่สูเริ่มต้นด้วยเรื่องเช่นนี้สูคงมีอะไรอยู่ในใจ ”
ซุนโปกล่าวว่า “ เตียวเหลียง ข้าจะไม่อ้อมค้อมต่อไปแล้วสูถูกเรียกมาโลยาง เพราะว่ากษัตริย์ของเราอยากได้คนที่เหมาะสำหรับนำทัพไปยึดแคว้นไทในขณะที่คนไทกำลังวิวาทกันเอง ในโลยางขณะนี้ไม่มีใครอยากจะอาสา มีแต่ลิตงเจียเท่านั้น แม้ลิตงเจียจะเป็นคนกล้าหาญแต่เขาอาสาครั้งนี้ด้วย ความโกรธเป็นส่วนตัว ดังนั้นเขาจะทำงานด้วยความโกรธมากกว่าด้วยความคิดและจากที่ข้าฟังเดี๋ยวนี้ ข้าแน่ใจว่าถ้าสูทำได้ สูจะไม่ยอมให้ลิตงเจียนำทัพจิ๋นไปสู่ความฉิบหายเหมือนเมื่อครั้งลิบุ๋น และขอให้สูคิดเถิดหากเราพบความพิบัติอีกครั้งเดียวจิ๋นของเราจะล่มจม ข้าจึงแนะให้กษัตริย์ส่งสูไปทำงานครั้งนี้ ข้ารู้ว่าสูไม่อยากไปทำศึกกับคนไทแต่ว่าเตียวเหลียงเอย เราไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่นแล้ว ”
เตียวเหลียงนิ่งอยู่ครู่ใหญ่ แล้วเขาเอ่ยขึ้นว่า “ ในเมืองหลวง ไม่มีใครแล้วหรือที่จะยังยั้งกษัตริย์ของเราได้จากการทำศึกกับคนไท ”
ซุนโปตอบว่า “ เรายับยั้งไม่ได้แล้ว หากสูไม่ไปลิตงเจียก็จะไปแทน สูอาจจะมองว่าเราไม่มีความชอบธรรมที่จะไปรุกรานแคว้นไท แต่ขอให้เรามองถึงประโยชน์ขั้นสุดของจิ๋นเถิด อย่ามองเพียงเฉพาะหน้าว่าอะไรถูกต้องอะไรไม่ถูกต้อง เวลานี้จิ๋นนำหน้าเผ่าพันธุ์ทั้งปวงเพราะความมั่นคงและประเพณีอันดีของจิ๋น หากจิ๋นอ่อนแอไปเพราะพ่ายต่อแคว้นไทเล็กๆ พวกมงโกลจะบ่าลงมาปล้นสมบัติของจิ๋นและแผ่นดินจิ๋นจะถูกย่ำด้วยเท้าของคนเถื่อนพวกนี้ เตียวเหลียงเอย เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะพูดถึงความเป็นธรรมหรือความไม่เป็นธรรมเฉพาะหน้า มีแต่ประโยชน์ขั้นสุดของจิ๋นผู้ค้ำจุนโลกเท่านั้นที่เราจะต้องรักษาไว้ พรุ่งนี้สูจงรับงานที่น่าเกลียดนี้เถิด ”
แล้วเตียวเหลียงก็ออกจากบ้านของซุนโป และกลับยังที่พักของตนด้วยความไม่สบายใจ
วันต่อมาเตียวเหลียงเข้าไปในวังหลวง พอเข้าประตูวังก็มีผู้หนึ่งตรงมาที่เขา ผู้นี้คือเพ็กกุยที่เคยค้านการที่ลิบุ๋นจะไปทำศึกกับคนไท เพ็กกุยกล่าวแก่เตียวเหลียงว่า “ สูจะนำทัพไปยังแคว้นไทหรือ เตียวเหลียง ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ ข้าอาจจะต้องทำเช่นนั้น ”
“ แต่ว่าชาวจิ๋นไม่มีเหตุพอที่จะทำเช่นนั้น ” เพ็กกุยกล่าวพร้อมกับจ้องหน้าเตียวเหลียง และกล่าวต่อไปว่า “ จิ๋นเป็นแคว้นใหญ่เหนือแคว้นทั้งปวง ควรหรือจะไปรุกรานแคว้นเล็กเช่นแคว้นไท สูไม่ละอายใจบ้างหรือ ”
เตียวเหลียงนิ่งอยู่ ในที่สุดเขากล่าวขึ้นว่า “ เพ็กกุยเอย ในชีวิตที่เราว่าเป็นของเรานี้ แท้จริงอยู่ในบังคับของเราไม่มากนัก เราต้องจมอยู่และเคลื่อนไปในกระแสของโลกรอบตัวมากเกินกว่าที่เราจะบังคับเหตุการณ์หลายๆ อย่างได้ ข้าเห็นเช่นเดียวกับสูว่าที่จิ๋นจะไปทำศึกกับไทครั้งนี้น่าอัปยศนัก แต่ว่าในบางเวลาเราตามใจตนเองไม่ได้ ถ้าข้าต้องทำในสิ่งไม่สมควรครั้งนี้ สูกับคนอื่นที่คิดเช่นเดียวกับสูจงเห็นใจข้าเถิด ”
แล้วเตียวเหลียงกับเพ็กกุยก็เข้าไปในห้องประชุมขุนนาง กษัตริย์จิ้นอ๋องกล่าวแก่เตียวเหลียงว่า “ ข้าให้สูมาโลยางครั้งนี้ เพื่อให้สูไปยึดแคว้นลือไว้ในอำนาจของเรา แล้วจากนั้นขอให้สูยึดแคว้นเม็ง และแคว้นไต๋ และบริวารของแคว้นเหล่านี้ไว้ด้วย ”
เตียวเหลียงลุกขึ้นคำนับกษัตริย์ของเขาแล้วกล่าวว่า “ ในการไปยึดแคว้นไทเท่าที่เราเคยทำมาแล้ว คนไทไม่ยอมต่อเราโดยดี ความเสียหายแก่เราจึงมีมากนัก จะมีใครชี้แจงได้หรือว่าการเข้าไปยึดแคว้นไทครั้งต่อไปนี้ ผลได้ของเราจะคุ้มกับความเสียหายขอพระองค์หรือขุนนางในที่นี้บอกข้าเถิด เพื่อว่าข้าและทหารทั้งปวงจะทำงานครั้งนี้ด้วยใจที่ไม่ลังเล ”
ในที่ประชุมก็เงียบไป ในที่สุด ลิตงเจียลุกขึ้นกล่าวแก่เตียวเหลียงว่า “ แทนที่จะให้ผู้อื่นชี้แจงถึงประโยชน์ในการเข้ายึดแคว้นไทครั้งนี้ ขอให้เตียวเหลียงบอกพวกเราเถิดว่ามีเหตุผลหรือที่เขาไม่ควรนำทัพเข้าไป ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ กษัตริย์ของเราจะให้ข้านำทัพไป ข้าก็จะไปด้วยความเต็มใจ และทหารของข้าทั้งปวงก็จะต้องรบด้วยความเต็มใจ และทหารของข้าทั้งปวงก็จะต้องรบด้วยความเต็มใจ ข้าจะทำตามคำสั่งของแผ่นดิน มิใช่ตามเหตุผลที่ข้าจะคิดของข้าเอง ”
กษัตริย์จิ้นอ๋องจึงกล่าวว่า “ เตียวเหลียงเอย ข้ารู้ว่าคนจิ๋นหลายคนคิดว่าเราไม่ควรจะไปยุ่งกับคนไท แต่เวลานี้เราจะคิดเช่นนั้นไม่ได้แล้ว กุมภวาเจ้าเมืองลือตั้งใจจะรวมคนไท เวลานี้เขาพยายามยึดแคว้นไต๋ไว้ในอำนาจ ถ้าเขาทำได้ ดินแดนของคนไทซึ่งแต่ก่อนเป็นฉางข้าวเล็กๆ หลังบ้านเราต่อไปจะกลายเป็นถ้าเสือ เราไม่รู้ว่าคนไทมาจากที่ใดแต่เรารู้ว่าเขาชอบอพยพและเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แม้แต่ในตังเกี๋ยก็มีคนไท สูก็รู้อยู่ว่าคนไทที่นั่นเขามีตัวหนังสือของเขาเองแล้ว ลุ่มน้ำแยงซีเกียงก็เคยเป็นที่อยู่ของคนไท เวลานี้เขากำลังยึดลุ่มแม่น้ำโขงลงไปเป็นของเขาอีกด้วย คนเผ่านี้เปรียบได้เหมือนน้ำป่าที่ไหลบ่าไปในที่ต่างๆ ถึงแม้เขาจะเรียกชื่อตนเองตามชื่อแคว้นเมื่อไปอยู่ในดินแดนใหม่ ถึงแม้ภาษาของเขาจะผิดเพี้ยนไปบ้างเพราะไปอยู่ในที่ใหม่ แต่เขายังใช้ภาษาเดิมของเขาคือภาษาไทและเขาจะไม่ทิ้งนิสัยเดิมคือชอบการต่อสู้ แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบฉกชิงที่ดินและทรัพย์สินของผู้อื่น เมื่อเป็นดังนี้ถ้าเขารวมกันได้ดังที่กุมภวากำลังทำอยู่ เราจะมีภัยจากทางใต้เพิ่มขึ้นจากภัยทางเหนือ เราจะให้แม่โขงเป็นภัยแก่ฮวงโหหรือสูจงรับงานครั้งนี้เถิด เพราะว่าสูเคยทำศึกกับกุมภวามาแล้ว และสูรู้เล่ห์กลของคนไทคนนี้ดี ”
เตียวเหลียงก็นิ่งอยู่ แล้วกษัตริย์จิ้นอ๋องหันไปทางขุนนางอื่นๆ และกล่าวว่า “ ถ้าผู้ใดคิดว่าฮวนทางใต้จะไม่เป็นภัยแก่เราก็จงช่วยชี้แจงเถิด ”
ขุนนางหลายคนกล่าวสนับสนุนคำของกษัตริย์จิ้นอ๋อง แต่เพ็กกุยยืนขึ้นคำนักกษัตริย์ของเขาแล้วหันไปกล่าวแก่ที่ประชุมว่า “ ข้าอาจจะขัดแย้งความเห็นของผู้ใหญ่ในที่ประชุมนี้ และอาจจะขัดแย้งความเห็นของกษัตริย์ของเราผู้ที่เป็นห่วงยิ่งกว่าผู้ใดในความมั่นคงของบ้านเมือง แต่เมื่อข้าไม่ต้องการขัดแย้งประโยชน์และความมั่นคงของบ้านเมือง ข้าจึงไม่ควรจะนิ่งเฉยในเรื่องสำคัญที่เราปรึกษากันอยู่เวลานี้ ”
“ เราจะไปยึดแคว้นไทเพราะเราคิดว่าถ้าคนไทรวมกันได้เมื่อใด ภัยต่อจิ๋นจะเพิ่มขึ้นทางด้านใต้ ถึงแม้ข้าอยากจะเป็นคนหวาดต่อภัยเพียงใด ข้าก็ยังไม่คิดว่าแคว้นเล็กๆ เช่นแคว้นไทจะเป็นภัยแก่เรา คนไทก็เหมือนคนเผ่าอื่นๆ ที่อยากเป็นมิตรกับจิ๋นราษฎรนั้นไม่ว่าในแคว้นใดเขาอยากอยู่กับครอบครัวของเขา กับเพื่อนของเขาอย่างสงบ อยากทำไร่ทำนาและค้าขายและติดต่อกับคนในแคว้นอื่นและเผ่าอื่น ถ้าผู้ปกครองของแคว้นรู้จักที่จะผูกมิตรกันแล้ว การทำสงครามกันด้วยอาวุธอันเป็นความหยาบช้าของมนุษย์จะไม่เกิดขึ้นได้ ”
เพ็กกุยยังกล่าวต่อไปว่า
“ ถึงหากว่าคนไทจะรวมกันได้และเขาพอใจฉกชิงแผ่นดิน และทรัพย์สินของแคว้นอื่นๆ ภัยจากคนเถื่อนทางใต้ก็ยังห่างไกลจากเรานักและยังไม่เกิด เวลานี้เราต้องระงับภัยที่เกิดขึ้นแล้ว และมีอยู่ภายในบ้านเมืองของเรานี้เอง ภัยที่ว่านี้คือการแตกร้าวภายในบ้านเมืองของเรา ทุกคนรู้ดีถึงความทุกข์อย่างสาหัสของแผ่นดินจิ๋นเมื่อสี่สิบปีก่อน ในครั้งนั้นโจรโพกผ้าเหลืองได้ยุยงและชักชวนชาวนาให้ลุกขึ้นสู้อำนาจของบ้านเมือง พวกโจรอ้างว่าฝ่ายบ้านเมืองไม่เหลียวแลบำบัดความเดือดร้อนของชาวนา ในครั้งนั้นคนดีและคนชั่วที่มีฝีมือเป็นอันมากช่วยกันปราบขบถ แต่เมื่อขบถหมดสิ้นไปแล้ว ความสงบหาได้กลับมาสู่จิ๋นไม่ จิ๋นต้องแตกแยกเป็นสามก๊กและฆ่าฟันกันเอง เลือดของชาวจิ๋นหลั่งลงในรอยร้าวนั้นเหมือนสายน้ำ น่าสลดใจและน่าอัปยศยิ่งนักสำหรับจิ๋นที่มากด้วยคนมีปัญญา ”
“ เวลานี้ถึงแม้ภายในบ้านเมืองของเราจะมิได้แยกเป็นก๊ก แต่การแตกร้าวมีอยู่และมิได้ลดลง บ้านเมืองของเราเวลานี้เหมือนเรือที่ฝ่าคลื่นลมโดยมีภัยเกิดอยู่ในเรือนั้นเอง เพราะว่าคนในเรือแยกกันเป็นสองพวกที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน พวกหนึ่งคือคนมีเงินมีอำนาจ และมีบริวารเป็นกำลัง พวกนี้รวมกันอยู่ทางกราบขวา ที่กราบนี้แม้บางคนจะเป็นที่นับถือของคนทั่วไป แต่มากคนจะเป็นที่เกลียดชัง หลายคนจะกอดเงินทองของตนไว้กับอก เขาห่วงทรัพย์ของเขาเองยิ่งกว่าห่วงเรือ ทางกราบซ้ายนั้นเล่า คือคนส่วนใหญ่ที่ไร้เงินทองไร้อำนาจและไม่มีบริวาร บางคนที่กราบนี้จะมองคนฝ่ายขวาด้วยความโกรธและความเกลียด เขาอยากดูความฉิบหายของพวกที่กอดเงินทองไว้ บางคนอยากจะยึดเรือมาไว้ในอำนาจของเขา เมื่อน้ำหนักของเรือแยกไปอยู่ทางขวาและทางซ้าย แทนที่จะถ่วงอยู่ที่กลางลำเรือ เรือก็จะโคลงไปทางขวาบ้าง ทางซ้ายบ้าง เช่นนี้แล้วเรือจะอับปางเมื่อใดก็ได้ เราผู้ปกครองบ้านเมืองก็มิต่างไปจากผู้ควบคุมเรือ งานเวลานี้ของเราคือจัดให้คนมาอยู่กลางลำ เพื่อว่าทุกคนจะรู้สึกว่าเรือที่เรียกว่าจิ๋นนี้ปลอดภัยสำหรับเขาขอให้เราทำงานที่ว่านี้ก่อนเถิด เพราะสำคัญกว่าที่จะไปยุ่งกับแคว้นเล็กๆ เช่น แคว้นไท ”
แล้วเพ็กกุยกล่าวเสริมว่า “ หรือผู้ใดจะเห็นว่าภัยในบ้านเมืองของเราไม่มี เรามีแต่ภัยจากคนไท ก็จงชี้แจงเถิด ดังที่กษัตริย์ของเราประสงค์ให้เราชี้แจง ”
ขุนนางเป็นอันมากก็ลุกขึ้นกล่าวหาว่าเพ็กกุยพูดยุยงให้ชาวจิ๋นไม่ภักดีต่อบ้านเมืองและให้ชาวจิ๋น
แตกแยกกัน เพ็กกุยได้แต่สั่นศีรษะและพูดกับตนเองว่า “ คนที่อยู่ในอำนาจจะสำนึกความโง่ของตนก็เมื่อสายเสียแล้ว ”
แล้วกษัตริย์จิ้นอ๋องมอบอาญาสิทธิให้เตียวเหลียง และให้เกณฑ์คนได้ตามต้องการ
มีคนถูกเกณฑ์มายี่สิบหมื่น แต่เมื่อเตียวเหลียงเห็นว่าคนใดไม่เต็มใจไปศึก เตียวเหลียงก็ไม่เอาไว้ ลูกขุนนางที่ซีดเซียว เตียวเหลียงก็ยอมให้เอาม้ามาแลกเอาตัวไป ตันซูเห็นทหารยี่สิบหมื่นลดจำนวนลงทุกวันก็เป็นห่วง วันหนึ่งจึงเอ่ยแก่เตียวเหลียงว่า “ ทัพของสูยังไม่ข้ามแดนก็ลดลงเกือบครึ่งแล้ว ทำไมสูตัดกำลังทัพของตนเองเสียเล่า ”
เตียวเหลียงกล่าวว่า “ ตันซู ข้ารู้ว่าเมื่อครั้งกุมภวานำทัพเข้ามาในแดนจิ๋นนั้น คนของเขาช่ำชองในการต่อสู้ยิ่งกว่าคนจิ๋น เขาจึงกล้านำทัพเข้ามาทั้งที่เขามีจำนวนเพียงเล็กน้อย การที่เราจะไปทำศึกกับเขาครั้งนี้ ถ้าเราอาศัยแต่จำนวนเหมือนเมื่อครั้งลิบุ๋น เราก็จะพ่ายอย่างลิบุ๋น การเอาคนที่ไม่เหมาะไปรวมกันในกองทัพจะไม่ช่วยให้ทัพมีกำลังมากขึ้น เหมือนสูเอาตะกั่วไปผสมธาตุเงินจะช่วยให้เหรียญเงินดีขึ้นหรือ หากมีความระส่ำระสายในกองทัพของเรา เราจะพ่ายกลับมา ทหารเลวแทนที่จะเป็นกำลังรบกลับจะเป็นกังวลของคนอื่นทั้งเวลาออกรบและเวลาปกติ ข้าจึงคัดเลือกเอาแต่คนที่จะฝึกให้ดีได้ ”
ในที่สุดทัพยี่สิบหมื่นเหลือเพียงหกหมื่น แล้วเตียวเหลียงให้เตรียมเคลื่อนทัพ
กษัตริย์จิ้นอ๋องเมื่อออกมาส่งเตียวเหลียง ได้เห็นทัพของเตียวเหลียงน้อยลงไปเช่นนั้นจึงกล่าวว่า
“ เตียวเหลียง ทัพจิ๋นที่ยกข้ามแดนไปแคว้นไทไม่เคยน้อยกว่าสิบหมื่น ครั้งหลังนี้ทัพสี่สิบหมื่นของลิบุ๋นยังถูกทำลายสิ้น คราวนี้สูมีไปเพียงหกหมื่น ข้าห่วงยิ่งนัก ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ ทัพหกหมื่นนี้มากอยู่แล้วสำหรับยกไปแคว้นไท หากเราชนะด้วยจำนวน เราจะไม่มีอะไรให้คนไทยำเกรง จูโกเหลียงนั้นเอาคนไปถึงสามแสนสำหรับรบกับคนไทสามหมื่น ครั้งหนึ่งจูโกเหลียงต้องการให้คนไทกลัวในจำนวนอันเหนือกว่า เขาให้ทหารเอาเสื้อห่อดินวิ่งไปทิ้งที่กำแพงของฝ่ายไท เพียงดินคนละห่อก็ทำให้มูลดินสูงถึงยอดกำแพง แล้วจูโกเหลียงก็ยึดเมืองนั้นได้ แต่ว่าคนไทยังสู้ต่อไป เพราะว่าลำพังกำลังหรือความฉลาดที่เหนือกว่าไม่อาจชนะใจคนได้ ข้าจึงเอาคนไปเพียงหกหมื่น ”
กษัตริย์กล่าวต่อไปว่า “ ข้าได้ยินมาว่าสูรักสงบ สูพอใจถือหนังสือของนักปราญ์ยิ่งกว่าดาบของแม่ทัพ และสูชังการทำสงครามรุกราน หากสูคิดว่าสงครามครั้งนี้ เราฝ่ายจิ๋นทำไม่ถูกต้อง สูจะทำศึกด้วยความจำใจเพราะไม่อาจขัดต่อแผ่นดิน ข้าสงสัยเรื่องนี้อยู่ บัดนี้ถึงเวลาเคลื่อนทัพแล้ว จงให้ข้าสิ้นสงสัยว่าสูเต็มใจนำทัพครั้งนี้หรือไม่ หากมิเต็มใจ ข้าจะให้คนอื่นไปแทนเพราะเห็นใจสูอยู่ ”
เตียวเหลียงคำนับกษัตริย์ของตนและกล่าวว่า “ ข้ากินเบี้ยหวัดของแผ่นดิน ข้าต้องทำตามความประสงค์ของแผ่นดิน อนึ่งข้าตั้งใจไว้ว่าเมื่อยึดแคว้นไทได้แล้ว ข้าจะให้การปกครองที่ดีแก่แคว้นไท ธรรมดาของคนไทนั้นเมื่อไม่มีภัยจากภายนอกคุกคามเขาจะวิวาทกันเอง เขาจะทำลายกันเอง เพราะเหตุนี้เขาจึงตั้งบ้านเมืองไม่ได้นาน และต้องพเนจรตลอดมา คนไทรักอิสระ เขาภูมิใจเรียกตนเองว่าไท เขารักความเป็นไทเหมือนคนเผ่าอื่นรัก แต่ว่าเขาไม่รู้จักที่จะอยู่กันอย่างสงบและอย่างมีระเบียบ ชื่อที่เขาเรียกตนเองว่าไทจึงให้ความอัปยศแก่เขายิ่งกว่าให้ความภูมิใจ ดังนั้นหากการปกครองของเราไม่หนักกว่าแอกที่คนไทใช้กับคนไทเอง เทพยดาและมนุษย์จะไม่ตำหนิเรา ข้าตั้งใจไว้ดังนี้ จึงตกลงใจรับงานครั้งนี้ ”
กษัตริย์จิ้นอ๋องก็อวยพรให้แม่ทัพของตนได้ชัยชนะและก่อนที่จะกลับวังกษัตริย์จิ้นอ๋องกล่าวว่า
“ กุมภวาเจ้าเมืองลือ มีเล่ห์กลมากนักตามวิสัยของคนเถื่อน สูจงระวังผู้นี้ให้ดี อนี่งเล่ามีคนไทคนหนึ่งชื่อธงผา ผู้นี้เมื่อครั้งโลยาง มาฟันมังกรหน้าบัลลังก์คอขาดเป็นการลบหลู่บัลลังก์ของจิ๋นยิ่งนัก ถ้าสูจับผู้นี้ได้ จงส่งตัวมายังโลยางทันที ข้าจะดูเขาหมอบอยู่หน้าบัลลังก์นี้ ”
เตียวเหลียงรับพรและรับคำสั่งจากกษัตริย์ของเขา แต่เมื่อพ้นหน้ากษัตริย์มาแล้ว เขารำพึงกับตนเองว่า “ ข้าพอจะเอาแผ่นดินไทจากคนไทได้ แต่ที่กษัตริย์อยากเห็นธงผาหมอบอยู่เบื้องหน้านั้น คงจะไม่สำเร็จ ”
เมื่อได้เวลา เตียวเหลียงก็นำทัพออกจากโลยาง
๓...
ระหว่างเดินทัพ เตียวเหลียงให้ทหารทุกคนทั้งพลและนายฝึกเดินและวิ่งระยะไกลอยู่เสมอ และให้ถือทั้งอาวุธและเครื่องหลับนอนและเสบียงของตนเอง บางครั้งก็ให้เดินกลางแดดและฝนโดยไม่มีเสื้อผ้าป้องกันความร้อนและความหนาว เมื่อหยุดที่ใดก็ให้ฝึกขุดคูและสร้างค่าย ที่ใดเป็นโคลนตม เตียวเหลียงก็ให้ทหารบุกโคลนนั้นไปแทนที่จะให้เดินทางสะดวก ทหารได้รับความลำบากยิ่งนัก แต่เมื่อเห็นนายกองทั้งปวงและเตียวเหลียงเองกระทำเช่นเดียวกับตน และเตียวเหลียงกินอาหารและใช้เครื่องนอนเหมือนกับที่ทหารพลในกองทัพได้กินและได้ใช้ ทุกคนจึงมิกล้าปริปากบ่นครั้นฝึกนานเข้าจนเคยชินทหารก็เกิดความมั่นใจในตัวเอง ความกลัวคนไทและความกลัวป่าเขาของแคว้นไทก็หมดไป บางคนที่แต่ก่อนไม่อยากจะพบข้าศึกบัดนี้อยากจะเข้ารบโดยเร็ว เพราะรู้สึกว่าการเข้าสนามรบไม่ลำบากกว่าการเดินทัพมาตามทาง
เมื่อเตียวเหลียงนำทหารมาถึงช่องเขาจินไต ก็ให้ทหารพักผ่อน คืนนั้นเตียวเหลียงเรียกนายกองทั้งปวงมาสั่งการสำหรับวันรุ่งขึ้น เพราะทหารจิ๋นจะเข้าแดนไทแล้ว
เมื่อนายกองกลับไปแล้ว เตียวเหลียงเข้านอนและตื่นขึ้นเมื่อเที่ยงคืน เขาเอาหนังสือมาอ่าน ทุกคนหลับกันแล้วนอกจากคนเดินยาม ขณะนั้นในค่ายเงียบทั่วไปมีแต่เสียลมผ่านริมเทือกเขาไปเท่านั้น เตียวเหลียงอ่านหนังสือใกล้ถึงยามสามก็รู้สึกว่าพ้นแสงเทียนเบื้องหน้าตนมีรูปหนึ่งมายืนอยู่ เตียว
เหลียงเข้าใจว่าเป็นคนเดินยาม จึงถามไปว่า “ สูมีสิ่งใดจะแจ้งให้ข้าทราบหรือ ”
แต่รูปนั้นนิ่งอยู่มิได้ตอบ เตียวเหลียงเงยหน้าขึ้นก็เห็นว่าผู้ที่ยืนอยู่พ้นแสงเทียนหาใช่คนเดินยามไม่ ชายนั้นมีใบหน้าใสผิดมนุษย์ทั่วไป และเครื่องนุ่งห่มเป็นสีขาวทั้งสิ้น
เตียวเหลียงรู้ว่าเป็นภูตของจูโกเหลียง ซึ่งมีศาลอยู่ที่เขาจินไต เขาจึงถามไปว่า “ สูมีประสงค์สิ่งใดหรือ จูโกเหลียง ”
ภูตนั้นกล่าวว่า “ สูจำสีบุญได้หรือไม่ ”
เตียวเหลียง “ สีบุญเป็นคนไทที่ช่วยชีวิตข้าไว้ เขาจะฆ่าข้าเสียก็ได้ เพราะข้าเป็นศัตรูของคนไทและของน้องชายเขาแต่เขาปล่อยข้ามา จึงระลึกถึงเขาอยู่ ”
ภูตนั้น “ ชีวิตที่คนไทปล่อยมาบัดนี้จะไปทำลายแคว้นไทเช่นนี้สมควรหรือ ”
เตียวเหลียงตอบภูตนั้นไปว่า “ จูโกเหลียงเอย โชคชะตาของข้าไม่ดีไปกว่าของสู เราทั้งสองอยากจะอยู่ในทางแห่งเต๋า แต่เรากลับต้องทำในสิ่งที่ไม่สมควรจะทำ เราต้องมาทำศึกกับแคว้นไทโดยขาดเหตุอันสมควร ยิ่งกว่านั้นเรายังได้รับความเอื้อเฟื้อจากคนในเผ่าที่เราเข้ามารุกราน เมื่อสูมาทำศึกกับคนไท คนของสูล้มตายเป็นอันมากด้วยน้ำพิษและด้วยไข้ป่า จนทัพของสูไม่อยากเคลื่อนไปข้างหน้า แต่แล้วสูก็ได้ยาแก้น้ำพิษและแก้ไข้ป่าจากนักบวชคนไท ทัพของสูต่อมาจึงยึดแคว้นไทได้ ข้าเองมีนักบวชคนไทให้ข้าวให้น้ำจึงรอดกลับไปเมืองจิ๋นได้ และพรุ่งนี้ข้าจะเข้าไปรุกรานคนเผ่าเดียวกับนักบวชนั้นแล้ว ร้ายไปกว่านั้น เรามาโดยหวังจะยึดแคว้นไท เพื่อประโยชนสำหรับบ้านเมืองเรา แต่ที่คนไทช่วยเราไว้นั้น เขาไม่คำนึงถึงประโยชน์อย่างที่บ้านเมืองของเราให้เราคำนึง ดังนั้นเมื่อสูมอบสิ่งของและเงินทองจำนวนมากแก่เขา เขาจึงมิรับไว้ ข้าเองสีบุญช่วยไว้เพราะเขาต้องทำเช่นนั้น เขาไม่คิดว่าเขาทำอะไรเกินกว่าที่จำเป็นสำหรับเขา ข้าไม่สบายใจในการมาทำศึกครั้งนี้ แต่ว่าจูโกเหลียงเอย เมื่อข้าเกิดมาเป็นคนจิ๋นและกินเบี้ยหวัดของแผ่นดิน ข้าก็ต้องทำหน้าที่ที่ข้ามีต่อแผ่นดิน ”
ภูตของจูโกเหลียง “ สูจะรับผลร้ายในการทำงานครั้งนี้ ”
เตียวเหลียงตอบภูตนั้นไปว่า “ ยามบ้านเมืองวิปริตใครเล่าจะไม่รับผลร้ายจากความวิปริตนั้น บ้านเมืองทุกวันนี้ใช่ว่าจะปกติก็หาไม่ ดาบที่จิ๋นใช้มาตั้งแต่สมัยที่จิ๋นแตกแยกและแย่งอำนาจกัน บัดนี้ก็ยังใช้และยังมีอำนาจอยู่ ข้าเองต้องร่วมไปกับกระแสของบ้านเมืองเช่นเดียวกับชาวจิ๋นอื่นๆ ข้าจะหนีโชคร้ายของบ้านเมืองไปได้หรือ สูเองชีวิตอยู่ในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน สูจึงต้องรับกรรมไปกับบ้านเมืองด้วย ”
พอดีคนยามตีเกราะเป็นยามสาม ภูตนั้นก็หายไป
เตียวเหลียงอ่านหนังสืออยู่อีกครู่หนึ่งแล้วก็ออกไปตรวจยาม ครั้นใกล้สว่างเขาเรียกประชุมนาย
กองอีกครั้งหนึ่งและกล่าวแก่ที่ประชุมว่า “ เราจะเข้าแดนไทแล้วในวันนี้ การรบจะเกิดเมื่อใดและที่ใดก็ได้เสมอ แต่การฝึกที่ผ่านมาและที่จะกระทำต่อไปจะนำชัยชนะมาให้เรา เพราะนอกจากคนของเราจะอดทนและถนัดทั้งใช้อาวุธ และการประสานกำลังกันตามขบวนรบต่างๆ แล้ว คนของเรายังมีจำนวนเหนือกว่า ”
“ แต่ว่า ในชีวิตของคนจะมีสิ่งใดแน่นอนเหมือนความผันแปรของโชคเคราะห์นั้นไม่มีแล้ว เราถือดาบไว้ในมือ แต่โชคเคราะห์ถือเราไว้ในอำนาจ ข้าจะมีอันเป็นไปเมื่อใดก็ยากจะรู้ได้จึงขอตั้งซิฉุยเป็นรองแม่ทัพ นี่เป็นประการหนึ่งที่ข้าขอสั่งไว้ก่อนพบกับข้าศึก ”
“ ประการที่สอง ให้ทุกคนถือว่าเรามาทำศึกเพื่อรวมแคว้นไทเข้ากับแคว้นจิ๋น ให้สองแคว้นนี้อยู่ในสายโลหิตเดียวกัน เพื่อชาวจิ๋นจะเอาความเจริญมาสู่แคว้นไท เรามิได้มาทำศึกเพื่อทำลาย และในการรบใช่ว่าจะมีแต่ความชั่วและความโหดร้ายก็หาไม่ คนชั่วเท่านั้นจะแสดงความชั่วและความโหดร้ายทั้งในยามสงบและยามศึกส่วนผู้มีคุณธรรมจะแสดงคุณธรรมให้ประจักษ์แม้ในการรบ ด้วยความคิดเช่นนี้เท่านั้นที่ทำให้เราทำศึกกับคนไทได้โดยฟ้าและดินไม่ตำหนิ และเมื่อโชคชะตาของแคว้นไทจะต้องมารวมกับจิ๋นแล้ว ขอให้ทุกคนปรานีแก่ชาวไท เราจะเรียกตัวเราว่าผู้เจริญได้ก็ด้วยความดีของเราเท่านั้น ”
“ ประการที่สาม ขอให้ทุกคนเว้นการปล้นสะดมชาวบ้าน อนึ่งในแคว้นไท สูจะเห็นคนประเภทหนึ่งนุ่งห่มด้วยผ้าสีไพรโกนศีรษะโล้น คนประเภทนี้ในแคว้นจิ๋นก็มีอยู่ เขาไม่ถือว่าผู้ใดเป็นศัตรู จงนับถือคนประเภทนี้และหากผู้ใดทำอันตรายแก่คนประเภทนี้ ข้าจะประหารผู้นั้นเสีย ”
นายกองทั้งปวงก็นำคำของเตียวเหลียงไปแจ้งแก่ทหารของตน แล้วเตียวเหลียงก็สั่งให้เดินทัพต่อไป
๔...
เมื่อกองทัพจิ๋นผ่านลำน้ำลูไปแล้ว เตียวเหลียงมิได้นำทัพไปทางใต้อันเป็นทางตรงไปยังเมืองลือ เพราะว่าทางนี้มีป่าเขาเป็นอันมากและกันดาร เตียวเหลียงให้เดินข้ามไปทางเมืองยูโรอันอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองลือกับเมืองเม็ง เมื่อถึงทางสองแพร่ง ซึ่งทางหนึ่งไปสู่เมืองเม็ง เตียวเหลียงจึงกล่าวแก่ซิฉุยว่า “ ถ้าข้าจะแบ่งทหารให้สูไปตีเมืองเม็ง และเราจะแยกกัน ณ ที่นี่จะดีหรือไม่ ”
ซิฉุยตอบว่า “ ข้าคิดว่าเมื่อเรานำทหารทั้งหมดไปตีเมืองลือ หากเมืองเม็งไม่มาช่วยเมืองลือ การศึกของเราก็จะสะดวกขึ้นและหากเมืองเม็งจะมาช่วย เราก็จะหาทำเลสำหรับทำลายทัพเม็งได้ระหว่างทาง ”
เตียวเหลียงก็พอใจความคิดของรองแม่ทัพของตน จึงให้เคลื่อนทัพต่อไปทางเมืองยูโร และเมื่อกองทัพผ่านเมืองยูโร เตียวเหลียงก็ถามซิฉุยว่า “ ควรหรือไม่ที่เราจะเข้าตีเมืองยูโรก่อนเดินทัพไปเมืองลือ ”
ซิฉุยตอบว่า “ สูได้แจ้งแก่ทหารทั้งปวงแล้วว่า เรามาทำศึกครั้งนี้มิใช่เพื่อทำลายแต่เพื่อให้แคว้นไทต่างๆ ได้มารวมในความเจริญของจิ๋น ข้าจึงเห็นว่าหากแคว้นลือเป็นของจิ๋นแล้ว แคว้นเล็กแคว้นน้อยต่างๆ ของลือก็จะยอมต่อจิ๋นโดยง่าย จึงไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้าตีเมืองยูโร ”
เตียวเหลียงก็ให้เดินทัพต่อไป เมื่อทัพของเตียวเหลียงไปถึงเขาธาไนย ชาวเขาออกมารังควานทัพทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อทหารจิ๋นติดตาม ชาวเขาธาไนยก็หลบหนีเข้าป่าไปสิ้น เตียวเหลียงไม่เสียหายมาก แต่ชาวเขาธาไนยก็ทำความรำคาญให้แก่เตียวเหลียง เตียวเหลียงจึงกล่าวแก่ซิฉุยว่า “ ชาวเขาธาไนยนี้มีน้ำใจนักสู้โดยแท้ ก่อนเราจะเดินทัพไปแคว้นลือ เราจำเป็นต้องสั่งสอนเสียบ้างมิฉะนั้นจะทำความรำคาญให้เราเรื่อยไป ”
แล้วเตียวเหลียงนำกองทัพไปตั้งอยู่ที่ทุ่งหน้าเขาธาไนย คืนนั้นชาวเขาธาไนย ก็ออกมารบกวนกองทหารจิ๋นอีก แต่ทหารจิ๋นระวังตัวอยู่แล้ว จึงขับไล่ชาวเขาธาไนยไปสิ้น ทิ้งคนตายไว้สามสิบคน ส่วนที่เหลือก็หนีขึ้นไปบนหน้าผาของเขาธาไนย รุ่งเช้าเตียวเหลียงบอกให้ชาวเขาธาไนยลงมาอ่อนน้อมโดยดี แต่ชาวเขากลับยิงธนูลงมาถูกทหารจิ๋นตายไปหลายคน เมื่อทหารจิ๋นยิงธนูขึ้นไปบ้าง ชาวเขาก็หลบเข้าไปในถ้ำบนหน้าผานั้นหมดสิ้น และยังเยาะเย้ยทหารจิ๋นให้ขึ้นไปบนหน้าผา
เตียวเหลียงจึงกล่าวแก่เตียวลกผู้น้องว่า “ สูคงจำได้ว่า เมื่อลิตงเจียให้หันตงนำทหารมาจับธงผากับชาวธาไนยนั้น หันตงกลับไปแจ้งแก่ลิตงเจียว่า ชาวเขาธาไนยหลบหนีไปอยู่ที่อื่น บัดนี้เราได้รู้แล้วว่า ชาวเขาธาไนยมิได้หลบไปไหนเลย แท้จริงหลบอยู่ในถ้ำบนเขานี้เอง ”
และเตียวเหลียงสังเกตว่ามีลมพัดจากทุ่งไปยังหน้าผา ลมจะจัดขึ้นในตอนเย็น และพ้นทุ่งนั้นมีเทือกดินฝุ่นที่ทำให้แสบนัยน์ตาและเป็นพิษแก่การหายใจ เตียวเหลียงจึงให้ทหารขนดินฝุ่นนั้นมากองเป็นเนินสูงที่หน้าผา ครั้นตกเย็นลมพัดจัดไปทางหน้าผา เตียวเหลียงก็ให้ทหารม้าย่ำบนเนินดินนั้น ดินฝุ่นนั้นปลิวเข้าไปในถ้ำอยู่ตลอดเวลา ชาวเขาธาไนยไม่อาจจะทนหายใจเอาฝุ่นเข้าไปได้นาน ก็ต้องลงมาทางบันไดที่ทำไว้ ทหารจิ๋นก็จับไว้ได้ทั้งสิ้น แล้วเตียวเหลียงกล่าวแก่ชาวเขาธาไนยว่า “ ครั้งหนึ่งเมื่อข้าถอนทหารออกจากเมืองลือ ข้าเอาเด็กเมืองลือห้าสิบคนเป็นประกัน แต่ชาวจิ๋นคนหนึ่งนำเอาเด็กทั้งห้าสิบคนไปคืนให้ธงผา ซึ่งเป็นชาวเขาแห่งนี้ ธงผากลับปล่อยเด็กคืนให้ข้าเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง มาคราวนี้ข้าจะปล่อยพวกสูไปบ้าง ”
แล้วเตียวเหลียงให้ชาวเขาธาไนยสาบานว่าจะไม่ติดตามไปรังควานทัพจิ๋น เมื่อชาวเขาทั้งหมดสาบานแล้วเตียวเหลียงก็ปล่อยไป
แล้วเตียวเหลียงก็เดินทัพลงไปทางใต้ มุ่งไปเมืองลือ
๕...
เมื่อกุมภวาได้ข่าวว่าทัพจิ๋นยกมาก็ระดมคนทั่วแคว้นลือเข้าประจำทัพ แล้วนำทัพออกจากเมือง แล้วแจ้งไปยังสีเภาที่กำลังล้อมเมืองไต๋อยู่ ให้ระวังทัพจิ๋นที่อาจจะไปตีขนาบได้ ทางเมืองเม็งนั้นกุมภวาให้ม้าเร็วไปแจ้งให้ยกทัพมาช่วย
ระหว่างที่เดินทัพไปนั้น ชาวลือล้วนแต่มีกิริยาร่าเริงด้วยว่าเคยมีแต่ชัยทั้งต่อทัพจิ๋นและต่อทัพแคว้นไทด้วยกัน แต่กุมภวาเงียบขรึมไป ธงผาซึ่งขี่ม้าเคียงข้างสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “ ทุกคราวที่สูออกศึก ข้าเห็นสูแจ่มใสและร่าเริงเสมือนได้ออกไปล่าสัตว์ แต่เหตุใดคราวนี้จึงเงียบขรึมไป สูไม่สบายหรือ ”
กุมภวาตอบว่า “ ธงผาเอย โดยส่วนตัว ข้าจะไม่สบายก็หาไม่ แต่เรื่องของเมืองเรากำลังหนักใจข้าอยู่ ทัพของเราครั้งนี้แม้จะมีกำลังเท่ากับครั้งที่สู้กับทัพลิบุ๋น แต่เราไม่มีทัพสำรองอีกแล้วหากเราเสียทีแก่ข้าศึกเราก็ไม่มีคนฉกรรจ์มาสู้กับจิ๋นได้อีกเพียงพอ อนี่งเล่าผู้เป็นแม่ทัพจิ๋นคราวนี้คือเตียวเหลียง ”
และทัพไทกับจิ๋นพบกันที่บึงแห่งหนึ่ง ทหารจิ๋นเมื่อเห็นทัพไทก็มีความกลัวยิ่งนัก ความเชื่อมั่นในกำลังและฝีมือที่เตียวเหลียงฝึกซ้อมไว้ก็หมดสิ้นไป และพากันตำหนิเตียวเหลียงว่าเขาพาชาวจิ๋นมาสู่ความตาย ลิบุ๋นมีทัพสี่สิบหมื่นยังพ่ายต่อทัพไท แล้วไฉนทัพหกหมื่นจะรอดกลับไปได้
เตียวเหลียงเมื่อเห็นทหารของตนยังกลัวทัพไทอยู่ก็มิออกรบ แต่ให้ตั้งค่ายไว้ห่างค่ายของกุมภวาเพียงสองช่วงระยะธนู แล้วเตียวเหลียงให้ทหารผลัดเวรกันยืนยามบนเชิงเทินและหอคอย เพื่อสังเกตคนไททั้งขณะที่อยู่ภายในค่าย และขณะที่ทหารไทออกมานอกค่าย และให้สังเกตอาวุธการแต่งตัวและการเคลื่อนไหวต่างๆ ของคนไท เตียวเหลียงและนายกองทั้งปวงก็ผลัดเวรกันออกไปยืนยามด้วย ในที่สุดทหารจิ๋นได้เห็นคนไทจนชินตา และก็ได้เห็นว่าคนไทนั้นรูปร่างไม่ใหญ่โตยิ่งไปกว่าคนจิ๋น อาวุธที่คนไทถือก็ไม่แปลกหรือใหญ่กว่าของชาวจิ๋น และทหารจิ๋นเคยได้ฟังมาว่าคนไทกินแต่เนื้อดิบ แต่เมื่อมาได้เห็นด้วยตนเองก็ได้รู้ว่าคนไทหุงต้มอาหารด้วยไฟเช่นเดียวกับชาวจิ๋น ความกลัวอันเกิดจากการไม่รู้และจากคำลือก็หมดไป แต่ก็ยังหวาดอยู่ เตียวเหลียงจึงให้ทหารออกไปตระเวน และจับทหารไทที่ออกไปหาฟืนและเสบียงในป่ามาได้สิบสองคน แล้วเตียวเหลียงให้ทหารจิ๋นปล้ำกับทหารทั้งสิบสองคนนั้น ทหารจิ๋นได้ฝึกมาตลอดทางก็สู้กับคนไทได้ ความมั่นใจว่าจะสู้กับคนไทได้ก็กลับมาอีก
เตียวเหลียงไม่รู้ว่ากุมภวามีทหารมากน้อยเพียงใดจึงไม่นำทหารออกท้ารบ เพราะที่บึงนั้นเป็นที่แคบ มีป่ากีดขวาง เมื่อเตียวเหลียงเห็นว่าทหารของตนคลายความกลัวแล้วจึงถอนค่ายไป เมื่อห่างบึงไปสองร้อยเส้นมาถึงทุ่งกว้างแห่งหนึ่ง ณ ที่นี้ทัพอันมีจำนวนเหนือกว่าจะทำการรบได้เปรียบ และเตียวเหลียงเห็นชายเขาด้านหนึ่งริมทุ่งนั้นมีต้นไม้ขึ้นงามเขา จึงให้ทหารตั้งค่ายอยู่ด้านนั้น แล้วให้ทหารขุดบ่อทั่วไป ก็ได้น้ำใช้โดยไม่ขาดแคลน
กุมภวาก็ถอนค่ายตามทัพเตียวเหลียงไปและไปตั้งมั่นอยู่ชายป่าอีกด้านหนึ่ง เตียวเหลียงจึงนำทหารห้าหมื่นออกท้ารบ
กุมภวาเห็นตนมีทหารน้อยกว่าฝ่ายจิ๋น และหากนำทัพออกรบกลางทุ่งนั้น เตียวเหลียงก็จะสังเกตได้ว่ากำลังทัพของเขามีเพียงใด กุมภวาจึงเฉยอยู่เพื่อรอทัพของสีเมฆจากเมืองเม็ง
๖...
เตียวเหลียงนำทหารออกสนามอยู่สามวัน ทัพไทก็มิได้ออกมา ทหารจิ๋นก็ฮึกเหิมขึ้น เตียวเหลียงเห็นว่าทหารของเขาไม่เสียขวัญแล้วจึงเขียนหนังสือให้ทหารถือไปยังกุมภวาเป็นใจความว่า “ ข้าเตียว
เหลียงขออวยพรมายังกุมภวา ในที่สุดเราได้พบกันอีกแต่เคราะห์ได้กำหนดให้เราพบกันอย่างคู่ศึกเช่นเคย ครั้งสุดท้ายสูคงจำได้ว่าข้ารักษาเมืองไกวเจาและสูกล่าวว่า การป้องกันกำแพงเมืองนั้นเด็กก็กระทำได้ สูชวนให้ข้าออกสู้กลางสนามให้สมกับผู้เป็นแม่ทัพ บัดนี้ทุ่งกว้างรออยู่เบื้องหน้าแล้ว ข้ารออยู่สามวัน แต่ต้องกลับเข้าค่ายทั้งสามวัน เพราะฝ่ายสูไม่ออกมา สูอาจกลัวเพราะทหารจิ๋นมีจำนวนมากกว่า หากวิตกในข้อนี้ พรุ่งนี้จงยกทัพออกมาเถิดข้าจะนำทหารออกเพียงสามหมื่น ”
กุมภวาอ่านหนังสือของเตียวเหลียงแล้วก็เขียนตอบไปว่า “ ข้ากุมภวาขออวยพรมายังเตียวเหลียง แต่ก่อนมาข้าไม่เคยให้ข้าศึกเลือกเวลาและสนามรบให้ข้า แต่คราวนี้จะตามใจแม่ทัพจิ๋นสักครั้ง พรุ่งนี้ธงผาจะนำทัพฝ่ายไท ”
เมื่อทหารจิ๋นถือหนังสือกลับไปแล้ว กุมภวาก็แจ้งแก่นายกองทั้งปวงว่า “ เตียวเหลียงรู้ดีว่าการรบมิใช่การละครที่เขากล้านำทหารสามหมื่นออกรบในทุ่งกว้างเช่นนี้คงจะมีขบวนรบที่เขามั่นใจ เพราะว่าในทุ่งกว้างนี้ ฝ่ายใดจะใช้กลอุบายอย่างใดย่อมทำได้ยาก พรุ่งนี้สูจงนำทหารออกสนามหมื่นห้าพัน เพื่อดูว่าเตียวเหลียงจะทำอย่างไรแก่เราบ้าง หากได้ยินเสียกลองเมื่อใดจงรีบนำทหารกลับ ”
ธงผาก็รับคำ
เมื่อเตียวเหลียงได้รับหนังสือของกุมภวาแล้วก็กล่าวแก่ทหารทั้งปวงว่า “ บัดนี้กุมภวารับคำท้าของเราแล้ว หากเขาชะล่าใจเราจะทำลายกำลังของฝ่ายไทได้มาก อันการรบของคนไทนั้นข้าสังเกตตลอดมาก็ได้รู้ว่า คนไทนั้นอาจเหนือกว่าเราในการรบตัวต่อตัว เพราะว่าคนไทว่องไวและใช้เครื่องรบที่เบากว่า แต่เมื่อรวมกันเป็นขบวนรบ เราจะเข้มแข็งกว่าคนไท เหตุนี้นอกจากเราจะได้ฝึกการรบประชิดตัวแล้วข้ายังได้ฝึกทหารของเราให้รวมกำลังกันเป็นการรบแบบหนัก โดยใช้เครื่องเกราะที่หนักและอาวุธที่หนัก ขบวนรบแบบนี้จะมีชัยต่อเมื่อทหารประสานกันได้ ไม่แยกจากกันท้องทุ่งระหว่างค่ายของข้าศึกกับค่ายของเราเป็นที่เหมาะสำหรับการรบแบบนี้ พรุ่งนี้ซิฉุยจงเป็นปีกขวาและเตียวลกเป็นปีกซ้าย ข้าจะคุมทหารอยู่กลางทัพ ข้าจะทำอ่อนกำลังถอยทหารให้ธงผาติดตามแล้วปีกขวาและซ้ายจงโอบทัพไทไว้ ด้วยวิธีนี้ถ้าธงผาไม่ยอมจำนน ธงผาก็จะไม่มีโอกาสหนีรอดไปได้ ”
แล้วเตียวเหลียงจัดทหารไว้สามหมื่นสำหรับออกสนาม
รุ่งขึ้นทัพทั้งสองออกมายังทุ่งหน้าค่าย เตียวเหลียงให้ทหารยิงธนูไปเป็นเชิงสกัดข้าศึกไว้ ธงผาก็นำทหารรุดหน้าไป เมื่อกองธนูถอยไปแล้ว เตียวเหลียงให้กองม้าออกมารบล่อฝ่ายไท ธงผานำทหารรุกต่อไปอีก เตียวเหลียงก็โบกธงให้ทัพราบเบาออกต้าน แต่ก็ไม่อาจสู้ทัพของธงผาได้ ต้องร่นถอยไป และระหว่างกองและหมวดต่างๆ ของทัพราบหนักของเตียวเหลียงนั้น มีช่องว่างซึ่งทหารราบเบาหลบไปโดยสะดวก
เมื่อทัพของธงผาไปถึงทัพราบหนัก ธงผาก็นำทหารเข้าโจมตี
แต่ทัพราบหนักของเตียวเหลียงนั้นตั้งขบวนไว้แน่นหนา ทหารเรียงกันเป็นหน้ากระดานตั้งแต่ปลายปีกขวาจดปลายปีกซ้าย แต่ละหมวดยึดกันแน่น มีทหารหมวดละร้อยสิบคน ตั้งเป็นแนวๆ ละสิบเอ็ด และลึกเป็นสิบแนว ระหว่างทหารแต่ละคนมีช่องว่างให้ทหารแนวหลังมาสับเปลี่ยนแนวหน้าได้โดยไม่เสียขบวน เมื่อแนวใดขึ้นมาอยู่แนวหน้ายันกับข้าศึกแล้ว แนวต่อไปก็จะเตรียมเข้ามาแทนที่และทหารทั้งหมดจะรักษาขบวนได้ดังเดิม เมื่อทหารในแนวใดเสียทีถูกอาวุธของทหารไทล้มลง ทหารแนวหลังจะออกมากันทหารนั้นไว้ และจะมีทหารของอีกแนวหนึ่งมาแทนที่ทหารที่บาดเจ็บ
และแต่ละกองของทัพจิ๋นจะมีทหารสำรองไว้
และทหารจิ๋นถือหอกยาวเป็นอาวุธ กระชับแน่นในมือทั้งสอง ทุกคนยกหอกอยู่ระดับเอวขนานกับพื้นดิน เมื่อหอกทำงานไม่ได้ผลก็ใช้ดาบแทนต่อไปในเมื่อข้าศึกประชิดตัว และทหารแต่ละคนเป็นกำลังที่คอยช่วยคนข้างเคียงอยู่ได้เสมอ แม้เครื่องรบจะหนักทำให้ขาดความว่องไว แต่เกราะที่ทุกคนสวมอยู่พอจะต้านทานดาบของคนไทจนว่าเพื่อนที่อยู่ข้างหรืออยู่หลังจะเข้ามาช่วย
ธงผานำทหารเข้าโจมตีแนวของทัพจิ๋นละลอกแล้วละลอกอีก แต่ไม่อาจจะทำให้ทัพจิ๋นถอยไปหรือเสียขบวนได้ และกุมภวานั้นสังเกตการรบอยู่บนหอคอย เห็นวิธีการรบของทัพจิ๋นก็ประหลาดใจยิ่งนัก เพราะมีการประสานกันดียิ่ง กุมภวาจึงเฝ้าสังเกตอยู่เพื่อดูว่าจะมีวิธีใดทำลายวิธีรบแบบนี้ได้ และกุมภวาให้ทหารม้าออกจากคายเตรียมช่วยทัพของธงผา
เตียวเหลียงนั้นคุมทหารอยู่กลางแนว เมื่อเห็นว่าทัพไทยังโจมตีอยู่จึงสั่งให้กลางแนวถอย ธงผาก็นำทหารติดตามแต่ด้านปีกทั้งสองข้างของทัพจิ๋นนั้นยังคงยันทหารไทอยู่ ดังนั้นทัพจิ๋นจึงเปลี่ยนจากรูปหน้ากระดานเป็นรูปโค้งของวงเดือน และส่วนที่ถอยไปนั้นแม้จะดูประหนึ่งว่ากำลังเสียที แต่ก็ยังรักษาขบวนได้อยู่
กุมภวาเห็นดังนั้น ก็รู้ว่าปีกทั้งสองข้างของทัพจิ๋น จะโอบทัพของธงผาไว้ให้ตกอยู่ในที่ล้อม
กุมภวาจึงให้กองม้า ซึ่งคอยอยู่ออกไปยันปีกทั้งสองข้างนั้นไว้ และให้ตีกลองเรียกทัพของธงผากลับ
ธงผาก็นำทหารถอยกลับ ฝ่ายทัพจิ๋นติดตามมาจนถึงหน้าค่าย แต่ฝ่ายไทเข้าค่ายเสียก่อน แล้ว
กุมภวาให้ทหารระดมยิงธนูจนทหารจิ๋นต้องถอยกลับ
ธงผาจึงเข้าไปแจ้งแก่กุมภวาว่า “ ตั้งแต่ข้าทำการศึกมาไม่เคยเห็นขบวนทัพที่แข็งต่อการโจมตีเหมือนทัพของเตียวเหลียงเลย ไม่ว่าจะเคลื่อนมายังเราหรือจะถอยหรือจะยันเราอยู่กับที่ ก็มั่นคงเสมือนแผ่นหินที่เคลื่อนตัวได้ และไม่ว่าที่ใดซึ่งถูกสกัดให้ร้าวไปด้วยอาวุธของฝ่ายเรา ที่นั้นก็จะได้กำลังเสริมขึ้นในทันที ”
กุมภวาตอบว่า “ ธงผาเอย วันนี้เราไม่เสียทีแก่เตียวเหลียงก็น่ายินดีแล้ว สูอย่าได้วิตกถึงกาลข้างหน้า ขบวนทัพของเตียวเหลียงมั่นคงเหมือนแผ่นหินก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่มั่นคงทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นขบวนทัพหรือสิ่งอื่นก็ตามสิ่งนั้นจะมีความบกพร่องแฝงอยู่ ข้าจะได้คิดแก้ไขต่อไป ”
แล้วกุมภวาเรียกทหารที่เข้าโจมตีข้าศึกในวันนั้นมาสอบถามก็ได้ทราบโดยละเอียดถึงอาวุธ วิธีใช้อาวุธ และการตั้งขบวนตลอดจนการรุกและการถอยของข้าศึก
และกุมภวาเห็นว่าทุ่งหน้าค่ายทั้งสองนั้นเป็นทุ่งราบและกว้าง ขบวนรบของเตียวเหลียงได้เปรียบ คืนนั้นกุมภวาจึงย้ายค่ายไปตั้งอยู่ริมลำน้ำเงิน เตียวเหลียงนำทหารติดตามไปตั้งค่ายอยู่ด้านเหนือของฝ่ายไท ระหว่างนั้นเตียวเหลียงป่วย จึงให้ซิฉุยกับเตียวลกออกท้ารบ
กุมภวาจึงนำทหารออกสนาม ให้ธงผาเป็นปีกขวา กุมภวาอยู่ปีกซ้าย และกุมภวาสั่งธงผาว่า “ เมื่อเข้าโจมตี สูจงแทรกเข้าในช่องว่างระหว่างหมวดและกองของข้าศึกแล้วเข้าโจมตีด้านข้าง เพราะว่าทหารข้าศึกใช้หอกยาว เมื่อเข้าชิดตัวแล้วหอกนั้นจะมีกำลังน้อยกว่าดาบสั้นของฝ่ายเรา เมื่อถอย สูจงนำทหารถอยไปยังที่ซึ่งมีต้นไม้บ้าง ร่องน้ำบ้าง หรือที่ใดที่ขบวนทหารของข้าศึกจะต้องแยกจากกัน ด้วยวิธีนี้กำลังอันประดุจแผ่นหินของข้าศึกก็จะสลายไป และกำลังของแต่ละคนก็จะหมดไปด้วย เพราะว่าขบวนทัพแบบนี้จะมีกำลังก็ต่อเมื่อแต่ละคนเป็นส่วนประกอบของกำลังรวมเท่านั้น ”
แล้วทัพของจิ๋นและของไทก็เข้าประจัญบานกัน และโดยวิธีของกุมภวาในไม่ช้าทัพของเตียว
เหลียงก็เสียขบวนคุมกันไม่ติด และเมื่อการรบกลายเป็นการต่อสู้ประชิดตัวทหารจิ๋นมีเครื่องรบหนักก็ไม่อาจจะสู้ฝ่ายไทได้ ทหารไทไล่ฆ่าฟันทหารจิ๋นล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็แตกตื่นกลับเข้าค่าย
ขณะนั้นเตียวเหลียงนอนป่วยอยู่ เมื่อทหารมาแจ้งว่าทัพที่ออกสนามแตกหนีมา เตียวเหลียงลุกขึ้นฉวยดาบวิ่งออกไปนอกค่าย พอดีทหารถือธงประจำทัพวิ่งมาถึงและทหารจิ๋นต่างก็ตามคนถือธงมา และมีทหารไทไล่ตามมาข้างหลัง เตียวเหลียงแย่งธงจากทหารจิ๋นมาแล้วพุ่งธงนั้นไปในหมู่ทหารไทพร้อมกับกล่าวว่า “ แพ้แล้วธงจะมีประโยชน์แก่ใคร ”
แล้วเตียวเหลียงเข้าขัดขวางทหารไทไว้ และถูกอาวุธบาดเจ็บหลายแห่ง ทหารจิ๋นเห็นแม่ทัพตนอยู่ในอันตรายก็เข้าช่วยโดยไม่คิดถึงชีวิตตน และทุกคนมีความละอายที่ธงประจำทัพตกไปอยู่ในแนวของข้าศึก จึงหันกลับมาสู้รบกับทหารไทต่อไป จนมืดทหารไทจึงถอยกลับ
เตียวเหลียงบาดเจ็บมาก เมื่อฝ่ายไทถอยไปแล้วทหารต้องพยุงกลับเข้าค่าย ขณะที่หมอกำลังพยาบาลเขาอยู่ ซิฉุยนำทหารทั้งปวงมายังที่พักของเขาและกล่าวว่า “ ข้ากับทหารทั้งปวงมีความผิดมากในวันนี้เสมือนว่าเมื่อพ้นสายตาของแม่ทัพแล้ว เราไม่อาจจะสู้ฝ่ายไทได้ เราทุกคนรู้สึกตนว่าทำการไม่สมกับที่เป็นทหารของสู แต่สูเป็นแม่ทัพของทหารได้ทุกทัพ วันนี้หากสูไม่ออกไปค่ายของเราจะตกเป็นของฝ่ายไทโดยแน่แท้ ขอให้สูลงโทษเราเถิด ”
เตียวเหลียงกล่าวแก่ทหารทั้งปวงว่า “ พวกสูมิได้ทำผิดอันใด อย่าได้เสียใจเลย เราพลาดพลั้งครั้งนี้มิใช่เพราะเราด้อยฝีมือ แต่เพราะกุมภวารู้ในการใช้ทำเลและเข้าใจขบวนการศึกของเรา ในการรบต่อไปเราจะต้องระวังให้ยิ่งขึ้น คนไทไม่เขลาเหมือนสมัยจูโกเหลียงแล้ว ”
แล้วเตียวเหลียงให้ทหารระวังค่ายอย่างแข็งแรง มิให้ฝ่ายไทลอบโจมตีได้ และเพื่อจะให้ทหารระวังตัวยิ่งขึ้นเตียวเหลียง จึงมิให้ทหารยามถืออาวุธแต่ให้ยืนยามมือเปล่า
แล้วทัพทั้งสองตั้งยันกันอยู่ ฝ่ายกุมภวานั้นรอทัพของสีเมฆและของสีเภา ส่วนทัพจิ๋นรอให้เตียวเหลียงหายป่วย
ต่อมาเตียวเหลียงได้รับข่าวจากกองสอดแนมว่าสีเมฆนำทหารผ่านเมืองยูโรมาแล้ว เตียวเหลียงจึงให้ซิฉุยนำทหารสามหมื่นแยกไปสกัดทัพของสีเมฆ
กุมภวาก็ได้ข่าวจากม้าเร็วว่าสีเมฆกำลังยกคนมาช่วย และเมื่อเห็นจิ๋นแยกไปก็รู้ว่าสีเมฆจะถูกสกัดทัพ กุมภวาจึงให้เคลื่อนทัพติดตามไป
เตียวเหลียงเห็นเช่นนั้นก็ถอนค่ายติดตามทัพของกุมภวาไป และเนื่องจากยังไม่หายป่วยจึงต้องนั่งเกี้ยวตลอดทาง และเตียวเหลียงปล่อยให้กุมภวาเดินทัพไปโดยเขาไม่ส่งกำลังเข้าโจมตีทัพไท
๗...
ระหว่างที่ทัพเตียวเหลียงกับทัพกุมภวาสู้รบกันอยู่นั้น สีเภาล้อมเมืองไต๋อยู่ และเมื่อนานเข้าทัพที่ล้อมและทั้งชาวเมืองไต๋ก็คุ้นเคยกัน เมื่อชาวเมืองไต๋ออกมานอกเมือง ทหารชาวลือก็มิได้ทำอันตราย ยิ่งกว่านั้นยังสนทนากันอย่างกันเอง และทหารชาวลือก็ลอบเข้าไปในเมืองบ่อยๆ พร้อมกับชาวไต๋ เพราะว่าทหารของคำอ้ายไม่สู้กวดขัน เนื่องจากสีเภาส่งทหารกลับไปช่วยกุมภวาเสียบ้าง คงเหลือทหารไว้ล้อมเมืองไต๋ไม่มากนัก ทหารชาวไต๋จึงระวังเมืองน้อยลง และทหารชาวลือจากบ้านมานานก็ไปคุ้นเคยกับหญิงชาวไต๋ ที่ได้เป็นสามีภรรยากันก็หลายคน สีเภาทราบเรื่องจึงเรียกทหารลือที่ไปมีภรรยาหรือคนรักภายในเมืองมาและกล่าวว่า “ ในยามศึกบางครั้งเราต้องใช้เล่ห์กลและเล่ห์กลนั้นบางครั้งก็ต้องใช้คนที่เรารักเป็นเครื่องมือ บัดนี้ข้าทราบว่าพวกสูไปได้หญิงในเมืองไต๋ สูจงกลับไปบอกคนรักของสูภายในเมืองไต๋ว่า ทัพลือจะกลับไปแล้ว เพื่อไปสกัดทัพจิ๋น แต่เกรงว่าคำอ้ายจะนำทหารติดตามโจมตีหากคนรักของสูเห็นว่าเรามาทำศึกโดยชอบธรรม และเราจะกลับไปต่อสู้กับทัพจิ๋นเพื่อคนไททั้งปวง ก็จงช่วยเหลือเราข้าจะขุดอุโมค์ให้ทหารของเราเข้าเมือง ”
ทหารเหล่านั้นรับคำและเมื่อลอบเข้าไปเมืองไต๋แล้วก็แจ้งแก่คนรักและญาติของคนรักทราบ คนเหล่านั้นไม่พอใจคำอ้ายอยู่แล้วจึงรับช่วย
แล้วสีเภาให้ทหารขุดอุโมงค์เข้าไปในเมืองและให้ทำการโจมตีเมือง เพื่อให้ทหารของคำอ้ายพะวงอยู่แต่กำแพงเมือง เมื่อขุดไปถึงเมืองแล้วก็ขึ้นมาทางบ้านของผู้ที่คอยช่วยเหลืออยู่ ทหารของคำอ้ายถูกขนาบทั้งหน้าและหลัง ในที่สุดสีเภาพังประตูเมืองได้ทหารของคำอ้ายเมื่อสู้ไม่ได้แล้วก็พากันหนีเอาตัวรอด สีเภาสั่งให้ทหารไปล้อมบ้านของคำอ้ายซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกำแพงเมืองไว้ แต่เมื่อเข้าค้นบ้านก็ไม่พบคำอ้าย คงพบแต่อุโมงค์ที่ขุดทะลุออกจากบ้านไป ทหารลือซักถามคนในบ้านแล้วก็พากันแยกย้ายออกไปติดตามคำอ้าย ณ ที่อื่น
คำอ้ายหนีออกมาจากเมืองโดยทางอุโมงค์และนำบ่าวคนสนิทคนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างเหมือนกับตนติดตามไปด้วยแล้วไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านภูดาวสหายคนหนึ่ง ทหารลือทราบก็ติดตามไปที่นั่นและล้อมบ้านไว้และร้องบอกภูดาวให้นำตัวคำอ้ายออกมา
ภูดาวจึงกล่าวแก่คำอ้ายว่า “ ข้ารับสูไว้แล้วจะส่งสูไปตาย ข้าทำไม่ได้ แต่ยามคับขันเช่นนี้ข้าจะทำประการใด ”
คำอ้ายบอกว่า “ สูจงไปบอกทหารลือเถิดว่าข้าถูกฆ่าตายแล้วให้ทหารลือเข้ามาดูเถิด ”
ภูดาวจึงกล่าวว่า “ ทหารลือบางคนคงจะเข้ามา แต่ส่วนมากคงจะล้อมบ้านต่อไปเพื่อมิให้สูหนีได้ อุบายจะสำเร็จหรือ ”
คำอ้ายมิได้กล่าวประการใด เอาดาบฟันบ่าวของตนคอขาดแล้วคำอ้ายเอาแหวนตราของเจ้าเมืองสวมให้บ่าวของตนแล้วกล่าวแก่ภูดาวว่า “ สูเห็นแล้วว่าบ่าวคนนี้รูปร่างเหมือนข้า ข้าให้ติดตามมาด้วยเพื่อใช้ในยามคับขัน เมื่อทหารลือมาเห็นศพกับแหวนตาก็จะเชื่อว่าข้าตายแล้ว สูไปบอกให้เขาเข้ามาเถิด ข้าจะซ่อนตัวอยู่จนกว่าทหารลือจะกลับไป ”
ภูดาวก็เดินออกไปข้างนอกเพื่อไปบอกทหารลือตามคำของคำอ้าย แต่ระหว่างเดินไปภูดาวรำพึงกับตนเองว่า “ คำอ้ายนี้มีปัญญามาก แต่เป็นปัญญารักษาตัวเองโดยทำลายผู้อื่นบ่าวที่ติดตามในยามลำบากคำอ้ายยังฆ่าเสียได้ คนเช่นนี้ถ้าข้าช่วยไว้ ข้าอาจจะรับภัยได้เช่นบ่าวนั้น ” แล้วภูดาวก็บอกทหารลือถึงที่ซ่อนของคำอ้ายในบ้านนั้น ทหารลือจับคำอ้ายได้และนำตัวกลับมาจำไว้และไปแจ้งแก่สีเภาว่าจับคำอ้ายได้แล้ว
สีเภาจึงกล่าวแก่ทหารว่า “ ข้าเกลียดคนๆ นี้ที่สุดแล้ว คนไทและเพื่อนของข้าตายเพราะผู้นี้มากนัก สูจงเอาไปฆ่าเสียโดยเร็ว ข้าไม่ต้องการจะเห็นผู้นี้ให้ความเกลียดของข้าเพิ่มขึ้นอีก ”
ทหารตอบว่า “ สีเภาเกลียดสูมาก ไม่ประสงค์จะเห็นสูให้ความเกลียดเพิ่มขึ้นอีก ”
คำอ้ายกล่าวว่า “ ประเพณีมีอยู่ว่าคนจะถูกประหารนั้น จะออกปากขอจากผู้จะประหารคนได้สามครั้ง ส่วนผู้ประหารจะให้หรือไม่เป็นเรื่องของผู้ประหารเอง ผู้ใดผิดประเพณีนี้ผู้นั้นทำผิดยิ่งนักต่อผู้จะตาย สูจงไปบอกสีเภาว่าข้าต้องการพบ ”
ทหารก็ไปแจ้งแก่สีเภาดังคำของคำอ้าย สีเภาจึงให้นำคำอ้ายเข้ามาแล้วสีเภากล่าวว่า “ สูมาขอสิ่งใดก่อนตายหรือ เมื่อแรกที่ข้าล้อมเมืองอยู่ ข้าให้สูมอบเมืองโดยดีแล้วข้าจะปล่อยสูไป แต่สูไม่ยอมจนทำให้ชาวลือและชาวไต๋ต้องล้มตายไปอีกมาก บัดนี้ข้าปล่อยสูไม่ได้แล้ว ”
คำอ้ายเอ่ยขึ้นว่า “ สีเภาเอย ในชีวิตของข้าตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่แขวงเมืองมงทุมจนเมื่อเป็นเจ้าเมืองในเมืองนี้ข้าไม่เคยขอสิ่งใดจากผู้ใดและสามสิ่งที่ข้าจะออกปากขอก่อนตายได้ตามประเพณี ข้าก็จะไม่ขอจากสู แต่ข้าจะขอให้สูได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามสิ่งก่อนประหารข้า ”
สีเภากล่าวว่า “ ข้าไม่เคยเอาสิ่งใดจากผู้อื่นโดยไม่ตอบแทนให้คุ้มกัน สูกล่าวมาเถิดว่าจะให้สิ่งใดแก่ข้า ”
คำอ้าย “ สิ่งแรกคือทองมากมายที่ข้าซ่อนไว้ในถ้ำหลายแห่งสูไปขุดเอาได้ตามลายแทงที่ข้าทำไว้ แล้วสูจะได้ทองเกินกว่าที่จะชั่งได้ ”
สีเภากล่าวว่า “ ทองเหล่านี้สูได้มาด้วยความชั่ว ข้าไม่ประสงค์จะเอาจากสู นี่เป็นสิ่งหนึ่งแล้วที่ข้าไม่ขอจากสู ”
คำอ้ายจึงกล่าวต่อไปว่า “ ทางเหนือของแคว้นไต๋มีที่ราบสูงแห่งหนึ่ง กลางที่ราบนี้เป็นแผ่นหินกว้างยาวหลายร้อยเส้น เมื่อคราวแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นั้น ที่ลือและเชียงแสชาวเมืองชาวเมืองเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ว่า ณ ที่ราบสูงของไต๋นี้ แผ่นหินแยกออก เกิดเป็นหุบเหวเบื้องล่าง คนได้เห็นมณีเหลือจะนับได้กระจายทั่วไปเบื้องล่างนั้น แต่ไม่มีผู้ใดลงไปแล้วจะขึ้นมาได้ สูต้องการให้เขาบอกหรือไม่ว่าจะเอามณีเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไรในเมื่อคนลงไปไม่ได้ ”
แล้วคำอ้ายก็รอคำตอบของสีเภา สีเภานิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวขึ้นว่า “ ข้าไม่ต้องการให้สูบอกเพราะข้าจะเอามณีเหล่านั้นขึ้นมาได้หากข้าประสงค์ โดยไม่ต้องส่งคนลงไปให้ตายที่นั่น อนึ่งเล่ามณีเหล่านั้นมีค่าขนาดข้าควรจะปล่อยคนอย่างสูไปกระนั้นหรือสูมีอะไรเสนอให้ข้าเป็นสิ่งสุดท้าย จงบอกมาเถิด ”
คำอ้ายนิ่งอยู่ครู่หนี่งแล้วกล่าวต่อไปว่า “ ข้าสามารถรู้ว่าดวงตะวันและดวงเดือนที่สว่างอยู่ตามปกตินั้นจะมืดไปฉับพลันเมื่อใดและจะมืดมากน้อยเพียงใด มีคนไทรู้ได้เช่นนี้หรือ ” แล้วคำอ้ายก็จ้องมองสีเภาอยู่
สีเภา “ ข้าประสงค์ได้ความรู้นี้ แต่ว่าสูฆ่าขุนสินด้วยความรู้นี้เมื่อขุนสินนำชาวไต๋มาเพื่อช่วยเราขับไล่ทัพของลิบุ๋น ข้าจึงไม่ประสงค์เอาความรู้นี้จากสู ”
คำอ้ายจึงเดินออกมาจากสีเภาพร้อมกับทหารลือ และเมื่อถึงลานประหารคำอ้ายหันไปกล่าวแก่ทหารลือนั้นว่า “ ข้าเห็นสูแล้วก็รู้ว่าแต่ก่อนสูเป็นพราน ”
ทหารผู้นั้นรับว่าเป็นความจริง แล้วคำอ้ายดึงห่อเล็กจากเสื้อและกินผงในห่อนั้นไปครึ่งหนึ่ง แล้วส่งที่เหลือให้ทหารลือพร้อมกับกล่าวว่า “ ข้าแพ้การศึกต่อสีเภา แต่ข้านี้ยังมีความรู้อีกมาก ข้าสามารถจะทำให้หมู่บ้านเล็ก ๆ เช่นที่สูอยู่กลายเป็นเมืองใหญ่ได้ แต่วาสนาข้ามีน้อยเพราะเกิดในหมู่บ้านเช่นสู บัดนี้ข้าจะตายแล้วเพราะผงนี้ สูจงเอาส่วนที่เหลือไปให้สีเภาเถิด เขาอาจจะเอาไปใช้ได้ภายหน้า เพราะเขาอาจถูกจับเช่นข้าเมื่อใดก็เป็นได้ ผงนี้ทำให้คนสิ้นลมได้ทันทีโดยไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด ส่วนศพข้านั้นจงให้คนของข้าได้รับไปจัดการตามธรรมเนียมเถิด ”
เมื่อกล่าวจบคำอ้ายก็หมดลมหายใจไป ทหารตรวจแล้วก็เห็นว่าคำอ้ายตายแล้ว จึงให้เพื่อนเฝ้าร่างของคำอ้ายไว้ แล้วตนเองมาแจ้งต่อสีเภา พร้อมกับนำผงนั้นมาให้และแจ้งถ้อยคำของคำอ้ายต่อสีเภา
สีเภาก็กล่าวแก่ทหารนั้นว่า “ แต่ก่อนสูเป็นพรานมิใช่หรือ ” ทหารนั้นก็รับคำ สีเภาจึงกล่าวต่อไปว่า “ ในป่ามีสัตว์บางชนิดเมื่อรู้ว่าจะหนีภัยไม่พ้นแล้วจะแสร้งทำตายปากอ้าลิ้นห้อย นอนหงายเหมือนตายแล้ว เมื่อภัยพ้นไปแล้วสัตว์นั้นจะลุกขึ้นวิ่งไป สูเป็นพรานจะไม่ให้สัตว์เหล่านั้นลวงได้ คำอ้ายนี้มีอุบายมากกว่าสัตว์ทั้งปวง จงอย่าเชื่อผู้นี้แม้เมื่อเขาตายแล้ว สูจงเอาผงนี้ไปฝังพร้อมกับร่างของเขาในทันทีนี้เถิด ข้าไม่ประสงค์สิ่งใดจากคน ๆ นี้ ”
๘...
เมื่อเตียวเหลียงหายป่วยแล้วก็ส่งทหารไปรังความทัพของกุมภวาอยู่เสมอ กุมภวาจะพักทหารหรือถอนค่ายก็ต้องกระทำด้วยความระวัง มิให้ทหารจิ๋นโจมตีขณะเผลอได้ ครั้นจะแบ่งทหารส่วนหนึ่งไปช่วยสีเมฆ ส่วนที่เหลืออยู่ก็จะไม่พอสำหรับปะทะกับทัพของเตียวเหลียง กุมภวาจึงต้องปล่อยให้สีเมฆอยู่กับโชคชะตาของตนเอง แต่กุมภวาให้ม้าเร็วไปแจ้งแก่สีเมฆว่าทัพจิ๋นกำลังมาสกัดทัพของเขา
เมื่อเตียวเหลียงติดตามทัพกุมภวาได้เจ็ดวันก็รู้ว่าทัพของกุมภวาใกล้จะถึงแม่น้ำ เตียวเหลียงจึงกล่าวแก่เตียวลกว่า “ สูจงคุมทหารหนึ่งหมื่นอยู่กับกองเสบียง ส่วนข้าจะนำทหารสองหมื่นเร่งตามทัพไทไป เพราะว่าหากทัพไทข้ามแม่น้ำไปได้แล้ว แทนที่เราจะเป็นฝ่ายติดตาม ทัพไทกลับจะเป็นฝ่ายยันเราไว้มิให้เราข้ามน้ำไปได้โดยใช้กำลังแต่เพียงส่วนน้อย แล้วส่วนที่เหลือกุมภวาก็จะแบ่งไปช่วยทัพจากเมืองเม็งได้ ”
แล้วเตียวเหลียงให้ทหารสองหมื่นเตรียมเสบียงติดตัวไป และให้เดินทางไปโดยเร็วให้ทันทัพของกุมภวา ”
กุมภวาเมื่อถึงริมแม่น้ำก็จะให้ทหารข้ามแม่น้ำไปแต่พอดี ทัพของเตียวเหลียงมาทัน แล้วเตียว
เหลียงให้ทหารเตรียมเข้าโจมตีทัพไท กุมภวาจึงไม่อาจนำทัพข้ามแม่น้ำแต่ต้องตั้งค่ายอยู่ริมน้ำนั้น และในคืนนั้นทัพไทและทัพจิ๋นก็ระวังกันอยู่มิให้ฝ่ายใดข้ามแม่น้ำได้
รุ่งขึ้นทัพของเตียวลกก็ติดตามมาสมทบกับทัพของเตียวเหลียง แล้วเตียวเหลียงให้ทหารทั้งทัพราบหนักราบเบา และทัพม้าตั้งขบวนเพื่อโจมตีและเตียวเหลียงขับม้าตระเวนไปทั่วทุกกองและประกาศแก่ทหารของเขาว่า “ ทัพข้างหน้าสูนี้เป็นทัพของกุมภวา ผู้นี้เป็นเสมือนเสือในบรรดาสัตว์ทั้งปวง บัดนี้เสือมาติดอยู่ที่ริมน้ำแล้ว เราจะเข้าโจมตี หากเราทำลายเสือนี้ได้งานศึกของเราก็จะไม่หนักอีกต่อไป ”
แล้วเตียวเหลียงนำทหารเข้าโจมตีทัพของกุมภวาทั้งสามด้านตลอดวัน รุ่งขึ้นก็เข้าโจมตีอีก
กุมภวาให้เตียวเหลียงโจมตีอยู่สามวัน ทหารไทได้รับความลำบากยิ่งนักและน้ำใจก็หดหู่ลง ธงผาจึงขับม้าไปยังกุมภวาและกล่าวว่า “ เหตุใดสูจึงตั้งเฉยอยู่ให้ข้าศึกทำเราได้ตามชอบใจเช่นนี้ ถึงแม้เราจะข้ามแม่น้ำไปไม่ได้ เราก็จะผละจากที่นี่ไปหาทำเลใหม่ ให้ดีกว่านี้ได้ ”
กุมภวากล่าวว่า “ ข้ากำลังหาทำเลเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังทำให้ข้าศึกกำเริบใจอยู่ ”
ในวันนั้นเตียวเหลียงก็โจมตีอยู่ถึงเย็น ครั้นรุ่งขึ้นกุมภวาให้ทหารถอยไปทางใต้ ทหารจิ๋นฮึกเหิมอยู่ก็ติดตามเรื่อยไป แต่ว่าในระหว่างนั้นทหารที่เหลือของกุมภวาถอยพลางสู้พลาง เพื่อชะลอข้าศึกไว้ และอีกสองวันก็ถึงหุบเขา ทัพของกุมภวาก็หนีเข้าไปเตียวเหลียงติดตามไป เตียวลกจึงกล่าวแก่เตียว
เหลียงว่า “ หุบเขาดูจะเป็นอันตรายแก่เราได้ เพราะข้าศึกเข้ามาก่อน ”
เตียวเหลียงกล่าวว่า “ เราโจมตีทัพกุมภวาสามด้านที่ริมแม่น้ำได้ แต่ในหุบเขานี้ ถ้ากุมภวาจะล้อมเราเขาจะมีทหารไม่พอ และหากเราถูกล้อมเราก็จะตีฝ่าออกไปได้ และถ้าเราไม่ตามเข้ามากุมภวาก็จะไปทำลายทัพของซิฉุยได้ ”
แล้วทัพจิ๋นก็ตามทัพของกุมภวาเรื่อยไปในหุบเขาจนตลอดคืน
เมื่อกุมภวามาใกล้ช่องเขาด้านริมน้ำเห็นแสงไฟอยู่เบื้องหลังก็รู้ว่าทัพเตียวเหลียงติดตามมา
กุมภวาจึงให้ก่อไฟเรียงรายไว้เป็นอันมาก ทหารของเตียวเหลียงเห็นดังนั้นก็คิดว่าฝ่ายไทวางกับดักฝ่ายตนไว้ ต่างก็พากันลังเลใจไม่อยากจะเดินทัพไปในยามมืดเช่นนี้ เตียวเหลียงเห็นทหารของตนลังเลใจ จึงให้ตั้งมั่นอยู่เพื่อรอแสงสว่างของวันรุ่งขึ้น
ฝ่ายกุมภวาในคืนนั้นก็ให้ทหารขุดคูลึกแปดศอกขวางทางของทัพจิ๋นไว้ และทหารของสีเภาก็ขุดคูกั้นทัพจิ๋นทางด้านหลังเช่นเดียวกัน
ครั้นเวลาใกล้รุ่ง ฝ่ายไทขุดคูเสร็จกุมภวาก็ให้ก่อควันไฟขึ้น ทหารไทสี่ด้านก็ระดมยิงธนูไปยังทัพจิ๋น เมื่อเตียวเหลียงรู้ว่าตนถูกล้อม จึงนำทหารมุ่งไปทางลำน้ำหมายจะตีฝ่าไปทางนั้น แต่ทหารจิ๋นไม่อาจจะข้ามไปได้ เมื่อเข้าไปใกล้คู ทหารไทก็ระดมยิงธนูและพุ่งหอกมา ทหารจิ๋นล้มตายเป็นอันมาก ทั้งทหารไทบนเขาก็ระดมยิงธนูลงมา เตียวเหลียงจึงนำทหารกลับไปทางหลังแต่ก็ถูกขวางไว้ด้วยคูลึกอีก เตียวเหลียงขับให้ทหารข้ามคูนั้นไป แต่ก็ถูกทหารไทฆ่าตายเสียสิ้น ทหารจิ๋นที่จะหนุนเข้าไปช่วยเหลือก็ถูกระดมยิงจากไหล่เขาทั้งสองด้าน ไม่อาจทำการรบได้ถนัดและในที่นั้นช่องเขาแคบกว่าด้านแม่น้ำ ทหารไทยบนไหล่เขาจึงฆ่าทหารจิ๋นด้วยลูกธนูได้มากขึ้น เตียวเหลียงจึงนำทหารย้อนกลับไปทางด้านแม่น้ำ กุมภวาเห็นทัพจิ๋นตรงเข้ามาอีกก็เข้าไปในหมู่ทหารแล้วร้องประกาศว่า “ ชาวไททั้งหลาย ข่ารู้อยู่ว่าทุกคนเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องถือพลั่วขุดคูทั้งคืน แต่วันนี้จะเป็นวันตัดสินชะตาของข้าศึก หากเราทำลายทัพของเตียวเหลียงได้ บุตรภรรยาของเราและแคว้นไทจะเป็นอิสระต่อไป แต่ถ้าทัพของเตียวเหลียงผ่านไปได้ แคว้นไทจะลำบากยิ่งนัก ข้าขอให้ทุกคนป้องกันคูไว้ให้ได้ ส่วนงานทำลายทหารจิ๋นนั้นพลธนูบนเชิงเขา และที่แนวหลังของเรานี้จะเป็นผู้ทำ ”
ทหารไทเข้าป้องกันคูไว้ไม่มีทหารจิ๋นคนใดข้ามไปได้ ทหารจิ๋นถูกลูกธนูล้มตายลง และมีแต่เสียงร้องครวญครางทั่วไป เตียวเหลียงมองไปโดยรอบเห็นทหารของตนล้มตายลงไปทุกขณะก็รู้สึกว่าทางรอดของทัพตนไม่มีแล้ว เขาก็แหงนหน้าไปทางไหล่เขาที่ฝ่ายไทระดมยิงธนูมาแล้วร้องกล่าวขึ้นว่า
“ คนไทเอย ลูกธนูสำหรับเตียวเหลียงไม่มีหรือ ”
แต่ลูกธนูก็แล่นผ่านเขาไปโดยมิได้ต้องกายเขาเลย
ทหารไทระดมยิงทัพจิ๋นถึงเวลาใกล้เที่ยง พายุก็เกิดและพัดจัดขึ้น ในไม่ช้าฝนตกอย่างหนัก เตียวเหลียงดีใจยิ่งนักร้องบอกทหารว่า “ เทพยดาช่วยเราแล้ว ”
แล้วเตียวเหลียงให้ทหารทั้งแนวเข้าโจมตีด้านแม่น้ำหนักขึ้น และให้ทหารถมเครื่องใช้ของกองทัพลงตรงกลางแนวของคู และให้ฆ่าม้าจำนวนมากแล้วถมศพม้าลงในคูนั้น ฝ่ายทหารไทบัดนี้ยิงธนูไม่ได้ผลเหมือนตอนแรก เพราะลูกธนูซุ่มด้วยน้ำฝนและพายุจัด ทหารจิ๋นจึงดาเข้าไปด้านริมน้ำได้ และเตียวเหลียงให้ทหารเข้าไปในตอนกลางของคูซึ่งเป็นที่ทิ้งศพม้า และเครื่องใช้ของกองทัพ ในไม่ช้าคูนั้นก็เป็นพื้นราบ ทหารจิ๋นก็ข้ามไปได้ และในที่สุดก็ฝ่าทัพไทไปได้ เมื่อถึงริมน้ำเตียวเหลียงให้ทหารข้ามน้ำไปโดยให้กองม้าคอยต้านทานทัพไทไว้ ทัพไทเข้าโจมตีทัพจิ๋นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่สามารถทำลายทัพจิ๋นได้
บัดนี้ฝนและพายุหยุดแล้ว ดวงตะวันใกล้จะตกดิน กุมภวาจึงสั่งให้ทหารหยุดโจมตี และเขานำหน้าทหารเดินเลียบไปตามริมน้ำ เขาเงยหน้ามองฟ้าแล้วถอนใจและก้มหน้าเดินต่อไปพร้อมกับเพื่อนคนไทอื่น ๆ
๙...
ในคืนนั้นทั้งทัพของกุมภวาและเตียวเหลียงก็ข้ามน้ำไป แต่บัดนี้ทัพของกุมภวาเป็นฝ่ายติดตาม ส่วนทัพของเตียวเหลียงนั้นก็มุ่งไปสมทบกับทัพของซิฉุย
ซิฉุยเมื่อเดินทัพแยกมาจากเตียวเหลียงได้สิบวัน ก็พบกับทัพของสีเมฆ ทั้งสองฝ่ายเข้าประจัญบานกัน ทหารเม็งมีเพียงหมื่นเศษก็พ่ายต่อทัพจิ๋น สีเมฆแม่ทัพกับบุญห้วยผู้ช่วยตายในที่รบ ทหารเม็งเหลือตายสองพันเศษ บางคนก็ถูกจับเป็นเชลย บางคนก็หนีกลับไปเมืองเม็ง เมื่อซิฉุยทราบจากเชลยไทว่าสีเมฆกับบุญห้วยต่อสู้จนตายในที่รบซิฉุยให้ทหารค้นหาศพทั้งสอง แล้วนำศพมาเผาทำพิธีให้และให้เชลยไทนำอัฐิกลับไปให้ภรรยาของคนทั้นสอง แล้วซิฉุยรีบนำทัพกลับมาเพื่อสมทบกับเตียวเหลียง
วันหนึ่งขณะที่ทัพของกุมภวาและของเตียวเหลียงตั้งยันกันอยู่ ม้าเร็วซึ่งกุมภวาส่งไปยังทัพของสีเมฆขับม้าเข้ามาในค่าย ม้าเร็วซึ่งกุมภวาส่งไปยังทัพของสีเมฆขับม้าเข้ามาในค่าย และขณะนั้นกุมภวายืนอยู่บนเชิงเทินกับสีเภา ไม่มีผู้อื่นอยู่ใกล้ ม้าเร็วเข้าไปหากุมภวาและแจ้งว่าทัพสีเมฆถูกทำลายสิ้นแล้ว
กุมภวาเสียใจยิ่งนักเมื่อได้ฟังข่าวนี้ และเขาเห็นทหารไทเป็นอันมากมองมาทางเขา เพราะทหารเหล่านั้นรู้ว่าม้าเร็วนำข่าวทัพของสีเมฆมา กุมภวาเห็นดังนั้นจึงกล่าวแก่ม้าเร็วว่า “ ทหารในทัพของเราอยากรู้ว่าเมื่อใดทัพของสีเมฆถูกทำลายหมดสิ้นแล้ว ทุกคนจะเสียขวัญ สูจงลงไปสนุกกับทหารข้างล่างเถิดอย่าให้เขารู้ว่าทัพสีเมฆมาช่วยเราไม่ได้แล้ว ”
แล้วกุมภวาตบหลังตบไหล่ม้าเร็วนั้นเสมือนว่าตนมีความยินดี ม้าเร็วนั้นก็ลงไปรวมอยู่ในหมู่ทหารข้างล่างและบอกว่า “ ทัพสีเมฆกำลังเดินทางมาแล้ว ” ทหารทั้งปวงก็นึกว่าเป็นความจริง
ในเช้าวันรุ่งขึ้นกุมภวาก็ให้ถอยทัพลงทางใต้
เตียวเหลียงนั้นขณะที่กำลังฝึกทหารอยู่ ม้าเร็วก็มาแจ้งข่าวชัยชนะของซิฉุย เตียวเหลียงจึงเรียกทหารทั้งปวงมาฟังข่าว ทุกคนโห่ร้องด้วยความยินดี และเมื่อรู้ว่าทัพของกุมภวาถอยไปทางใต้แล้ว เตียวเหลียงก็นำทัพติดตามและส่งคนไปบอกให้ซิฉุยรีบยกกองทัพตามไป
วันหนึ่งขณะที่ทัพของกุมภวาพักแรมอยู่ตามทาง กุมภวาเรียกประชุมทหาร และกล่าวว่า “ เตียวเหลียงกำลังตามเรามาเราไม่อาจจะลอบโจมตีทัพของเตียวเหลียงได้แล้ว เพราะว่าเขาเดินทัพด้วยความระวัง แต่ระหว่างที่เตียวเหลียงหยุดพักแรมคนของเราพอจะเข้าไปฆ่าเขาได้ ถ้าหมดเตียวเหลียงเสียแล้วเราจะทำศึกสะดวกขึ้น ข้าต้องการคนสองคนสำหรับทำงานครั้งนี้ ”
เมื่อจับสลากกันว่าใครจะไปทำงานฆ่าเตียวเหลียง ลาวอ้ายกับพันน้อยเป็นผู้จับได้ กุมภวาจึงกล่าวแก่พันน้อยว่า “ เมื่อสูเป็นเด็กอยู่ สูเป็นตัวประกันคนหนึ่งในจำนวนเด็กห้าสิบคนที่ฝ่ายเรามอบให้เตียวเหลียง เพื่อให้เขาถอนกำลังออกจากเมืองลือ สูเป็นเพื่อนกับเตียวเหลียงตั้งแต่นั้นมา เช่นนี้แล้ว สูจะไปฆ่าเขาได้หรือ ”
พันน้อยกล่าวว่า “ ข้าทำได้แต่ข้าไม่สบายใจเลยที่จะต้องไปฆ่าเพื่อนคนนี้ของข้า ถ้าไม่ได้เตียว
เหลียง ข้าคงตายเสียแล้วในครั้งนั้น ”
กุมภวาจึงให้จับสลากหาคนแทนพันน้อย และได้แสนพูหนุ่มไทอีกคนหนึ่งแทน
ลาวอ้ายกับแสนพูกล่าวแก่กุมภวาว่า “ ในเวลากลางคืน เราจึงจะเข้าไปในค่ายของจิ๋นได้ แต่กระโจมของทหารจิ๋นมีมากและในเวลามือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเตียวเหลียงอยู่ในกระโจมใด ”
กุมภวากล่าวว่า “ เตียวเหลียงจะตื่นขึ้นตอนดึกเพื่ออ่านหนังสือทุกคืน สูพอจะค้นหากระโจมของเขาได้ ” แล้วกุมภวาก็บอกลักษณะของเตียวเหลียงแก่หนุ่มทั้งสอง
ลาวอ้ายกับแสนพูมุ่งไปยังทัพจิ๋น วันหนึ่งทั้งสองคนซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำในบึงเล็กในบริเวณซึ่งทัพจิ๋นไปตั้งอยู่ ตกยามสามหนุ่มไททั้งสองก็ออกมาจากบึง และแอบเข้าไปในหมู่กระโจมของทหารจิ๋น หนุ่มไทเห็นในกระโจมหนึ่งมีคนนั่งอ่านหนังสืออยู่ เมื่อเข้าไปใกล้ก็รู้ว่าเป็นเตียวเหลียง หนุ่มไททั้งสองก็เข้าไปในกระโจม แต่ว่าก่อนที่เขาจะเข้าถึงตัวเตียวเหลียง ตันซูกับทหารจิ๋นอีกสี่คนก็รวบตัวคนทั้งสองไว้ได้
เตียวเหลียงวางหนังสือที่อ่านอยู่แล้วหันไปกล่าวแก่สองหนุ่มไทว่า “ ข้าตรวจดูและเห็นแล้วว่า ในแหล่งน้ำแถบนี้ คนไทจะซ่อนตัวอยู่ได้ ข้าจึงหยุดพักอยู่ที่นี่เพื่อจับคนที่จะลอบมาเอาชีวิตข้า แต่ถึงหากสูจะทำได้สำเร็จ สูจะรอดไปจากค่ายนี้ได้อย่างไร งานของสูคือความตายของสูโดยแท้ ”
สองหนุ่มไทก็นิ่งอยู่ แล้วเตียวเหลียงกล่าวต่อไปว่า “ เมื่อสูถูกจับแล้วเช่นนี้ โทษของคนที่พยายามฆ่าแม่ทัพจิ๋นมีอย่างเดียวคือ จะถูกทรมานอย่างสาหัสจนตาย ”
สองหนุ่มไทก็ยิ้มให้แก่คำของเตียวเหลียง เวลานั้นด้านซ้ายมือของลาวอ้ายมีคบไต้กำลังลุกโพลงอยู่ ลาวอ้ายก็ยื่นมือซ้ายเข้าไปในไฟ มือของเขาถูกเผาอยู่ในเปลวไฟเหมือนชิ้นปลาถูกย่าง แต่ลาวอ้ายมองยังเตียวเหลียงอยู่ด้วยสีหน้าไม่เปลี่ยนแปลง และเขาพลิกมือที่ถูกย่างนั้นกลับไปกลับมาเหมือนเขากำลังย่างปลา เตียวเหลียงทนดูอยู่ไม่ได้ เขาดึงคบนั้นให้พ้นมือของลาวอ้ายแล้วให้ทหารนำสองหนุ่มไทออกไปและให้ทำแผลที่มือลาวอ้าย
แล้วเตียวเหลียงบอกตันซูว่า “ สูจงนำสองหนุ่มไทนี้คืนไปให้กุมภวา ”
ตันซูกล่าวว่า “ สูจะปล่อยศัตรูอีกหรือ ครั้งหนึ่งสูปล่อยชาวเขาธาไนยเพื่อตอบแทนน้ำใจของธงผาที่คืนเด็กประกันห้าสิบคนให้ คราวนี้สองหนุ่มนี้เข้ามาหมายจะเอาชีวิตของสู ซึ่งเป็นแม่ทัพจิ๋น แต่สูกลับจะปล่อยไปอีก แล้วต่อไปข้างหน้าสูคงจะทำเช่นนี้อีก จูโกเหลียงเคยถูกหาว่ามาทำศึกที่นี่เหมือนเล่นกีฬา สูจะถูกหาว่ามาทำศึกเหมือนมาเล่นดนตรี เพราะว่าสูคิดแต่จะรักษาน้ำใจของข้าศึกเหมือนนักพิณรักษาพิณที่อยู่ในมือของเขา ”
“ ที่สูพูดนั้นไม่ผิดเลย ” เตียวเหลียงกล่าว “ เพราะว่าหลังการศึกเราจะอยู่ในแคว้นไทอย่างผู้ปกครอง มิใช่อย่างผู้ชนะ ถ้าเราจะฆ่าสองหนุ่มไทนี้ สูคิดว่าจะช่วยให้คนไทกลัวเราและยอมอยู่ในปกครองของเราง่ายขึ้นหรือ นักปกครองจะต้องใช้ฝีมือทำให้เกิดความสงบและเกิดระเบียบอันงามในบ้านเมืองเหมือนนักพิณใช้ฝีมือ ทำให้เกิดความไพเราะจากเครื่องมือของเขา เราอาจจะเข้าครอบครองแผ่นดินของคนไทได้ด้วยกำลัง แต่การปกครองมิใช่การครอบครอง สูได้เห็นน้ำใจอันไม่ยอมแพ้ของคนไทแล้วจากสองหนุ่มนี้ เราจะปกครองเขาด้วยวิธีใดเล่า อาวุธไม่อาจจะกดน้ำใจอันไม่ยอมแพ้ของคนได้ เราควรจะปกครองด้วยแรงของน้ำใจ เพื่อให้มีความสงบในบ้านเมืองมิใช่ด้วยกำลัง ข้าคิดเช่นนี้จึงปล่อยสองหนุ่มนี้ไป สูจงพาเขากลับไปให้กุมภวาเถิด ”
แล้วเตียวเหลียงกล่าวเสริมขึ้นว่า “ ตันซูเอย ข้าอาจจะตายเสียก่อนที่เราจะไปยึดแคว้นเม็งและแคว้นไต๋ก็เป็นได้ เพราะว่าในแคว้นไทยังมีคนเช่นสองหนุ่มนี้อีกมากที่หมายจะเอาชีวิตข้า เมื่อข้าตายแล้วคนจะพูดกันว่าข้าปล่อยคนไท เพราะคนไทช่วยชีวิตข้าไว้เขาจะพูดอย่างไรก็ตามเถิด จิ๋นไม่ควรจะเป็นที่หวาดเกรงเหมือนยักษ์ใหญ่ แต่ควรเป็นที่นับถือของเพื่อนบ้าน ”
รุ่งเช้าตันซูกับทหารจิ๋นสี่คนก็นำหนุ่มไทขึ้นม้ามุ่งไปยังทัพไท เมื่อถึงก็มอบหนุ่มไททั้งสองให้แก่คนยาม แล้วตันซูกับพวกก็กลับมายังทัพของตน
ลาวอ้ายและแสนพูเข้าไปเล่าเรื่องให้กุมภวาฟังแล้วกล่าวว่า “ นอกจากเราจะทำงานไม่สำเร็จแล้ว เรายังถูกเตียวเหลียงจับได้แล้วเขายังปล่อยตัวมาอีก น่าอับอายแก่เรายิ่งนัก ขอให้สูลงโทษเราเถิด ”
กุมภวากล่าวแก่หนุ่มไททั้งสองว่า “ สูไม่ได้ทำผิด เตียวเหลียงเป็นคนฉลาดจึงจับสูได้ แต่สูก็ได้ทำให้เตียวเหลียงเห็นแล้วว่าในแผ่นดินที่เขาจะมาครอบครองนั้นคนมีน้ำใจอย่างไร ”
แล้วกุมภวาให้เดินทัพต่อไป เมื่อมาถึงเขตเมืองข่านุ ก็เห็นลูกเนินแห่งหนึ่งอันเป็นทำเลใช้ยันข้าศึกได้ กุมภวาจึงให้ทหารขึ้นไปตั้งค่ายบนลูกเนินนั้น แล้วกุมภวาออกไปสำรวจพื้นดินรอบ ๆ ก็พบว่ามีที่ลุ่มและร่องอยู่เป็นอันมาก ซึ่งใช้ซ่อนทหารได้ กุมภวาจึงกลับมาและกล่าวแก่ธงผาว่า “ สูจงนำทหารไปซ่อนอยู่หลังลูกเนินและตามที่ข้างเคียง ส่วนข้ากับสีเภาจะยันทัพจิ๋นอยู่ที่นี่ ถ้าเตียวเหลียงประสงค์จะผ่านทุ่งนี้ เขาจะต้องยึดลูกเนินนี้ก่อน ดังนั้นในขณะที่การรบบนลูกเนินติดพันอยู่ สูจงนำทหารออกโจมตี ”
ธงผาก็นำทหารไปซุ่มอยู่ตามคำสั่งของกุมภวา
ส่วนเตียวเหลียงเมื่อตามมาถึงเห็นฝ่ายไทตั้งอยู่บนลูกเนินขวางหน้าตน เตียวเหลียงก็ให้ทหารหยุดและตั้งค่ายอยู่บนที่ราบห่างออกไป
คืนนั้นกุมภวาออกจากค่ายไปยังที่ซึ่งธงผากับทหารซุ่มอยู่ เมื่อธงผาเห็นแม่ทัพของตนมาก็ถามว่า “ สูมีกิจอันใดจะแจ้งแก่ข้าหรือ จึงมาในยามวิกาลเช่นนี้ ”
กุมภวาจับแขนธงผาไว้แล้วกล่าวว่า “ ข้าจะมีความอันใดแจ้งแก่สูอีกก็หาไม่ แต่ข้าออกมาพบสูในคืนนี้ด้วยความคิดถึงความที่สูต้องทนลำบาก สูและคนอื่น ๆ ต้องมาอยู่ในท้องคู เบื้องล่างคือความแฉะของโคลน เบื้องบนคือท้องฟ้าที่ให้แต่ความเย็น คืนนี้สูกับพวกต้องลำบากมากแล้ว พรุ่งนี้ยังต้องทำการรบหนักข้าคิดถึงชีวิตของสูที่ลำบากมากแล้ว พรุ่งนี้ยังต้องทำการรบหนัก ข้าคิดถึงชีวิตของสูที่ลำบากตลอดมาเพื่อพี่น้องชาวไท จึงมาเยี่ยม ทั้งข้ามิอยากให้ดวงดาวในท้องฟ้าชวนให้สูคิดถึงความเหนื่อยยากที่ต้องผจญตลอดมา และที่จะต้องผจญต่อไปโดยไม่รู้ว่าเมื่อใดจึงจะมีความสงบได้ ”
ธงผาแหงนมองดวงดาวที่ดาษอยู่ทั่วไปในท้องฟ้าแล้ว ก็กล่าวกับกุมภวาว่า “ กุมภวาเอย ดวงดาวไม่ทำให้ข้าเศร้าได้ ชีวิตข้าจะอยู่ได้เพียงใดนั้นให้ดวงดาวกำหนดเถิด แต่ใจของข้านั้นขอให้ใจข้าเป็นผู้กำหนด สูอย่าได้ห่วงข้าเลย พรุ่งนี้ข้าจะสู้กับจิ๋นเช่นที่เคยสู้มา ”
แล้วทั้งสองเดินไปเยี่ยมคนไททั้งปวงที่มาตั้งซุ้มอยู่โดยทั่วไป เสร็จแล้วกุมภวาแยกจากธงผามายังกระโจมของตนบนลูกเนินเวลานั้นท้องฟ้าแจ่มใส อากาศเย็น พื้นดินหน้ากระโจมของเขาราบแต่มีคันดิน เขานั่งลงที่คันดินนั้นและมองออกไปยังแสงไฟที่เรียงรายอยู่ในค่ายของจิ๋น
คนยามเดินมาที่เขาและกล่าวว่า “ พรุ่งนี้เราจะต้องรบอย่างหนักแล้ว และอากาศคืนนี้เย็นจัด เมื่อใดสูจะเข้าไปพักเสียเล่า ”
กุมภวาตอบยามนั้นว่า “ สูเห็นหรือไม่ ทุก ๆ สิ่งรอบ ๆ เรางามเหลือเกินภายใต้แสงเดือน แต่ว่าพรุ่งนี้คนจะฆ่าฟันกันบนพื้นดินรอบ ๆ นี้ ให้ข้าได้เห็นความงามข้างหน้านี้อีกสักครู่เถิดแล้วข้าจะเข้าไปพักผ่อน ”
ยามนั้นก็เดินไปที่อื่น กุมภวายังคงนั้งอยู่ที่เดิม เขามองไปทั้งบนฟ้าและเบื้องหน้าโดยทั่ว และมองไปยังค่ายของจิ๋นเบื้องล่าง แล้วก้มหน้ากล่าวขึ้นว่า “ เทพยดาเบื้องบนเอย เหนือหัวคนที่เป็นไทแก่ตัวคือฟ้า แต่คนที่เป็นทาสจะมีนายเหนือหัวของเขาเช่นนี้แล้วให้ข้าเป็นไทต่อไปเถิด ให้ทัพของเตียว
เหลียงพ่ายในวันพรุ่งนี้ เทพยดาเบื้องบนเอย ระหว่างฟ้ากับคนไท ขออย่าได้มีนายคั่นอยู่เลย ”
และกุมภวานิ่งอยู่ ต่อมาเขารู้สึกว่ามีคนมานั่งห่างเขาไม่ไกลนัก แล้วผู้นั้นกล่าวขึ้นว่า “ สูเป็นห่วงนักหรือจึงอ้อนวอนเบื้องบนเช่นนั้น ”
กุมภวากล่าวว่า “ ในชีวิตของข้า ข้าไม่เคยทุกข์ใจเหมือนครั้งนี้ แต่ก่อนข้ามีบุญปันและสหายหลายคนร่วมกันทำงานน้ำใจของสหายแต่ละคน ทำให้คนไทคนหนึ่งกลายเป็นร้อยคนในการสู้เพื่อความเป็นไท เราสู้ได้เรื่อยมา แต่บัดนี้สหายของข้าจากไปเกือบหมดแล้ว จันเสน ลำพูน กุฉิน จุไท ทุกคนจากข้าไปแล้ว เขามาช่วยข้าไม่ได้ ที่เราจะอยู่ในดินแดนนี้อย่างเป็นไทต่อไปนั้นยากแล้ว ข้าจึงออกปากต่อเบื้องบน ”
ผู้นั่งอยู่ข้างเขาเอ่ยขึ้นว่า “ สูออกปากขอชัยชนะเพื่อคนไทจะอยู่ในดินแดนนี้อย่างเป็นไทต่อไป แต่ว่าเหตุผลของเบื้องบนนั้นเกินกว่าที่คนจะหยั่งได้ ที่คนไทจะอยู่อย่างเป็นไทที่นี่อาจไม่ใช่ความประสงค์ของเบื้องบน ”
กุมภวานิ่งอยู่แล้วกล่าวว่า “ คนไทเป็นหนี้จิ๋นมากนักหรือ จึงจะต้องใช้หนี้ด้วยแผ่นดินที่เขาอยู่มาแต่โบราณ ”
ผู้มานั่งข้างเขาตอบว่า “ บางทีจะมีดินแดนอื่นที่ดีกว่าที่นี่สำหรับคนไทก็เป็นได้ ” แล้วผู้นั้นก็ลุกเดินและหายไป
๑๐...
รุ่งขึ้นกุมภวาก็นำทหารออกมาเตรียมขวางการเดินทัพของเตียวเหลียง
เมื่อเตียวเหลียงเห็นฝ่ายไทตั้งขบวนเตรียมรบ เตียวเหลียงก็จัดขบวนฝ่ายตนเรียงรายมุ่งไปยังทัพไท แต่พอใกล้ลูกเนินเขาให้ทหารหยุด และหันไปบอกแก่เตียวลกว่า “ สูจงขับม้าไปยังทัพไทเพื่อเจรจากับกุมภวา ให้ตกลงสงบศึกต่อกันเหมือนเมื่อครั้งเราเจรจากับเขาที่เมืองไกวเจา และสูจงฟังดูว่ากุมภวาจะยินยอมต่อเราเพียงใด ”
เตียวลกก็ให้ทหารถือธงขับม้านำตนและทหารจิ๋นอีกสองคนขึ้นม้าเดินมุ่งไปยังทัพไท ขุนยวมจากเมืองยูโร ผู้นำกองหน้าของไทเห็นดังนั้นจึงขับม้าไปยังกุมภวา และกล่าวว่า “ ฝ่ายจิ๋นกำลังถือธงขับม้ามายังเรา สูจะออกไปพบเขาหรือจะให้ข้าพาเขามาที่นี่ ”
กุมภวากล่าวว่า “ สูจงให้ทหารราบเบาพุ่งหอกซัดไปยังชาวจิ๋นที่จะมาเจรจานั้น เตียวเหลียงกำลังรอทัพของซิฉุยจึงไม่ออกรบเวลานี้ ข้าไม่ประสงค์จะเจรจาด้วยให้เปลืองเวลา ”
ขุนยวมก็กลับไปยังแนวหน้า และเมื่อคณะของเตียวลกเข้ามา ขุนยวมก็ให้ทหารพุ่งหอกไปสกัดมิให้เตียวลกเข้ามาใกล้ เตียวลกกับทหารที่ตามมาก็ขับม้ากลับไป และเตียวลกแจ้งแก่เตียวเหลียงว่า
“ คนไทไม่ยอมแม้แต่จะให้เราเข้าไปใกล้ เหตุใดคนพวกนี้จึงหยิ่งผยองนัก ”
เตียวเหลียงกล่าวว่า “ กุมภวาต้องการให้ทัพของเราเข้าโจมตีโดยเร็ว เขาจึงไม่ยอมเจรจากับฝ่ายเรา แต่เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะลงมือ ”
แล้วเตียวเหลียงสั่งให้จัดขบวนทัพใหม่ ทั้งขบวนพลธนูเท้า พลธนูบนหลังม้า พลราบเบา และราบหนัก พลม้าเบาและม้าหนักต่างก็สับที่กันไปมา
ตันซูผู้ช่วยของเตียวเหลียงจึงกล่าวแก่เตียวเหลียงว่า “ ที่เราจะขึ้นไปรบบนลูกเนินนั้น คนไทจะได้เปรียบฝ่ายเรา กุมภวาอาจจะซ่อนคนไว้ขนาบทัพเราอีกด้วย ”
เตียวเหลียงกล่าวว่า “ กุมภวากำลังทำดังที่สูกล่าวนั้น แต่ซิฉุยเดินทัพมาจะถึงอยู่แล้ว ถ้าซิฉุยมาทันเวลาเราก็จะกลับเป็นฝ่ายขนาบทัพไท แต่ถ้าเราโจมตีเร็วเกินไป เราจะเสียที ถ้าช้าไปฝ่ายไทก็จะถอยไปเสีย ”
ทัพจิ๋นแปรขบวนต่อไปจนใกล้เที่ยง กุมภวาก็รู้ว่าทัพซิฉุยใกล้เข้ามาแล้ว กุมภวาจึงสั่งให้ทหารของตนถอย ทันใดนั้นเตียวเหลียงก็ให้เตียวลกนำกองธนูเบาและม้าเบาเข้าโจมตี ฝ่ายไทหันกลับมาสู้ เตียวเหลียงให้ราบเบาเข้าช่วย แล้วก็ส่งทัพทั้งหมดตามเข้าไป การรบติดพันจนกลายเป็นชุลมุน กุมภวาก็ให้สัญญาณแก่ธงผา แล้วทันใดนั้นชาวไทที่ซุ่มอยูก็กรูเข้ามาตีขนาบทัพจิ๋น
ทหารจิ๋นตกใจยิ่งนักที่เห็นคนไทวิ่งออกมาจากพื้นดิน ซึ่งเสมือนเป็นที่ราบและเสียงคนไทก็แซ่ไปรอบด้าน ทหารจิ๋นต่างก็จะถอยหนีและในที่สุดก็เสียขบวน ถูกฆ่าตายเป็นอันมาก กุมภวาเห็นดังนั้นก็พอใจยิ่งนัก เขาหันไปกล่าวกับสีเภาว่า “ สีเภาเอย ณ เบื้องล่างนั้นสูเห็นแล้วว่าทัพเราทำลายทัพจิ๋นอยู่ และธงผากำลังนำชัยมาสู่เผ่าไท หากว่าเราทำลายเตียวเหลียงได้ในครั้งนี้จิ๋นจะไม่รบกวนไทอีกหลายชั่วคน แล้วไทที่แตกแยกกันอยู่ขณะนี้ก็จะมีเวลารวมกัน เพื่อความรุ่งเรืองของชาติไทต่อไป ”
แต่ในทันใดนั้นสีเภาเห็นกุมภวาสะดุ้งและตกตะลึงอยู่ชั่วขณะ สีเภาจึงกล่าวว่า “ กุมภวา ข้าไม่เคยเห็นสูมีอาการตกใจเช่นนี้เลย มีเหตุอันใดเกิดขึ้นหรือ ”
กุมภวาชี้ไปที่ชายป่าแล้วกล่าวว่า “ ทัพของซิฉุยมาถึงแล้ว ชัยชนะของเรากำลังกลายเป็นของจิ๋น สูจงคุมกองหลังอยู่ที่นี่ ”
แล้วกุมภวาก็ควบม้าเข้าไปในหมู่ทหารไทที่กำลังต่อสู้อยู่กับฝ่ายจิ๋น และเร่งให้ทหารของตนโจมตีหนักขึ้น
ฝ่ายเตียวเหลียงได้เห็นฝุ่นตลบขึ้นที่ชายป่าเช่นเดียวกัน เตียวเหลียงก็รู้ว่าทัพของซิฉุยมาใกล้แล้วจึงให้ทหารร้องบอกให้ทหารจิ๋นรู้ว่าทัพของซิฉุยมาถึงแล้ว ทหารจิ๋นเมื่อรู้ดังนั้นก็คุมกำลังเข้าตานทานทัพไทต่อไป มิใจที่จะถูกฆ่าฟันล้มตายเพียงใด
ในไม่ช้าทัพของซิฉุยก็ถึงลูกเนินและเข้าโจมตีด้านหลังของทัพธงผา ธงผาจึงขับม้าผละจากด้านหน้าซึ่งทหารของเขารบอยู่กับทหารของเตียวเหลียง และหันไปไล่ฆ่าฟันทหารของซิฉุยจนทหารของซิฉุยแตกกระจายไป แล้วเขาก็กลับมายันทางด้านเตียวเหลียงอีก ทหารของธงผาซึ่งกุมภวาหมายจะให้ขนาบทัพเตียวเหลียง บัดนี้กลับเป็นฝ่ายถูกขนาบและฝ่ายไทมีจำนวนน้อยกว่า ธงผาจึงต้องกลับมาช่วยด้านหลังอีก เขาขับม้าช่วยคนของเขาอยู่ทั้งสองด้านจนม้าหมดแรง เขาเรียกตัวใหม่ขึ้นขี่ไล่ฟันฝ่ายจิ๋นต่อไป และม้านั้นก็ล้มลงอีก ธงผาก็เรียกเอาตัวใหม่และเข้าสู้รบกับฝ่ายจิ๋นทั้งสองด้าน ที่ใดมีการต่อสู้มากธงผาจะเข้าไปที่นั่น และขับไล่ฝ่ายจิ๋นแตกกระจายไป แล้วธงผาก็จะไปช่วยฝ่ายไทที่อื่นต่อไป
ขณะนั้นซิฉุยกำลังขับคนของตนให้หนุนเนื่องเข้าไป เมื่อเห็นธงผาเช่นนั้นซิฉุยก็บอกนายกองซึ่งยืนม้าอยู่ข้าง ๆ ว่า “ จงดูคนไทคนนั้นเถิด เขาคือธงผา เขาเคยทำให้ทัพของงันสุยแตกตื่นมาแล้ว มาครั้งนี้สูเห็นหรือไม่ หากไม่มีใครขัดขวางฮวนผู้นี้ไว้ทัพของเราจะพ่ายเหมือนครั้งงันสุยอีก ”
เจ็งเอียวนายกองผู้หนึ่งจึงกล่าวว่า “ นั่นหรือธงผาที่ฆ่าเซ็กโป ข้าจะไปจัดการฮวนคนนี้เอง ”
แล้วเจ็งเอียพุ่งม้าไปพร้อมกับชูดาบเหนือหัว เมื่อเข้ามาใกล้ตรงที่ธงผากำลังสู้กับทหารจิ๋นอยู่ เจ็งเอียวร้องไปว่า “ ฮวนป่าสูรบกันทหารเลวของเราได้เท่านั้นหรือ มาลองดาบของข้าบ้าง ”
ธงผาพุ่งม้าไปยังเจ็งเอียว เขาแกว่งดาบอยู่เหนือหัวทหารทั้งไทและจิ๋นมองเห็นเหมือนธงผาถือดาบอยู่สี่เล่มพร้อมกัน และขณะที่เจ็งเอียวจะฟันลงมานั้น ดาบของธงผาก็ตัดลำตัวของเจ็วเอียวขาดเป็นสองท่อน แต่ยังคงทับกันอยู่เหมือนเดิม และแขนของเจ็งเอียวก็ยังเงื้ออยู่เช่นนั้น ต่อเมื่อม้าผงกขึ้น ร่างท่อนบนของเจ็งเอียวจึงร่วงมายังพื้นดิน
ธงผาหันไปขับไล่ทหารจิ๋นต่อไป และไทผู้หนึ่งกำลังถูกจิ๋นสองคนรุมอยู่ ธงผาก็เข้าไปแทงจิ๋น
คนหนึ่งตาย อีกคนหนึ่งหยิบหอกซัดที่ตกอยู่ที่พื้นดินแล้วพุ่งไปถูกแขนธงผา ธงผาพุ่งม้าเข้าไปยังจิ๋นนั้น แต่จิ๋นนั้นหลบไปอยู่หลังต้นไม้ และหลบธงผาไปมาอยู่โดยใช้ต้นไม้นั้นบัง ธงผาก็ยืนขึ้นบนโกลนแล้วเงื้อดาบฟัน ทั้งต้นไม้และคนจิ๋นที่หลบอยู่ขาดเป็นสองท่อน แล้วธงผาก็ไล่ฆ่าฟันทหาร
จิ๋นต่อไป ร่างของเขานั้นได้รับบาดแผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากคมอาวุธของฝ่ายจิ๋น
ทหารจิ๋นรับการฝึกมาโดยดีแล้ว และรู้ว่าฝ่ายตนขนาบทัพไทอยู่และมีกำลังเหนือกว่าจึงสู้รบฝ่ายไทต่อไป บางครั้งต้องถอยออกมาแต่ขบวนที่อยู่เบื้องหลังก็เข้ามาแทนที่ และพวกที่ถอยออกมานั้นจะตั้งขบวนใหม่และเข้าโจมตีฝ่ายไทต่อไปอีก
เมื่อแสงจากดวงตะวันยังมีอยู่ ทั้งสองฝ่ายก็รู้ว่าฝ่ายใดเป็นจิ๋น และฝ่ายใดเป็นไทและเขาก็ฆ่าฟันกันเพราะคิดว่าเขาแตกต่างกัน ครั้นดวงตะวันลับไปเขาไม่อาจเห็นได้ว่าใครเป็นเพื่อนและใครเป็นศัตรู ทั้งสองฝ่ายก็แยกกันและปล่อยให้ศพเกลื่อนอยู่ในท้องทุ่ง ผู้ที่บาดเจ็บก็เดินกลับมาบ้างก็ถูกหามกลับมา และธงผารวมอยู่ในหมู่คนที่บาดเจ็บสาหัส
ภายในค่ายฝ่ายไท แม้คนที่บาดเจ็บจะสิ้นชีวิตไปทีละคน แต่มิได้มีผู้ใดครางด้วยเสียงร้อง ทุกคนรู้อยู่ว่าธงผาผู้นำของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสมากและกำลังรอความตายอยู่
กุมภวานั่งข้างสหายรักของเขา และธงผามองดูเลือดที่หยดอยู่เรื่อย ๆ จากบาดแผล แล้วเขาพูดแก่กุมภวาว่า “ ทุกสิ่งกำลังแยกย้ายไปที่เดิมของมันแล้ว แต่ว่าก่อนที่ข้าจะหายใจครั้งสุดท้าย สูบอกข้าเถิดว่าคนไทจะเป็นอิสระต่อไปหรือจะเป็นทาสจิ๋นอีก จงบอกตามที่สูคิดเถิด สำหรับเพื่อนที่กำลังจะจากสูไป ”
กุมภวากล่าวว่า “ ธงผาเอย เราร่วมใจร่วมชีวิตกันมา ข้าไม่อาจปิดบังสูได้ บัดนี้เราจะรักษาแคว้นไทไว้ได้ยากแล้ว ครั้งนี้เราเสียหายเกินกว่าจะแก้ไขได้ ข้าจะถอยไปยังเมืองลือ ที่นั่นสูจะได้บุตรและภรรยาดูแลจนกว่าจะหายป่วย สูพยายามรักษาตัวไว้เถิด ”
ธงผาได้ฟังก็นิ่งอยู่ แล้วในที่สุดเขาพยุงกายขึ้นนั่ง กุมภวาห้ามไว้แต่เขามิฟัง แล้วเขากล่าวว่า
“ ข้าพอใจแล้วที่ได้ตายก่อนที่ชาวจิ๋นจะมาเป็นนายของข้า กุมภวาเอย เมื่อสูกลับไปยังเมืองลือ จงบอก รำพาภรรยาข้าให้พาบุตรไปทางใต้ให้พ้นจากอำนาจจิ๋น อย่าให้คนจิ๋นกวาดต้อนลูกไปเป็นทาสในแคว้นจิ๋นเลย ”
แล้วธงผาก็สิ้นใจขณะที่นั่งอยู่นั้น ทุกคนก็ก้มหน้านิ่งอยู่สักครู่หนึ่งกุมภวาเงยหน้าขึ้นกล่าวแก่คน ณ ที่นั้นว่า “ เมื่อใดเล่าคนไทจะมีผู้นำเช่นธงผาอีก เขาเหนือคนทั้งปวงในกำลังและฝีมือแต่หัวใจของเขาเมตตาเป็นที่สุด เขาเป็นหัวหน้าปกครองคน แต่ว่าเขาชังการใช้อำนาจ คนเช่นนี้ยากที่จะหาได้ ” แล้วกุมภวาก็จับร่างของธงผาให้นอนลง และทุกคนที่นั่นอาลัยต่อธงผายิ่งนัก
แล้วทัพไทก็ถอยไปยังเมืองลือ
๑๑...
เมื่อทัพไทถอยไปแล้วเตียวเหลียงกล่าวแก่ซิฉุยว่า “ บัดนี้ทัพไทเป็นเสือวิบากแล้ว แต่เยี่ยงเสือวิบาก ทัพไทจะสู้อีกเมื่อศัตรูเข้าไปใกล้ ข้าจะตามทัพไทไปยังเมืองลือ สูจงนำทัพของสูไปยังเมืองเชียงแส กุมภวาจะไม่อาจแยกทัพออกเป็นสองได้ จะปล่อยให้เชียงแสตัดสินโชคชะตาของตนตามลำพัง ”
ซิฉุยกล่าวว่า “ เหตุใดสูจะให้ข้าไปยึดเชียงแสเล่า หากว่าเราทั้งหมดตรงไปยังเมืองลือ เราจะยึดเมืองลือได้ กุมภวาไม่มีกำลังพอจะสู้เรา แล้วเชียงแสจะเป็นของเราโดยไม่ต้องสู้รบ ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ ซิฉุยเอย เรามาครั้งนี้มิได้ประสงค์จะฉกชิงเอาที่ดินของคนไท แม้เราจะมาด้วยดาบและด้วยอำนาจของกองทัพ แต่เราต้องการเป็นมิตรกับคนไท และต้องการให้คนจิ๋นรู้จักปกครองด้วยความดี เมื่อการศึกเสร็จแล้วเราจะให้คนไทอยู่ใต้การปกครองที่ไม่มีการแตกร้าวกันเอง ข้าอยากให้การปกครองของเราในแคว้นไทดีกว่าการปกครองที่คนไทใช้กันเอง สูจงไปที่เชียงแสเถิดและบอกชาวเมืองว่า ขอให้ทัพของสูได้พักในเมืองอย่างเพื่อน ถ้าชาวจิ๋นคนใดข่มเหงชาวเมืองสูจงประหารชาวจิ๋นผู้นั้นเสียด้วยมือของสูเอง สูจงไปสำแดงความดีของชาวจิ๋นให้ปรากฏไว้ที่เมืองเชียงแส แล้วต่อไปข้างหน้าแคว้นไทอื่น ๆ จะได้ไม่เกลียดอำนาจของจิ๋น และการปกครองของเราจะสะดวกขึ้น ”
แล้วเตียวเหลียงกำชับซิฉุยว่า “ สูอย่าให้ทหารจิ๋นทำอันตรายทรัพย์สินและร่างกายของชาวเมืองไม่ว่าชายหรือหญิง แม้แต่ข้าวหยิบมือเดียวก็อย่าขืนใจเอาของเขามา ”
ซิฉุยก็นำทัพของตนไปยังเชียงแส เตียวเหลียงนั้นนำทัพไปยังเมืองลือ ระหว่างทางเตียวเหลียงให้ทหารของตนหยุดบ้าง เพื่อซ้อมการต่อสู้ประชิดตัว
เมื่อซิฉุยมาถึงเมืองเชียงแส ซิฉุยให้ทหารสิบคนถือธงเข้าไปในเมือง ผู้ใหญ่ชาวเมืองทุกคนมานั่งพร้อมหน้าเพื่อฟังข่าวแล้วทหารจิ๋นกล่าวว่า “ เรามาครั้งนี้แม้ว่าจะถืออาวุธ แต่เรามาอย่างเพื่อน ขอให้ชาวเมืองเชียงแสต้อนรับเรา อันตรายใด ๆ แก่ร่างกายหรือทรัพย์สินของชาวเมืองเชียงแสจะไม่เกิดขึ้นจากทหารคนใดของเรา หากทหารจิ๋นคนใดทำอันตรายแก่ชาวเมืองไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ว่าแก่ร่างกายหรือทรัพย์สินซิฉุยแม่ทัพของเราจะประหารทหารจิ๋นผู้นั้นด้วยมือของเขาเอง ขอให้สูเปิดประตูเมืองต้อนรับเราอย่างเพื่อนเถิด อย่าได้ถือว่าสูกับเราเป็นคนต่างแดนกัน ”
ผู้ใหญ่ชาวเมืองเชียงแสก็กล่าวแก่คนจิ๋นทั้งสิบว่า “ เนื้อความที่สูนำมานี้เราจะแจ้งแก่ชาวเมือง หากเรายกธงขึ้นบนกำแพงเมืองและเปิดประตูเมืองเมื่อใดก็ให้ทหารจิ๋นรู้เถิดว่าชาวเมืองเชียงแสยอมให้ทัพสูเข้ามาในเมือง ”
แล้วคนจิ๋นกลับไปแจ้งแก่ซิฉุย ซิฉุยก็ให้ทหารของตนตั้งกระโจมไว้ชิดกำแพงเมือง โดยมิได้ทำการป้องกันค่ายแต่อย่างใด
อีกสามวันต่อมา ชาวเมืองเชียงแสชักธงขึ้นบนกำแพงเมืองนั้นมีหญิงมากมายเรียงรายอยู่ บางคนอุ้มลูกน้อยไว้ที่เอวและอีกจำนวนมากให้นมลูกและมองดูทหารจิ๋นเบื้องล่าง ซิฉุยจึงให้ทหารของตนรื้อกระโจมและเดินเข้าไปในเมือง ซุนเต็กนายกองจึงกล่าวแก่ซิฉุยว่า “ การเปิดประตูเมืองให้แก่ข้าศึกมีอยู่บ่อย ๆ ในการรบ และที่ใช้ผู้หญิงเป็นอุบายก็มีมาก แม้แต่ชาวจิ๋นเองก็เคยใช้อุบายเช่นนี้ คราวนี้ชาวเชียงแสอาจจะลวงให้เราเข้าไปติดกับก็เป็นได้ เราจะให้ทหารถืออาวุธเตรียมไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ”
ซิฉุยเอามือชี้ไปบนกำแพงเมืองและกล่าวแก่ซุนเต็กว่า “ ถ้าเราถืออาวุธเข้าไป ชาวเชียงแสจะไม่เชื่อว่าเรามาอย่างเพื่อน อนึ่งเล่าสูดูบนกำแพงเมืองนั้นเถิด ถ้าชาวเมืองเตรียมจะทำร้ายเราหญิงจำนวนมากจะให้นมลูกอยู่บนกำแพงเมืองหรือ ”
แล้วทหารจิ๋นก็เข้าไปในเมืองเชียงแส แต่แล้วทันใดนั้นชาวเมืองทั้งชายและหญิงก็เข้าทำร้ายทหารจิ๋นด้วยมีดบ้างไม้บ้าง สุดแต่ผู้ใดจะหาอะไรเป็นอาวุธได้ ทหารจิ๋นต้องดึงอาวุธของตนออกมาป้องกันตัว หญิงไทบ้างก็เอาฟืนจากในครัว ซึ่งติดไฟอยู่มาฟาดทหารจิ๋น หญิงที่อุ้มลูกอยู่บนกำแพงเมืองก็ร้องอยู่มิได้ขาดให้ช่วยกันทำร้ายทหารจิ๋น ซิฉุยเห็นเช่นนั้นก็เสียใจยิ่งนักและยกมืออ้อนวอนชาวเชียงแสให้หยุดทำร้าย แต่มิได้มีผู้ใดฟัง และกระโจมและสิ่งของที่ทหารจิ๋นนำเข้ามาก็ติดไฟ และไฟลุกลามไปยังบ้านเรือน ซิฉุยให้ทหารช่วยดับ แต่ชาวเชียงแสยิ่งเอาไม้โยนเข้าไปให้ไฟลุกลามมากขึ้น หญิงบนกำแพงพากันโยนลูกเข้าในกองไฟและตนเองเข้าทำร้ายทหารจิ๋น
ทหารจิ๋นไม่อาจจะทำอะไรได้นอกจากจะฆ่าฟันชาวเชียงแส ที่บางคนใช้มือสู้กับดาบเหมือนกับว่าทุกคนต้องการจะตายที่ตายด้วยอาวุธของทหารจิ๋นไม่ได้ก็พากันกระโจนเข้าไปในกองไฟ และเมืองเชียงแสก็ไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านจนหมดสิ้น นางคำดวงและสร้อยทองผู้เคยเป็นบ่าวของนางบุญฉวีนั้นนอนตายเคียงกันอยู่ ในหมู่หญิงเชียงแส
ทหารจิ๋นค้นได้คนเชียงแสที่รอดตายจากเพลิงได้สิบคน จึงนำตัวมายังซิฉุย ซิฉุยถามคนเชียงแสเหล่านั้นว่า “ เรามาครั้งนี้ประสงค์จะผูกมิตรกับชาวเชียงแส เหตุใดพวกสูจึงขืนต่อสู้เล่าโดยที่รู้แล้วว่าจะสู้ไม่ได้ ”
ชาวเชียงแสเหล่านั้นตอบว่า “ สูกล่าวว่าสูมาอย่างมิตร แต่เหตุไฉนจึงมีอาวุธมาพร้อมที่จะฆ่าพวกเราด้วยเล่า ”
ซิฉุยมิรู้จะกล่าวตอบประการใด ได้แต่หันไปยังซุนเต็กและกล่าวว่า “ เตียวเหลียงประสงค์จะทำความดี แต่ใครบ้างที่จะทำความดีด้วยดาบได้ ”
แล้วซิฉุยสั่งให้ทหารดูแลชาวเชียงแสทั้งสิบนั้นเป็นอันดี แต่ในคืนนั้นทั้งสิบคนก็หลบหนีไปสิ้น
แล้วซิฉุยให้เดินทัพข้ามลำน้ำกลับไปยังเมืองลือและให้ม้าเร็วล่วงหน้าไปยังเตียวเหลียง เตียว
เหลียงเมื่อได้ทราบว่า ชาวเชียงแสไม่ยอมเป็นเพื่อนกับตนและกลับฆ่าตัวตายหมดสิ้นก็เศร้าใจยิ่งนัก และเตียวเหลียงให้เดินทัพไปโดยไม่รีบร้อน
๑๒...
เมื่อข่าวไปถึงกุมภวาว่าชาวเมืองเชียงแสเผาเมืองและผู้คนตายจนหมดสิ้น กุมภวาหันหน้าไปจากผู้ส่งข่าวและก้มหน้านิ่งอยู่น้ำตาร่วม ในที่สุดเขากล่าวแก่เพื่อนที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ว่า “ ให้เราออกไปทำการรบนอกเมืองเถิด หญิงและเด็กจะได้ไม่เดือดร้อน ”
แล้วกุมภวาก็นำทัพออกไปนอกเมืองย้อนขึ้นไปหาทัพเตียวเหลียง ครั้นถึงทางเหนือของ
ทะเลสาบ ตรงนั้นเป็นที่ต่ำมีบึงเล็กบึงน้อยอยู่ทั่วไป กุมภวาจึงให้ตั้งมั่นอยู่ ครั้นรุ่งขึ้นกุมภวากล่าวแก่สีเภาว่า “ เย็นนี้ทัพเตียวเหลียงจะมาถึง เราจะสู้ทัพของเตียวเหลียงที่นี่ เพราะว่าที่ตรงนี้ดินไม่เป็นผืนเดียวกัน การรบจะเป็นการต่อสู้ประชิดตัว เมื่อทัพเตียวเหลียงมาถึงเราจะโจมตีทันที เราอาจจะทำลายทัพเตียวเหลียงได้ แต่ว่าสีเภาเอย สูได้เห็นแล้วว่าในกิจการของมนุษย์มีความไม่แน่นอนอยู่เป็นส่วนใหญ่ ถ้าการรบวันนี้ผิดจากความคาดหมายของเรา และบังเอิญเรามิได้พบกันอีก สูจงบอกข้าเถิด ระหว่างการหนีกับความตายอย่างที่ชาวเมืองเชียงแสยอมทั้งเมืองนั้น สูจะเลือกเอาทางใด ”
สีเภากล่าวว่า “ ข้ารู้ว่าครั้งนี้หากเราเอาชนะไม่ได้ โอกาสที่เราจะทำลายทัพจิ๋นจะไม่มีอีกแล้ว และไทจะต้องขึ้นต่อจิ๋นอีกครั้งหนึ่ง หากเราพ่ายในครั้งนี้ ข้าจะขอตายตามเพื่อนของเราที่ตายไปแล้วในการต่อสู้เพื่อความเป็นไท ข้าจะไม่หนีไปฟังข่าวความเป็นทาสของแคว้นไทอีก ”
กุมภวากล่าวแก่เพื่อนรักของเขาว่า “ สีเภา ในการลุกขึ้นต่อสู้อำนาจที่กดขี่นั้น บางคนก็ทำสำเร็จ บางคนก็พิบัติไปในความพยายามนั้น เป็นดังนี้มาในกาลก่อนและจะเป็นดังนี้ต่อไปในกาลข้างหน้า หากว่าในครั้งนี้เราทำไม่สำเร็จเราไม่มีเหตุจะเสียใจ เพราะว่าที่เราทำการครั้งนี้เราสมัครใจที่จะทำ แต่ว่าสีเภาเอย การทำลายตนเองเป็นการพ่ายโดยแท้ ข้าขอร้องสูอย่าทำเช่นนั้นเลย เพื่อว่าในยามวิบากเช่นนี้สูจะนำเพื่อนไทของเราต่อสู้ต่อไปอีก และหากว่าในการรบครั้งนี้ โชคชะตาไม่เห็นแก่ฝ่ายเรา และข้ามีอันเป็นไป ข้าขอให้สูนำคนไทอพยพไปทางใต้ ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ให้ไกลจากอำนาจของจิ๋นและข้าอยากจะได้เห็นเมืองเชียงแสเกิดขึ้นใหม่แทนเชียงแสของเราที่กลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว ”
แล้วสหายทั้งสองก็แยกกันไปยังทัพของตนเพื่อสู้กับทัพจิ๋นเป็นครั้งสุดท้าย
เมื่อทัพเตียวเหลียงมาใกล้ทะเลสาบ ทัพไม่อาจจะเดินเป็นขบวนรวมกันได้ เพราะบึงหนองและแหล่งน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ กีดขวาง และกองตระเวนมาแจ้งแก่เตียวเหลียงว่า ทัพไทรออยู่ข้างหน้า เตียว
เหลียงก็ให้ทิ้งเสบียงและสัมภาระไว้ และให้ทหารมุ่งเดินหน้าไปยังทัพไท จงหวนนายกองม้าจึงกล่าวแก่เตียวเหลียงว่า “ สูทิ้งเสบียงไว้ข้างหลังเช่นนี้ถ้าฝ่ายไทเข้าโจมตีแย่งชิงเอาไป เราจะเดินทัพอยู่ในแคว้นไทได้อีกนานเท่าใดเล่า จะมิเสียทีแก่ข้าศึกหรือ ”
เตียวเหลียงกล่าวว่า “ จงหวน สูรู้อยู่แล้วว่าผู้ชนะย่อมหาเสบียงได้เสมอ และสำหรับผู้แพ้ เสบียงจะมีประโยชน์อันใดเล่า ในพื้นที่ข้างหน้านั้นเราจะชนะ เพราะจำนวนของเราเหนือกว่า พลช่วยรบของเราก็ฝึกการรบประชิดตัวไว้ไม่น้อยกว่าพลรบ ดังนั้นขอให้การสู้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเถิดที่เราจะพบกับกุมภวา ”
แล้วเตียวเหลียงก็นำทัพมุ่งไปข้างหน้า เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกัน การรบเป็นการต่อสู้อย่างประชิดตัว ไม่มีฝ่ายใดตั้งขบวน ณ ที่นั่นได้ และที่แถบนั้นลื่นมาก การรบสับสนยิ่งขึ้น เตียวเหลียงถูกฝ่ายไทรุมรอบด้านและถูกแทงด้วยหอกซัดที่สีข้าง และคนไทคนหนึ่งฟันเตียวเหลียงด้วยขวานถูกไหล่ แต่เตียวเหลียงแทงคนไทผู้นั้นตาย ทหารจิ๋นอื่น ๆ ก็เข้ามาช่วยเตียวเหลียงต้านทานการโจมตีของฝ่ายไท
เมื่อตกเย็นทั้งสองฝ่ายถอยออกมาและทิ้งร่างไร้ชีวิตของทหารฝ่ายตนไว้เบื้องหลังเป็นอันมาก
กุมภวาถูกหามมาพร้อมกับคนไทอื่น ๆ ที่บาดเจ็บสาหัส และภายในกองทัพไทคืนนั้นทุกคนมีสีหน้าเป็นห่วง เมื่อรู้ว่ากุมภวาพ่อเมืองของเขาต้องอาวุธสาหัส
กุมภวาให้เรียกทหารทั้งปวงมาชุมนุมเบื้องหน้าเปลนอนของเขาแล้วให้พยุงตัวเขาขึ้น บัดนี้กำลังของฝ่ายไทเหลือไม่พอที่จะเรียกได้ว่าเป็นกองทัพ กุมภวาจะกล่าวแก่คนไททั้งปวงเบื้องหน้าเขา แต่เขาหมดกำลังที่กล่าวด้วยเสียงให้ได้ยินกันทั่วไป เขาจึงให้คนไทคนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างเขากล่าวแก่คนไททั้งปวงตามคำของเขาดังนี้
“ เพื่อนไททั้งหลาย ข้าจะพูดแก่สูไม่ได้มาก ข้ารู้อยู่ว่าสูจะต่อสู้ต่อไปเพื่อจะอยู่หรือตายด้วยความเป็นไท แต่ชะตากำหนดมาให้เราอยู่ใกล้กับเผ่าอื่นที่มีกำลังคนเหนือกว่ามากนัก เผ่านั้นคือเผ่าจิ๋น เสือในป่าจะล่าต่อเมื่อหิว แต่ขุนทัพของจิ๋นนั้นจะล่าเราตลอดไป การรุกรานจากขุนทัพของจิ๋นนั้นเราจะยับยั้งได้ก็ด้วยการสู้จนสิ้นเผ่าไทเท่านั้น ดังที่ชาวเชียงแสทำไปแล้วเพื่อนไททั้งหลายดินแดนทางใต้ลงไปจนจดทะเลยังมีแผ่นดินว่างอยู่ จงอพยพไปที่นั่นเถิด ”
ชาวไททั้งปวงก็นิ่งอยู่ บางคนก็ร้องไห้ กุมภวาจึงกล่าวต่อไปว่า “ จงร้องไห้เถิดที่คนไทยังรวมกันไม่ได้ ทำให้เราถูกย่ำยีเรื่อยมา แต่สูอย่าได้ท้อใจที่สูไม่รู้ว่าข้างหน้าเมื่ออพยพไปแล้วจะเป็นอย่างไร แม้สูจะลำบากในการไปหาดินแดงใหม่ แต่สูจะได้กำหนดโชคชะตาของสูเอง ถ้าสูจะอยู่ที่นี่ คนอื่นจะมากำหนดโชคชะตาให้ จงอพยพไปเถิด ”
แล้วกุมภวาหันไปกล่าวแก่สีเภาว่า “ ข้าต้องลาสูและเพื่อนไทไปแล้ว แต่ข้าหวังว่าสูจะนำเพื่อนไทถอยลงไปทางใต้ ”
๑๓...
ในคืนเดียวกันนั้นในค่ายของจิ๋นขณะที่ทหารกำลังพยาบาลบาดแผลที่ไหล่ของเตียวเหลียงอยู่นั้น จิ๋นคนหนึ่งนำผ้าคาดเอวผืนหนึ่งมาให้ เตียวเหลียงเอาผ้ามาถือไว้แล้วถามว่า “ เหตุใดสูเอาผ้าผืนนี้มาให้ข้า ”
จิ๋นคนนั้นบอกว่า “ วันนี้ในสนามรบข้าปะทะกับหนุ่มไทคนหนึ่ง เราสู้กันประชิดตัว หนุ่มคนไทคาดผ้าผืนนี้ที่เอว ข้าเอาชนะหนุ่มผู้นี้ได้เพราะการฝึกที่เราได้รับตลอดมา เมื่อหนุ่มผู้นี้ล้มลงเขาปลดผ้าคาดเอวนี้ให้ข้า บอกให้ข้านำมาให้สู เขาพูดก่อนจะสิ้นใจว่าสูเป็นเพื่อนของเขา ”
เตียวเหลียงปิดตาของเขา เขาจำได้ดีถึงเวลาเมื่อเขานำเด็กไทห้าสิบคนมายังลำน้ำลู เพื่อแลกกับเชลยฝ่ายจิ๋น เด็กเล็กคนหนึ่งในห้าสิบคนนั้นป่วยและเขาได้ดูแลเด็กนั้นจนหายเป็นปกติ เด็กนั้นจะนั่งบนหลังม้าและเขาจะเดินจูงม้าให้เด็กนั้น และทั้งสองได้เป็นเพื่อนสนิทกัน เขาจะได้ดีถึงเวลาที่เด็กไททั้งหมดแยกไปจากเขาเพื่อกลับยังเมืองลือ พันน้อยเด็กเล็กผู้นี้ เมื่อไปถึงของน้ำ ได้วิ่งกลับมาขอของที่ระลึกจากเขาก่อนที่จะจากไป และบอกเขาว่าจะคืนให้เมื่อเขากลับมาแคว้นไทอีก เขาได้ปลดผ้าคาดเอวมาให้เขาตามคำที่บอกเขาไว้ แต่ว่าเด็กไทผู้นี้ซึ่งถือเขาเป็นเพื่อนตลอดมาได้ตายเสียแล้วในการต่อสู้กับกองทัพที่เขาเป็นผู้นำมาเพื่อยึดแคว้นไท
เตียวเหลียงก้มหน้าคิดถึงพันน้อยอยู่ที่นั่น และเขาคิดถึงการรบที่เขาต้องมาทำกับแคว้นไท
รุ่งขึ้นทั้งสองฝ่ายและฝ่ายจิ๋นก็เก็บศพของฝ่ายตน และในคืนนั้นฝ่ายไทเลือกสีเภาเป็นหัวหน้าสืบต่อจากกุมภวา สีเภาจึงกล่าวแก่ชาวไททั้งปวงว่า “ เมื่อกุมภวายังอยู่ ชาวไทก็ยังอบอุ่น เราจะหาพ่อเมืองเช่นกุมภวานั้นหาได้ยากแล้ว เขาตายครั้งนี้ด้วยความสมัครใจเพื่อเราจะได้ทำตามที่เขาขอร้องให้เราอพยพลงไปทางใต้ให้พ้นการรุกรานของจิ๋น เขานำเราต่อสู้ เพื่อความเป็นไทของแผ่นดินนี้แต่เมื่อเขาทำไม่สำเร็จ เขาก็ยอมตายเช่นเดียวกับคนไทอีกมากที่ตายไปแล้วในการต่อสู้ เพื่อความเป็นไท แต่ว่าเพื่อนไททั้งหลายชาติไทที่อิสระจะต้องมีอยู่ใต้ฟ้านี้ เมื่อเราอยู่อย่างอิสระที่นี่ไม่ได้แล้ว เราจงอพยพไปที่อื่นเถิด แต่เราจงไปหาดินแดนใหม่ทางใต้ ไปตั้งชาติไทที่อิสระขึ้นใหม่ที่นั่น ”
ชาวไททั้งปวงก็ยินยอม ในคืนนั้นสีเภาก็ถอนทหารที่เหลือเพียงหกพันรีบตรงไปยังเมืองลือและให้ม้าเร็วไปแจ้งแก่นางสร้อยสนภรรยาตนที่เมืองข่านุให้อพยพชาวเมืองไปสมทบที่เมืองลือ ส่วนเมืองอื่น ๆ สีเภาให้นายกองไปชักชวนบางเมืองก็อพยพไปมาก บางเมืองก็อพยพน้อย คนที่รักถิ่นเดิมก็คงอยู่ คนที่รักอิสรภาพยิ่งกว่าดินแดนหรือที่กลัวจะถูกจับไปเป็นทาสในแคว้นจิ๋น หรือกลัวความกดขี่และความทารุณเหมือนครั้งลิตงเจีย ก็พาครอบครัวอพยพไป
สีเภาแจ้งข่าวแก่ชาวลือถึงคำของกุมภวาที่กล่าวไว้ก่อนสิ้นใจ ชาวลือรักกุมภวาเสมือนพ่อเมือง และเมื่อรู้ว่าเมืองลือจะต้องเสียท่าแก่จิ๋นแน่แล้วก็เต็มใจอพยพทั้งสิ้น
ครั้งนั้นคนไทเดินทางออกจากแผ่นดินเดิมของเขาแปดหมื่นห้าพัน เมื่อพ้นประตูเมืองแล้ว ขุนยวมเจ้าเมืองยูโรกล่าวแก่สีเภาว่า “ บัดนี้ชาวเมืองอพยพออกจากเมืองหมดสิ้นแล้ว เราเผาเมืองเสียมิดีกว่าหรือ ศัตรูจะได้เข้าไปอาศัยไม่ได้ ”
สีเภาตอบว่า “ ขุนยวมเอย เมื่อเรายอมทิ้งแผ่นดินนี้ศึกระหว่างเรากับจิ๋นก็เป็นอันสิ้นสุด ถ้าเราเผาเมือง เตียวเหลียงจะถือว่าเรายังต่อต้านอยู่ แล้วเขาจะตามโจมตีเราตามทางได้ อนึ่งสูคิดหรือว่าคนไทออกจากเมืองหมดแล้ว ”
เมืองลือมีลำน้ำอยู่ทางเหนือและใต้ของตัวเมือง คนไทพากันเดินข้ามลำธารน้ำทางใต้ไป นางสร้อยสนภรรยาของสีเภาและนางรำพาภรรยาม่ายของธงผาก็จูงบุตรน้อยลุยน้ำไป มีห่อผ้าและเสบียงสะพายหลังไว้ และนางรุ่งภรรยาม่ายของกุมภวานั้นเดินไปในหมู่หญิงอื่น ๆ พร้อมกับบุตรของนาง
เมื่อถึงกลางลำธาร ผ้าคลุมหัวของนางสร้อยสนถูกลมพัดปลิวไปตกในลำธาร และลอยตามกระแสน้ำไป บุตรของนางมองตามไปแล้วเอ่ยกับมารดาว่า “ ผ้าคลุมหัวของแม่ลอยไปแล้วจะปะทะกับโขดหินเข้าเมื่อใดก็ไม่รู้ จะจมลงใต้ลำธารเมื่อใดก็ไม่รู้ เราเองจะมีโชคชะตาเหมือนผ้าผืนนั้นหรือเปล่า แม่ ”
นางสร้อยสนตอบบุตรว่า “ ลูกเอ๋ย ผ้าผืนนั้นไม่มีอำนาจสู้กำลังของลมของน้ำ มันจะจมลงใต้ลำธารเมื่อใดก็ได้ แต่เราไม่ยอมอยู่อย่างยถากรรมเหมือนผ้าผืนนั้น เราไม่ยอมนิ่งเฉยยอมรับอำนาจที่มาบังคับเรา เราจึงอพยพจากดินแดนนี้เพื่อหาที่อยู่ใหม่ข้างหน้า ลูกเอ๋ย อย่าได้ท้อใจเลย เรารู้ว่ากำลังทำอะไร และด้วยใจเช่นนี้ เราจะไม่จมลงเหมือนผ้าผืนนั้น ”
นอกเมืองลือออกไปนั้นผืนดินลุ่ม ๆ ดอน ๆ เมื่อพ้นลำธารน้ำไปเล็กน้อย ชาวไทที่อพยพก็มาถึงลูกเนินและบนยอดเนินนี้มีเสาหินปักอยู่ ขบวนของผู้อพยพมาหยุดอยู่ที่นี่ และเมื่อคนไทมองไปยังขอบฟ้าข้างหน้า เขาเห็นทิวเขาเป็นพืดยาวที่เขาจะต้องเดินข้ามไป และจะไปที่ใดเขายังไม่รู้ เมื่อเขาเหลียวไปเบื้องหลังเขาเห็นบ้านเรือนที่เขาสร้างไว้ ภายในเมืองที่เคยป้องกันลมหนาวให้เขาได้ แต่ว่าตั้งแต่นี้ไปเขาจะเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง จะไม่มีฝาเรือนมากั้นลมหนาวให้แก่ครอบครัวของเขา และเมื่อใดเขาจะมีหลังคากั้นระหว่างเขากับน้ำค้างและน้ำฝนจากฟ้าเขาก็ไม่รู้ และเขาเห็นทางน้ำทั้งสองที่ไหลผ่านตัวเมืองทั้งเหนือและใต้ เขาทั้งครอบครัวเคยได้ใช้ทางน้ำทั้งสองนี้ตลอดปี เหมือนว่าทางน้ำทั้งสองเป็นพี่เลี้ยงที่ถนอมเขามาตั้งแต่เยาว์ หลังตัวเมืองออกไปอีกฟากหนึ่งน้ำในทะเลสาบกำลังเป็นระลอกขึ้นลงเหมือนว่าจ้าวแม่แห่งทะเลสาบกำลังสะอื้น เพราะถูกพวกเขาทอดทิ้ง
บัดนี้ถ้าเขาผ่านเสาหินและลงลูกเนินไป ทุก ๆ สิ่งในดินแดนนี้จะเป็นแต่ความหลังให้เขานึกถึง และข้างหน้าของเขานั้นเขาไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร และจะมีดินแดนใดที่พวกเขาทั้งหมดนี้จะไปอยู่ได้
คนไททั้วปวงก็หยุด ณ ที่นั่น ไม่ยอมผ่านเสาหินไป
สีเภาชูดาบขึ้นสูงแล้วฟาดลงมา เสาหินขาดเป็นสองท่อน เขาหยิบขึ้นมาท่อนหนึ่ง แล้วโยนลงไปอีกด้านหนึ่งของลูกเนินและกล่าวว่า “ เราไม่มีอะไรเหลืออีกแล้วในดินแดนนี้ จงเดินต่อไปเถิด ”
แต่คนไท ณ ที่นั่นไม่เดินต่อไป
สีเภาหันไปยังคนไททั้งปวงที่อยู่เบื้องหลัง แล้วเขาชี้ไปยังเมืองลือ และกล่าวว่า
“ ในดินแดนนี้ เราเคยอยู่อย่างคนเท่าเทียมกัน แต่ว่าตั้งแต่นี้ไปจะมีคนอื่นเข้ามาอยู่อย่างผู้เป็นนาย ถ้าเราอยู่ต่อไปที่นี่ เราจะต้องก้มหน้าอยู่ตลอดเวลาเมื่อพูดกับนายของเรา ลูกหลานของเราที่ไม่เคยรู้จักความเป็นทาสก็จะต้องเป็นทาสต่อจากเรา เพื่อนไททั้งหลายสูจะยอมทิ้งแผ่นดินเพื่อความเป็นไท หรือสูจะทิ้งความเป็นไทเพียงเพื่อจะอยู่ในบ้านเก่าของตน ”
แต่คนไททั้งปวงยังเหลียวมองบ้านเดิมของตนอยู่ ไม่เดินต่อไป
ในขณะนั้นบุตรน้อยของธงผาก็อ้อนวอนผู้เป็นมารดาว่า “ แม่กลับไปบ้านเถิด พ้นภูเขาข้างหน้าเราไม่รู้ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด แม่พาข้ากลับไปบ้านเถิด ” แล้วเขาก็ดึงมือมารดาเพื่อให้กลับไป
นางรำพากล่าวแก่บุตรว่า “ ลูกเอ๋ย พ้นภูเขาข้างหน้าถูกแล้วเราไม่รู้ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด แต่ข้างหน้าโน้นลูกจะไม่ถูกพรากไปจากแม่ ถ้าเรากลับไปบ้าน ทหารจิ๋นในไม่ช้าจะรู้ว่าข้าเป็นเมียของธงผาและสูเป็นลูก แล้วเขาจะเอาสูไปเป็นทาสในไร่ ข้าเองจะถูกพรากไปทำงานในบ้านขุนนางจิ๋น เราแม่ลูกจะไม่ได้เห็นกันอีกที่บ้านนายของข้า เพื่อนที่มาเยี่ยมนายของข้าจะมายืนดูขณะข้าซักผ้าให้นายแล้วเขาจะพูดกันว่านี่เป็นเมียของธงผาแห่งแคว้นลือ ลูกเอ๋ยข้าจะปวดร้าวใจเพียงใด ก่อนพ่อตาย พ่อสั่งไว้ให้ข้ากับลูกไปให้พ้นอำนาจของจิ๋น จงทำตามคำของพ่อเถิด ”
แล้วนางรำพาก็จูงบุตรน้อยแหวกกลุ่มคนที่ยืนเฉยอยู่นั้น และเดินลงเนินไปข้างหน้า
บางคนเห็นแม่ลูกเดินไปโดยลำพังเช่นนั้นก็ไม่อาจจะยืนเฉยอยู่ได้จึงเดินตามไป แล้วในที่สุดขบวนทั้งหมดก็เดินทางต่อไปยังขอบฟ้าข้างหน้า
๑๔...
เมื่อทัพไทถอยไปแล้ว เตียวเหลียงมิได้ติดตามไปแต่ให้ทัพหยุดพักอยู่ และให้ทำพิธีศพให้แก่ทหารที่เสียชีวิต ส่วนที่เจ็บป่วยก็ให้รักษาอยู่จนกว่าจะหาย และเตียวเหลียงกล่าวแก่เตียวลกว่า “ ฝ่ายไทจะไม่ทำศึกกลางแปลงกับเราแล้ว ยังเหลือแต่ว่าเขาจะป้องกันเมืองลือด้วยวิธีใดเท่านั้น ขอให้สูนำกองม้าสามร้อยล่วงหน้าไปลาดตระเวณ ในระหว่างทาง ถ้าพบว่าบ้านใดเจ้าของบ้านละทิ้งเพราะกลัวคนของเรา ก็ให้คนของเราดูแลทรัพย์และไร่นาของบ้านนั้นให้ดี และเมื่อเราจะเอาแพะ แกะ หรือสัตว์เลี้ยงของบ้านใดหรือผักจากไร่ใด และไม่พบเจ้าของ ก็จงวางเงินไว้ให้เขาให้คุ้มกับราคาของ อย่าได้เอาอะไรมาเปล่าเป็นอันขาด ”
เตียวลกก็นำกองม้าสามร้อยเดินทางล่วงหน้าไป อีกสองวันก็มาถึงริมทะเลสาบทางตอนใต้ ตรงนั้นทางด้านบกเป็นลาดเขามีมูลดินเป็นอันมากเรียงรายขึ้นไปข้างบน เตียวลกให้คนออกสืบก็ได้รู้ว่าคนไทที่ตายในการรบคราวที่แล้วทั้งหมด ถูกฝังอยู่ใต้มูลดินเหล่านี้ เตียวลกก็สั่งให้กองม้าของตนเดินต่อไป แต่พอกองม้าจะผ่านมูลดินอันมากมายนั้น ม้าทั้งสามร้อยก็หยุดไม่ยอมเดินต่อไปแล้ว ทันใดนั้นอากาศซึ่งปลอดโปร่งตลอดมา ก็กลายเป็นหมอกทึบคลุมจากมูลดินไปจนจดขอบทะเลสาบ แล้วม้าทั้งปวงก็ร้องขึ้นเหมือนมีความกลัวยิ่งนัก เตียวลกนำหน้ากองม้าของตนอยู่ เขาจะขึ้นม้าของเขาเท่าใด ม้าก็ไม่ยอมก้าวไป เตียวลกก็ร้องบอกทหารของตนว่า “ เราทำศึกมาแล้วเท่าใด เราไม่เคยย่อท้อ เราไม่เคยกลัว เพียงหมอกทึบนี้เราจะกลัวหรือ จงขับม้าไปให้ได้ ”
แต่ม้าทั้งปวงก็ยังคงยืนเฉยอยู่ เมื่อตัวใดถูกลงแช่ ตัวนั้นก็จะร้องขึ้น แต่ไม่ยอมเดินต่อไป เตียวลกจึงร้องบอกทหารของเขาว่า “ เมื่อม้าของเราไม่ยอมเดินฝ่าหมอกโดยดี เราจงถอยไปก่อนแล้วพุ่งเข้ามา เราเคยโจมตีทัพไทมามากต่อมากแล้ว หมอกเพียงเท่านี้เราจะยอมแพ้หรือ ”
แล้วกองม้าของเตียวลกก็ถอยออกมาห่างจากหมอกทึบนั้นสิบเส้น ขณะที่หยุดอยู่ที่นั่น เตียวลกก็หันไปทางไหล่เขาและร้องขึ้นว่า “ เป็นผีแล้ว ยังจะสู้อีก ” ทันใดนั้นเสียงสะท้อนจากไหล่เขาก็ดังก้องมาว่า “ เป็นผีแล้ว ยังจะสู้อีก เป็นผีแล้ว ยังจะสู้อีก ” ทหารของเตียวลกก็มีความกลัวยิ่งนัก ตันซูที่ยืนม้าอยู่ข้างเตียวลกจึงกล่าวแก่เตียวลกว่า “ ทหารและม้าของเราขวัญเสียหมดแล้ว ไม่มีใครยอมขับม้าเข้าไปในหมอกข้างหน้า เราหยุดทัพที่นี่ก่อนเถิด พรุ่งนี้จึงค่อยเดินทางต่อไป ”
เตียวลกก็ยินยอม และเมื่อทหารจิ๋นลงจากหลังม้าแล้ว หมอกทึบก็หายไป คนของเตียวลกก็มีความกลัวยิ่งกว่าเดิม
ครั้นวันรุ่งขึ้น เตียวลกสั่งให้กองม้าเดินทางต่อไป แต่พอมาถึงไหล่เขาที่มีหลุมศพ ม้าก็ไม่ยอมเดินต่อไปอีก เตียวลกเห็นทั้งคนทั้งม้ามีความกลัวเป็นอันมากเช่นนั้น จึงถอยออกมาให้ตั้งพักอยู่ก่อน และให้ม้าเร็วไปแจ้งแก่เตียวเหลียง
อีกหลายวันทัพเตียวเหลียงจึงมาถึง เตียวลกจึงเล่าให้ฟังว่ากองม้าของตนไม่ยอมผ่านหลุมศพของคนไทที่ตายไปในการรบคราวที่แล้ว เตียวเหลียงจึงบอกว่า “ ศพเหล่านี้เพิ่งถูกฝังเมื่อเร็ววันนี้และเป็นจำนวนมาก เราไม่ควรจะผ่านเขาไปโดยไม่ให้ความเคารพแก่เขา ”
แล้วเตียวเหลียงก็ให้คนของเขาสกัดหินจำนวนมาก มาสร้างศาลขึ้นที่ริมทะเลสาบหน้าหลุมศพเหล่านั้น เป็นศาลกว้างหกวา สูงห้าวา ลึกแปดวา ภายในศาลมีแท่นบูชา แล้วเตียวเหลียงให้เอาดอกไม้ป่าไปวางที่แท่นบูชาทุกวัน
เตียวเหลียงให้คนออกสืบก็รู้ว่ากุมภวาตายในการรบคราวที่แล้ว เขาจึงให้คนออกสืบอีกว่ากุมภวาและพันน้อยถูกฝังใต้มูลดินใด คนสืบข่าวกลับมาแจ้งว่าคนไททุกคนที่สิ้นชีวิตในการรบคราวที่แล้วถูกฝังเหมือนกันหมด ไม่มีใครรู้ว่าใครอยู่ใต้มูลดินใด เตียวเหลียงก็กล่าวแก่ตนเองว่า “ กุมภวาเอย แม้เมื่อสิ้นชีวิตแล้วสูยังไม่ยอมให้ข้าทำอะไรให้สูเป็นส่วนตัว ”
ในตอนดึกของคืนนั้น ขณะที่เตียวเหลียงอ่านหนังสือเรื่องราวของโมตีอยู่ มีเสียงเรียกมาจากข้างนอกว่า “ เตียวเหลียงออกมาข้างนอกเถิด ” เขาก็ลุกออกไป ขณะนั้นเดือนสว่าง เขาไม่เห็นใคร เห็นแต่มูลดินมากมายที่เรียงรายอยู่เบื้องหน้าดูไม่ผิดจากคนนอนนิ่งอยู่ มีผ้าคลุมตลอดร่าง เตียวเหลียงร้องถามไปว่า “ สูอยู่ไหน ” แต่ไม่มีใครตอบ แต่มีเสียงสะท้อนมาจากไหล่เขาว่า “ สูอยู่ไหน สูอยู่ไหน ”
จนเสียงนั้นค่อยเงียบหายไป
แล้วเตียวเหลียงก็เดินไปหยุดอยู่ระหว่างมูลดิน แล้วกล่าวขึ้นว่า “ กุมภวาเอย ข้าไม่รู้ว่าสูอยู่ที่ใด ข้าไม่รู้ว่าใต้มูลดินนี้พันน้อยเพื่อนข้าที่ป้องกันบ้านเมืองของเขาอยู่ที่ใด สูอยากให้ข้าตายเพราะข้ามารุกรานแผ่นดินของสู ส่วนข้าอยากให้สูอยู่เพื่อข้าจะแสดงน้ำใจต่อสูได้บ้าง แต่สูไม่ให้โอกาสข้ากุมภวาเอย ทั้งเมื่อมีชีวิตและเมื่อสิ้นสุดชีวิตแล้ว สูโชคดีกว่าข้าเสมอ เมื่อมีชีวิต สูทำงานได้ตามใจสมัคร แต่ข้าต้องทำงานตามที่ผู้อื่นกำหนดให้ทำจะเลือกเองมิได้ ในการสิ้นสุดแห่งชีวิตของสูนั้นเล่า ไม่มีความสูญ ความตายของสูเป็นเพียงอีกขั้นหนึ่งของงานที่สูทำตลอดมาเพื่อบ้านเมืองของสู เป็นขั้นที่คนดีทุกคนอยากก้าวไปถึง คนข้างหน้าจะเอาชีวิตและความตายเช่นนี้เป็นแบบอย่างของผู้มีความสุข แต่ชีวิตและความตายเช่นของข้าจะไม่เป็นแบบอย่างแก่ใคร ”
วันรุ่งขึ้น เตียวเหลียงก็ไปยังบแท่นบูชาแล้วกล่าวขึ้นว่า “ คนไททั้งหลายที่ร่างนอนอยู่ใต้ดินเบื้องหน้านี้จงฟังเราเถิดก่อนหน้านี้เราเป็นคู่ศึกกัน แต่เวลานี้สูสิ้นชีวิตแล้วในการป้องกันบ้านเมืองของสู เราจึงตั้งศาลนี้ไว้เพื่อระลึกถึงความดีทั้งปวงที่สูได้ทำไว้ ”
“ ศาลนี้ แท่นบูชานี้ ไม่อาจจะทำให้สูฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ และสูจะต้องเจ็บแค้นที่ชีวิตของสูมาหยุดลงในเวลาที่สูควรจะได้อยู่และมีความสุขเช่นที่ชีวิตทั้งปวงจะมีได้ และพ่อแม่พี่น้องลูกเมียของสูจะต้องเสียใจที่สูจากเขาไป ”
“ แต่ใครเล่าจะไม่ตาย เมื่อสูตายไปก่อนในการทำงานเพื่อบ้านเมืองและเพื่อคนอื่นที่อยู่ข้างหลัง คนที่ยังอยู่ก็จะได้ยกย่องสูทั้งมิตรและศัตรูก็จะคิดถึงสู เพราะสูทิ้งแบบอย่างของชีวิตไว้ให้เขายกย่อง เราจะไม่กล่าวถึงความดีของสูเพียงเพื่อจะกลบความโหดร้าย และความทุกข์ทั้งปวงที่ทัพจิ๋นทำให้เกิดขึ้นและคำยกย่องทั้งปวงไม่ว่าจะดังก้องไปไกลเพียงใด ก็จะไม้เป็นพยานแห่งความดีของสูได้เท่ากับความตายความสงบและความเงียบของสูที่เราเห็นอยู่เวลานี้ เพราะว่าสูให้ชีวิตของสูแก่คนอื่น แก่บ้านเมือง แก่พ่อแม่พี่น้องแก่ลูกเมียของสู ”
“ ดังนั้น เราจึงตั้งแท่นบูชาความดีของสูไว้ ณ ที่นี้ ขอให้สูรับไว้เถิด ”
แล้วเตียวเหลียงนำดอกไม้ป่ามาวางที่แท่นบูชาเหมือนวันก่อน ๆ และให้ทหารจิ๋นทั้งปวงคำนับไปยังมูลดินข้างหน้าเตียวเหลียงให้หยุดทัพที่นั่นอีกหลายวัน จึงเดินทัพต่อไป คราวนี้ม้าทั้งปวงเดินไปโดยดีและไม่มีหมอกเกิดขึ้นเหมือนก่อน
๑๕...
เมื่อไปถึงเมืองลือ ทหารจิ๋นได้เห็นภายในเมืองเงียบสงัด เตียวเหลียงให้หยุดทัพอยู่หน้าเมือง ครั้นได้สามวันก็ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวภายในตัวเมืองแต่อย่างใด เตียวเหลียงให้คนออกไปตระเวนหาข่าวก็ได้ความว่า เมืองลือกลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว เตียวเหลียงพร้อมกับเตียวลกและซิฉุย จึงนำทหารสามร้อยเข้าไปในเมือง ก็ได้เห็นเมืองลือปราศจากผู้คน สิ่งที่เคลื่อนไหวภายในตัวเมืองมีแต่ต้นไม้ที่เอนไปด้วยแรงลม เตียวเหลียงจึงกล่าวแก่ซิฉุยว่า “ จะไม่มีใครยอมตายเช่นที่เมืองเชียงแสแล้ว สูจงนำทหารไปสำรวจเมืองเถิด ”
ซิฉุยก็นำทหารแยกย้ายไป เตียวเหลียงอยู่กับตันซูและเตียวลก เวลานั้นบ่ายแล้ว และอากาศร้อน เตียวลกชี้มือไปยังเรือนหลังใหญ่ข้างหน้าและกล่าวแก่พี่ชายตนว่า “ สูมีสีหน้าไม่สบายโน่นเรือนลกซุน เราขึ้นไปพักบนเรือนนั้นเถิด ”
เตียวเหลียงตอบน้องชายว่า “ สูเลือกที่ได้เหมาะแล้ว เราจงช่วยกันเปิดเรือนหลังนั้น เพราะการศึกเกิดขึ้น เนื่องจากฝ่ายจิ๋นปิดเรือนหลังนั้น ”
ตันซูจึงถามเตียวเหลียงว่า “ เรือนใหญ่หลังนั้นเกี่ยวกับการศึกระหว่างไทกับจิ๋นอย่างไร ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ สูเพิ่งมาแดนไทเป็นครั้งแรก สูจึงไม่ทราบ เมื่อลกซุนปกครองแคว้นไท ลกซุนสร้างเรือนหลังนี้ไว้และเปิดไว้สำหรับฟังความเดือดร้อนของคนไท ต่อมาลิตงเจียมาแทนลกซุน ลิตงเจียให้ปิดเรือนนี้เสีย ไม่ยอมฟังความเดือดร้อนของคนไทที่อยู่ในปกครอง และลิตงเจียถูกจับไว้ และข้าถูกคนไทบังคับให้ถอนทหารออกจากเมือง มิฉะนั้นลิตงเจียกับทหารที่ถูกจับไว้ทั้งหมดจะถูกฆ่า ข้าจำต้องถอนทหารจากนั้นการศึกระหว่างจิ๋นกับไทก็เริ่มขึ้นอีก และสูรู้แล้วว่าเมื่อลิบุ๋นยกทัพมาหมายจะทำลายแคว้นไทให้สิ้นไปนั้น ทัพของลิบุ๋นกลับถูกทำลายสิ้น ยิ่งกว่านั้นคนไทยังนำทัพเข้าเหยียบแดน เราจนใกล้เมืองหลวงตะวันตกของเรา เมื่อกำลังของคนไทเป็นอันตรายแก่จิ๋นได้ถึงเพียงนี้กษัตริย์ของเราจึงให้พวกเรามาทำศึกกับคนไทระหว่างที่คนไทกำลังวิวาทกันเอง การศึกเริ่มเพราะเรือนหลังนี้ถูกปิดและฝ่ายปกครองไม่นำพาต่อความเดือดร้อนของราษฎร เราจะช่วยกันเปิดเรือนหลังนี้อีกครั้งเถิด และช่วยกันทำตามอย่างลกซุน เพื่อการแข็งเมืองจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก ”
ตันซูกล่าวต่อไปว่า “ แต่คนไทที่ยังอยู่ต่อไปในถิ่นนี้ ถึงแม้เราจะปกครองเขาดีอย่างไร เขาก็จะคิดว่าพี่น้องของเขาที่อพยพไปทางใต้จะเป็นสุขกว่า เพราะพ้นจากอำนาจปกครองของต่างด้าว ”
เตียวเหลียงตอบว่า “ โชคชะตาของคนไทที่พากันอพยพไปนั้นจะเป็นอย่างไร ข้ายังสงสัยอยู่ เมื่อเราอยู่กันที่ตังเกี๋ย มีสำเภามาจากแคว้นกำพุช แคว้นนี้มีอำนาจอยู่ทางใต้ คนไทที่อพยพไปในไม่ช้าจะถูกรบกวนโดยอำนาจของแคว้นนี้ เขาจะต้องต่อสู้ต่อไป เพื่ออิสรภาพของเขา แต่ว่า สำหรับคนไทที่นี่เราจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเขา ”
แล้วเตียวเหลียงก็ขึ้นไปบนเรือนลกซุน เตียวลกเห็นพี่ชายมีสีหน้าเผือดยิ่งนัก ก็ตกใจและกล่าวว่า “ สูคงไม่สบาย บัดนี้การศึกสิ้นสุดแล้วด้วยชัยชนะของเรา สูควรจะหมดกังวลและสบายใจได้แล้ว ”
เตียวเหลียงกล่าวแก่น้องชายของตนว่า “ ข้าไม่สบายใจอำนาจของเต๋าดูเหมือนจะลงโทษข้าอยู่ ข้าได้เห็นแล้วว่าชัยชนะด้วยอาวุธไม่เป็นโชคดีแก่ใคร ”
แล้วเตียวลกเห็นพี่ชายใช้ผ้าคาดเอวผืนที่เคยมอบให้แก่พันน้อยเด็กที่เคยเป็นเพื่อนพี่ชายตน
ทุกคนแยกกันไปตามห้องต่าง ๆ ของเรือนลกซุน เตียวเหลียงเข้าไปยังห้องหนึ่ง เขาเปิดหน้าต่างออกและมองไปยังเมืองลือที่ปราศจากผู้คน สิ่งที่เขาแลเห็นเคลื่อนไหวอยู่มีแต่ต้นไม้ที่โอนเอนไปมา
มีเสียงมาจากเบื้องหลังของเขาว่า “ จงออกไปจากแผ่นดินของข้า ” ขณะนั้นลมแรง เขาไม่ได้ยินเสียงนั้น ต่อเมื่อมีคมอาวุธมาถูกเขาข้างหลัง เขาจึงหันไป แต่เขาถูกแทงเสียแล้ว และล้มลงที่พื้น
เตียวลกได้ยินเสียก็วิ่งไปและเห็นเตียวเหลียงคว่ำหน้าอยู่กับพื้น มีมีดปักอยู่ข้างหลัง ร่างโซมด้วยโลหิตและมีชายแขนด้วนคนหนึ่งยืนอยู่ข้างพี่ชายตน เตียวลกเงื้อดาบจะฟันชายผู้นั้นเตียวเหลียงห้ามไว้ เตียวลกก้มลงจะช่วยพี่ชาย เตียวเหลี่ยงก็ห้ามไว้อีก
สักครู่หนึ่งเตียวเหลียงเงยหน้าขึ้นกล่าวแก่ชายไทผู้นั้นว่า “ สูคิดว่าสูทำถูกแล้ว แต่เมื่อข้าไปแล้ว ลิตงเจียจะกลับมาที่นี่ คน ๆ นี้ยังไม่ลืมความหลัง คนไทเตรียมตัวพบการปกครองอันป่าเถื่อนอีกครั้งเถิด ”
แล้วเขาก็กล่าวแก่เตียวลกว่า “ สูจงพาคน ๆ นี้ไป อย่าให้คนของเราทำร้ายเขาได้ ”
แล้วเตียวเหลียงก็สิ้นใจ
เมื่อเตียวเหลียงยังมีชีวิตอยู่ เขากล่าวถึงคนไทหลายครั้งด้วยความยกย่องทั้งที่เป็นคู่ศึกต่อกัน บัดนี้ใครเล่าจะกล่าวถึงเขาบ้างในเมื่อชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่น่าจะกล่าวถึง คนไทต้องพลัดพรากจากถิ่น เพราะกองทัพและปัญญาของคนผู้นี้ผู้ซึ่งพอใจถือหนังสือของนักปราชญ์ยิ่งกว่าดาบของแม่ทัพ แต่ว่าเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาทำศึกกับคนไท เพราะว่าฟ้าดินให้เขาเกิดมาในขณะที่บ้านเมืองของเขาวิปริตและพอใจจะรุกรานผู้อื่นกระนั้นก็ตามในเมื่อเขาเอากำลังอันเหนือกว่ามารุกรานแคว้นไทที่ไม่ทำผิดอันใดแก่บ้านเมืองของเขา ในที่สุดเขาก็ต้องสิ้นชีวิตด้วยมือของคนพิการที่ไม่หนีไปจากการรุกรานของเขาชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างของคนที่ปรารถนาในความดี แต่ต้องพบโชคร้ายเพราะเกิดมาในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน เตียวเหลียงรู้สึกด้วยตนเองในโชคร้ายนี้ ที่เขาจินไตก่อนที่เขาจะนำทัพเข้ามาในแดนไท เขาจึงได้บอกกับภูตจูโกเหลียงว่า ยามบ้านเมืองวิปริต ใครเล่าจะไม่รับผลร้ายจากความวิปริตนั้น เมื่อบ้านเมืองมีโชคร้าย เขาจะหนีความโชคร้ายของบ้านเมืองไปไม่ได้ เขาจะต้องรับกรรมไปกับบ้านเมือง เตียวเหลียงก็เหมือนกับคนทั้งปวงที่เกิดและมีชีวิตอยู่ในระหว่างที่บ้านเมือง มีความผันแปรและปั่นป่วน ในบ้านเมืองเช่นนี้ ทุกคนจะได้รับความทุกข์ ไม่มีซอกมุมใดในบ้านเมืองเช่นนี้ที่คนจะหาความสงบและความสุขได้ ทุกคนจะได้รับกระแสแห่งความปั่วป่วนและความวิปริตนั้น
ในบ้านเมืองทุกแห่ง ความจริงของชีวิตเป็นดังนี้ ดังนั้นขออย่าให้ใครเป็นต้นเหตุแห่งความปั่นป่วน และความวิปริตในบ้านเมืองเลย เพราะว่าผู้คนจะเดือดร้อนกันโดยทั่วไปและจะเดือดร้อนเป็นเวลานาน บางครั้งจะนานนับด้วยสิบหรือด้วยร้อยปี ทั้งที่เขาผู้นั้นใช้เวลาไม่นานนักในการทำร้ายบ้านเมืองนั้น ความเป็นมาและชีวิตในแผ่นดินจิ๋นแสดงความจริงในข้อนี้ได้ดี
ชีวิตสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึง คือชีวิตของคนในเผ่าไท เขากระจัดพลัดพรากแยกกันอยู่ บางครั้งเขาก็รวมกันตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นมาได้และปกครองกันเอง ถึงแม้เขาจะเป็นเผ่าที่น้อยด้วยกำลังและแตกแยกกัน ถึงแม้เขาอาจจะล้าหลังในการจัดระเบียบภายในบ้านเมืองของเขา แต่เขาก็พยายามจะแก้ไขความบกพร่องและพยายามต่อสู้กับความวิปริตที่เกิดขึ้นภายในบ้านเมืองของเขา ไม่ว่าความวิปริตนั้นจะมาจากอำนาจภายนอกหรือจากคนไทด้วยกัน ด้วยความพยายามเช่นนี้ เทพยดาฟ้าและดินจะไม่ทอดทิ้งเขา ผู้ใดก็ตามถ้าใช้กำลังต่อคนไท ถ้ามาฉกฉวยความเป็นอิสระและความเป็นไทไปจากเขา หรือทำให้บ้านเมืองของเขามีความวิปริต และมีความแตกแยกกัน เทพยดาฟ้าและดินจะลงโทษผู้นั้น และถ้าคนที่ทำเช่นนั้นเป็นคนอยู่บนผืนแผ่นดินไท มีฟ้าและแผ่นดินไทปกป้องเขาอยู่ เขาจะได้ความอัปยศยิ่งนัก ขอให้ทุกคนรำลึกไว้เช่นนี้เถิด

จบบริบูรณ์

คน ไท ทิ้ง แผ่นดิน ( ภาค ๕ ไทวิวาทกันเอง)

ภาค ๕
ไทวิวาทกันอีก
๑...
เมื่อทัพไทกลับมาถึงเมืองลือบรรดาชาวเมืองออกมาต้อนรับกันเนืองแน่น บ้างดีใจที่ทัพไทกลับมาด้วยข้อตกลงที่ทำกับฝ่ายจิ๋น บ้างเสียใจที่บุญปันเจ้าเมืองสิ้นชีวิตไปและทัพแคว้นเม็งแคว้นข่านุ และแคว้นยูโรต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ส่วนกุมภวาก็มอบอำนาจคือให้กรมการเมือง
ในไม่ช้าจิ๋นส่งทองและม้ามาให้ตามข้อตกลง กรมการเมืองแบ่งทองและม้าไปให้แคว้นต่างๆ ที่ช่วยในการศึกและจัดส่งบิดาของขุนนางจิ๋นสามร้อยที่เป็นประกันนั้นคืนไปให้แก่ฝ่ายจิ๋น
ครั้นถึงเวลาเลือกเจ้าเมืองลือสืบต่อจากบุญปัน พ่อบ้านทั้งปวงเลือกกุมภวาขึ้นเป็นเจ้าเมือง กุมภวาก็ปกครองแคว้นลือด้วยความอุตสาหะและความเมตตา
เมื่อกลับถึงเมืองเม็งแล้ว สีเมฆให้ม้าเร็วถือหนังสือไปยังขุนสาย มีเนื้อความเพียงว่า " สีเมฆให้ขุนสายถอนทหารออกจากแคว้นเม็งภายในสิบวัน "
เมื่อได้รับหนังสือแล้ว ขุนสายกล่าวแก่คำอ้ายว่า " สีเมฆนี้ทะนงนักถือว่ามีชัยกลับมาจากจิ๋น จึงเขียนหนังสือแจ้งมาด้วยข้อความสั้นเหมือนนายสั่งบ่าวเราควรทำประการใด "
คำอ้ายกล่าวว่า " สีเมฆถือดีว่ามีแคว้นลือช่วยเหลืออยู่ จึงกล้าออกคำสั่งแก่เรา แต่ถ้าเราขืนยึดเหมืองเกลือไว้ต่อไปก็จะต้องทำศึกกับแคว้นทั้งสอง แม้เราจะมีกำลังพอ แต่เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะทำศึก "
ขุนสายถามว่า " เมื่อใดเล่าจะเป็นเวลาที่เราจะลองกำลังกับแคว้นทั้งสองนี้ได้ "
คำอ้ายกล่าวว่า " เวลานี้หากสูจะแผ่อำนาจไปในแดนอื่น ผลประโยชน์ทั้งปวงจากความเหนื่อยยากของสู ในที่สุดจะตกเป็นของเจ้าคำตันเมื่อเขาพ้นจากความเป็นผู้เยาว์ เสมือนว่าเราตีรังผึ้งแล้วผู้อื่นมาแย่งน้ำผึ้งไปเสีย เหลือแต่ความเหนื่อยยากและความเจ็บปวดให้เรา ที่่ข้ากล่าวดังนี้เพราะข้ารู้ว่าอำนาจของสูกำลังถูกนางคำระย้าภรรยาม่ายของขุนสินใช้ลมปากเซาะให้กร่อนไป และวันหนึ่งข้างหน้าภัยจะมาถึงสู นางกล่าวแก่ทุกคนที่ไปในวังว่า ขุนสินมิได้หายขึ้นไปข้างบน แต่หายลงไปในดิน เพราะมีขุนสายเป็นน้องชาย พี่สะใภ้ของสูกล่าวดังนี้ทำให้หนักงานและชาวเมืองขาดความยำแกรงและเอาใจออกห่าง ข้าจึงเห็นว่าสูจะต้องสู้ศึกภายในให้ชนะเสียก่อน จึงคิดการศึกภายนอกต่อไป "
ขุนสายกล่าวแก่คำอ้ายว่า " ข้าเห็นด้วยที่ว่าการศึกภายในนั้นจะต้องจัดการให้สิ้นไป แต่ที่สีเมฆมีท่าทีแก่เราเช่นนี้สูจะทำอย่างไร เราจึงจะถอนทหารมาโดยเราไม่ต้องได้อาย "
คำอ้ายกล่าวว่า " สูอย่าวิตกเรื่องนี้ ข้าจะไม่ให้สูได้อาย เพราะการต้องถอนทหาร "
แล้วคำอ้ายเขียนหนังสือถึงสีเมฆเป็นความว่า " ข้าคำอ้าย ที่ปรึกษาของแคว้นไต๋ ถึงสีเมฆเจ้าเมืองเม็ง สูคงจำคำอ้ายชาวเมืองมงทุมได้ ที่ข้าต้องมาพำนักในแคว้นไต๋ เพราะเมื่อสิ้นขุนจาดและเจ้าพลายแล้ว ข้าไม่แน่ใจข้าจะอยู่ในแคว้นเม็ง โดยปลอดภัยได้ก็จำต้องหลบหนีมา ส่วนน้ำใจนั้นยังนึกถึงบ้านเดิมอยู่เหมือนนกที่ไกลจากรัง และเมื่อเกิดพิพาทเรื่องเหมืองเกลือระหว่างแคว้นไต๋กับแคว้นเม็งอันจะนำไปสู่การศึกระหว่างสองแคว้นนี้ ข้าจึงขอให้ขุนสายถอนทหารตามที่สูบอกมา อนึ่งเล่าเพื่อไมตรีระหว่างแคว้นทั้งสอง ขอสูอย่าได้คิดว่าเรารุกล้ำเขตแดนของเม็ง ชายแดนระหว่างแคว้นทั้งสองยังมิปักปันให้ชัดแจ้ง จึงกล่าวไม่ได้ว่าใครรุกล้ำใคร แต่ขุนสายฟังคำของข้า จึงยอมถอนทหารโดยดี "
แล้วคำอ้ายให้นักการถือหนังสือไปยังสีเมฆ และให้ทหารที่ยึดเหมืองเกลือถอยกลับยังแคว้นไต๋
เมื่อสีเมฆได้รับหนังสือของคำอ้าย และได้ทราบข่าวชาวไต๋ถอยไปแล้วก็พอใจ ต่อมามีการกำหนดเขตระหว่างแคว้นทั้งสองและชาวเมืองไต๋กับชาวเมืองเม็งก็ติดต่อกันอย่างเพื่อนบ้านที่ดีดังเดิม
๒...
แต่ว่าในวงการปกครองของแคว้นไต๋นั้น นับแต่ขุนสายมีอำนาจ หลายอย่างได้เปลี่ยนไป
เมื่อขุนสินเป็นเจ้าเมือง ขุนสินเอาใจใส่ในการเลือกพนักงานผู้ปกครองรราษฎร พนักงานผู้ใดอุตสาหะในการงานหรือมีความฉลาด ขุนสินจะส่งเสริมผู้นั้น พนักงานผู้ใดเอาใจใส่ต่อคนจน ขุนสินจะส่งเสริมผู้นั้นยิ่งกว่าผู้ที่เอาใจใส่ต่อคนมีอำนาจ ขุนสินกล่าวอยู่เป็นนิจว่า ความชั่วในวงการปกครองคือความล่มจมของบ้านเมือง และขุนสินเอาใจใส่มิให้ความชั่วขยายตัวในวงการปกครอง
เมื่อขุนสินมีชีวิตอยู่ ขุนสายมิได้แสดงความชั่วของตน แต่เมื่อขุนสินสิ้นไปแล้วและขุนสายเข้าครองอำนาจ ความรู้สึกของขุนสายต่อตัวเองก็เปลี่ยนแปลงไป เขารู้สึกว่าเขากลายเป็นคนมีอำนาจเพราะคนทั้งปวงยกย่อง จากความรู้สึกในอำนาจของตนกิริยาและถ้อยคำของขุนสาย ซึ่งแต่ก่อนมีความสุภาพ บัดนี้มีความถือตัวและความทะนงเข้ามาแทนที่เหมือนตัวละคร ซึ่งเปลี่ยนกิริยาเปลี่ยนน้ำเสียงและเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไปตามบท แต่ก่อนนั้นความคิดที่แคบของขุนสายทำความเสียหายแก่ผู้อื่นได้น้อย เพราะว่าขุนสายมีอำนาจน้อย และความตั้งใจจริงของพี่ชายที่จะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างให้เที่ยงตรงทำให้ขุนสายยำเกรงไม่กล้าทำผิด แต่บัดนี้เมื่อมาอยู่บนชั้นสุดของบันไดแห่งอำนาจ ขุนสายจะลงโทษอย่างแรงต่อผู้ที่ขัดขวางเขา ส่วนผู้ที่ติดตามเขา ขุนสายจะเกื้อกูล เนื่องจากมีคนสอพลอเฝ้าคอยรับใช้ผลประโยชน์ส่วนตัวและรักษาอำนาจให้ ขุนสายจึงเพลิดเพลินอยู่ด้วยอำนาจและทรัพย์สิน ราษฎรถูกทอดทิ้ง ความชั่วได้ขยายไปในวงปกครองอันเกิดผลเป็นความเดือดร้อนของราษฎร การปล้นการฉกชิงและความไม่สงบต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น
เพื่อปราบปรามความไม่สงบ ขุนสายจ้างทหารมากขึ้นและเพื่อเลี้ยงดูทหารที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขุนสายเก็บภาษีมากขึ้น แทนที่ความไม่สงบจะระงับไป ราษฎรกลับเดือดร้อนยิ่งขึ้นอีก กลายเป็นวงกลมที่เป็นพิษ แต่วงกลมที่ชั่วนี้เพียงแต่ไปกระตุ้นขุนสายให้หาวิธีรุนแรงขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของตน
อยู่มาวันหนึ่ง ขุนสายกล่าวแก่คำอ้ายว่า " ข้าไว้ใจนางคำระย้าไม่ได้เสียแล้ว ตั้งแต่ขุนสินตายนางไม่ยอมเข้าใกล้ข้าทำเหมือนว่าข้าเป็นคนแปลกหน้า นางอาจจะกำลังคิดทำลายข้าก็เป็นได้ "
" นางกำลังทำเช่นนั้นอยู่ทีเดียว " คำอ้ายตอบ " คนของข้าบอกว่าผู้ที่ไปหานางอยู่เป็นประจำคือท้าวคำปูนพี่ชายของนาง และคนอื่นๆ ที่เคยเป็นเพื่อนของขุนสิน สูต้องระวังให้ดี ถึงแม้นางจะไม่ใช่หญิงสาว นางก็เป็นหญิงหม้ายที่มีเสน่ห์ ด้วยเหตุนี้นางสามารถจะปั่นหัวคนบางคนให้คิดร้ายต่อสู้ได้ "
ขุนสายถามว่า " ข้าจะทำอย่างไรดี อันที่จริงสูเคยเตือนข้าแล้ว "
คำอ้ายกล่าวว่า " สูควรจะเข้าไปอยู่ในวัง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันภัยให้แก่เจ้าคำตัน เมื่อสูอยู่ในวังแล้วนางคำระย้ากับเจ้าคำตันจะคิดการร้ายแก่เราไม่ได้ง่ายนัก "
ขุนสายก็เข้าไปอยู่ในวัง และนำคนของตนเข้าแทนที่คนเดิมของนางคำระย้าในวังนั้น เจ้าคำตันจะออกจากวังก็มิได้ เพราะทหารของขุนสายขัดขวางไว้ทุกครั้ง และภายในวังนั้นขุนสายกระทำการหยาบช้าต่างๆ บางครั้งให้มีการจัดระบำและเลี้ยงสุรากันอย่างเอิกเกริก
ตั้งแต่ขุนสายเข้ามาอยู่ในวัง นางคำระย้าภรรยาขุนสินหาความสงบมิได้ บางเวลาที่นางอยู่ในห้องโดยลำพัง ขุนสายจะเข้ามาทำความหยาบคายต่างๆ นางกลุ้มใจยิ่งนัก จึงไปหาท้าวคำปูนและกล่าวว่า " พี่ข้าเอย เมื่อขุนสินยังอยู่ วังนี้ให้ความอุ่นใจและให้ความสุข เมื่อขุนสินจากไปแล้ว วังยังให้ความสงบแก่ข้า แต่บัดนี้วังกลายเป็นนรกเสียแล้ว เมื่อครั้งขุนสินยังอยู่ขุนสายเกรงขุนสิน แต่บัดนี้ขุนสายกลายเป็นอีกคนหนึ่ง บังอาจทำหยาบช้าต่างๆ ขุนสายหาได้คิดไม่ว่าเจ้าคำตันเป็นหลานและข้าเป็นพี่สะใภ้ ข้าแม่ลูกต้องเดือดร้อนหนักขอให้ช่วยเหลือด้วยเถิด "
ท้าวคำปูนกล่าวว่า " ขุนสายนี้แต่ก่อนก็มิใช่คนร้าย แต่เมื่อได้คำอ้ายมาเป็นที่ปรึกษา ขุนสายได้เปลี่ยนแปลงไป ขุนสายเป็นคนขาดหลักประจำใจ มองเห็นแต่ประโยชน์และความสุขเฉพาะหน้า คนเช่นนี้เมื่อมีอำนาจและได้ที่ปรึกษา เช่นคำอ้ายบ้านเมืองจะเดือดร้อนเป็นที่สุด ดังที่เป็นอยู่เวลานี้แต่ถ้าได้ผู้แนะนำที่ดี ขุนสายอาจจะเปลี่ยนนิสัยให้เป็นดี และความเดือดร้อนจะหยุดหรือบรรเทาลง เมื่อเจ้าคำตันอายุครบที่จะเป็นเจ้าเมืองเราจึงค่อยคิดการต่อไป "
นางคำระย้ากล่าวว่า " คนดีที่เห็นแก่บ้านเมืองซึ่งเป็นชาวไต๋ ขุนสายมิเคยเรียกไปใช้สอย เสมือนว่าขุนสายละอายต่อความดีของคนเหล่านั้น คนดีจากแคว้นอื่น เช่น แคว้นเม็ง และแคว้นลือนั้นเล่า ขุนสายคงจะมิรับไว้เป็นที่ปรึกษา เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ระหว่างแคว้นขัดกันอยู่ ยิ่งกว่านั้นข้ายังคิดว่าขุนสายจะไม่ฟังผู้อื่นนอกจากคำอ้ายเพื่อนร่วมบาปของตน "
ท้าวคำปูนกล่าวว่า " ข้าเห็นอยู่ผู้หนึ่งซึ่งจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นชาวเมืองใด เพราะเป็นชาววัด ผู้นั้นคือสีบุญแห่งวัดป่าลายนักบวชผู้นี้เจริญด้วยธรรม ถ้าสูจะเชิญผู้นี้มาในวังขุนสายจะไม่ขัดขวาง เพราะมิใช่คนมีอำนาจ หรือคนแสวงในอำนาจ และเมื่อขุนสายได้เห็นความสุขอันเกิดจากการประกอบกรรมดีหรือได้ฟังคำพูดที่จะเปิดจิตใจของขุนสายให้ได้พบความสว่าง บางทีขุนสายจะละทิ้งคำอ้ายเสียได้ และจะไม่ทำให้สูและคำตันเดือนร้อนอีกต่อไป "
นางคำระย้าก็ยินดี และกล่าวว่า " จะเพื่อบ้านเมืองของเราหรือเพื่อข้าผู้เป็นน้อง หรือเพื่อคำตันผู้เป็นหลานก็ตาม พี่จงไปเชิญสีบุญแทนข้าโดยเร็วเถิด "
ท้าวคำปูนก็เดินทางไปยังวัดป่าลายซึ่งอยู่ห่างจากเมืองไต๋เป็นระยะม้าเดินสิบวัน ท้าวคำปูนกับสีบุญคุ้นเคยกันมาก่อน เมื่อพบสีบุญแล้ว ท้าวคำปูนเล่าการกระทำต่างๆ ของขุนสายภายในวังให้สีบุญทราบแล้วกล่าวต่อไปว่า " เวลานี้นางคำระย้ากับเจ้าคำตัน เป็นเสมือนนักโทษ ขุนสายเคยประกาศแก่ประชาชนว่าจะดูแลหลานจนกว่าหลานจะอายุครบเป็นเจ้าเมืองได้ แต่บัดนี้ขุนสายกลับควบคุมหลานตนไว้มิให้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน ขุนสายกระทำการหยาบช้าทั้งปวงเช่นนี้ด้วยว่ามีคำอ้ายชักจูงให้เห็นผิดเป็นชอบมิได้คิดถึงบุญและบาป พนักงานเมืองผู้ใดจะทักท้วง ขุนสายก็มิเชื่อฟัง ขุนสายกลับเห็นว่าผู้ตักเตือนนั้นอิจฉาในอำนาจของตนเมื่อขุนสายไม่ฟังคำของผู้ครองเรือนแล้วเช่นนี้ ก็เหลือแต่ผู้ถือบวชเท่านั้นที่จะตักเตือนขุนสายได้ สูเป็นที่นับถือของคนทั่วไปนางคำระย้าจึงให้ข้ามาเชิญสูไปยังเมืองไต๋เพื่อยับยั้งขุนสายไว้มิให้กระทำการหยาบช้าต่อไปอีก สูจงเห็นแก่ชาวไต๋และสองแม่ลูกเถิด "
สีบุญกล่าวว่า " ข้าจะช่วยได้เพียงใดนั้นยังสงสัยอยู่ คนเรานั้นเมื่อพอใจจะไปสู่นรกแม้เทพยดาก็ขัดขวางเขาไม่ได้ ข้าเป็นมนุษย์จะขัดขวางขุนสายได้หรือ "
ท้าวคำปูนได้ฟังดังนั้นก็อ้อนวอนสีบุญต่อไปอีก และกล่าวว่า " สูเคยกล่าวว่าความดีสูงสุดของมนุษย์นั้น มิได้อยู่ที่การนั่งภาวนา แต่อยู่ที่การกระทำประโยชน์ เวลานี้สูอยู่ในวัดซึ่งข้าเข้าใจว่าสูอาศัยความสงบแสวงหาความจริงของชีวิตในขั้นที่สูงขึ้นไป แต่ที่เมืองไต๋ขณะนี้กำลังรอประโยชน์จากสูอยู่จงปรานีด้วยเถิด "
นักบวชอื่นๆ ช่วยท้าวคำปูนอ้อนวอน และบุญอาจนักบวชอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า " พวกเราที่มาบวชอยู่นี้ชาวบ้านมักดูหมิ่นว่าเป็นผู้อ่อนแอต่อโลก จึงหลบหนีมาเข้าวัดเหมือนผู้อ่อนต่อลมและแดดแล้วหนีเข้าร่ม บางคนก็คิดว่าเราทิ้งความสุขของโลกมาหาความทุกข์แล้วในที่สุดก็ตายเหมือนคนทั้งหลาย เขาว่าการทนทุกข์ของเรามิได้ช่วยให้เราได้พบสิ่งใดเหนือไปจากโลกเลย ข้าจึงอยากให้สูไปพบกับขุนสาย เพื่อให้ขุนสายได้รู้ว่าชีวิตดังที่ขุนสายดำเนินอยู่นั้นไม่เป็นสุขโดยแท้จริง แล้วบางทีขุนสายอาจจะกลายเป็นคนดีได้ หากสูให้ประโยชน์แก่ขุนสายไม่ได้ การไปครั้งนี้ก็อาจเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ อนึ่งเล่าท้าวคำปูนเดินทางมาถึงสิบวัน ขอสูอย่าปฏิเสธเขาเสียเลย "
สีบุญจึงกล่าวว่า " เราเป็นนักบวชก็เสมือนเป็นหมอรักษาไข้ จะปฏิเสธผู้มาเชิญนั้นไม่สมควร เพียงแต่ข้าเห็นว่าขุนสายเข้าใจว่าตัวไม่เป็นไข้ ดังนั้นขุนสายคงจะไม่ให้ข้ารักษา อนึ่งเล่าการไปของข้าอาจเป็นผลร้ายแก่สองแม่ลูกก็เป็นได้ "
แต่นักบวชอื่นๆ ช่วยบุญอาจอ้อนวอน ในที่สุดสีบุญยินยอม
ในไม่ช้าสีบุญในเครื่องนุ่งห่มแบบชาวบ้านก็มาถึงเมืองไต๋ ชาวเมืองไต๋เมื่อทราบว่าสีบุญจะไปพำนักในวังก็ยินดีนักด้วยเข้าใจว่าการปฏิวัติของผู้ถือบวชจะทำให้ขุนสายละอายในความมัวเมาของตนเอง และเมื่อนางคำระย้าทราบว่าสีบุญมาถึง นางก็ออกไปรับและพาเข้ามาในวัง มีชาวเมืองติดตามมาส่งสีบุญถึงประตูวังมากคน
ขุนสายเห็นว่าชาวเมืองนับถือสีบุญ จึงออกมาต้อนรับด้วยความจำใจและจัดที่พักให้
แล้วขุนสายไปยังคำอ้าย และถามว่า " ที่สีบุญมาที่นี่สูคิดอย่างไรบ้าง "
" มีแต่จะเกิดอันตรายแก่สูเท่านั้น " คำอ้ายตอบ " เพราะว่าสีบุญมาอยู่กับฝ่ายที่เป็นศัตรูแก่สู "
ขุนสายก็กล่าวว่า " สีบุญเป็นเพียงนักบวชไม่มีอำนาจจะให้ร้ายผู้ใดได้ ทั้งเป็นผู้คงแก่เรียน ข้าจะใช้คนๆ นี้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้หรือ "
คำอ้ายตอบว่า " นั่นแหละคืออันตรายจากคนๆ นี้ เมื่อสูเข้าใจว่าเขาเป็นคนคงแก่เรียน สูจะฟังเขา ที่จริงผู้ปกครองเช่นสูอาจจะใช้นักบวชพวกนี้เป็นประโยชน์ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการฟังคำของคนพวกนี้ นักบวชพวกนี้จะเป็นประโยชน์ หากเราให้ออกไปสอนชาวบ้านไม่ให้กำลัง ไม่ให้ผูกพยาบาทและให้ใจดีต่อทุกคนแม้กระทั่งต่อศัตรู คำสอนของพวกนี้ถึงแม้จะไม่มีอะไร นอกจากจะเป็นเพียงคำพูดจากลมปาก แต่ก็ช่วยในการปกครอง เพราะว่าชาวบ้านจะได้ฟังเป็นการฆ่าเวลาไปได้ แทนที่ชาวบ้านจะหันไปกล่าวขวัญตำหนิผู้ปกครอง อนึ่งหากชาวบ้านถูกแนะนำให้ใช้กำลังได้ด้วยตนเอง การปกครองก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ว่าผู้ปกครองนั้นจะถือกฎอย่างเดียวกับราษฎรไม่ได้ เพราะว่าอยู่ในตำแหน่งต่างกัน ผู้ปกครองต้องเข้มแข็งและเด็ดขาดในการรักษาอำนาจในการปกครองเขาต้องไม่ชักช้าในการลงโทษผู้ที่จะมาทำลายอำนาจของเขา เขาจะต้องทำลายศัตรูก่อนที่ศัตรูจะอยู่เหนือเขา เขาจะต้องให้คนรู้สึกในอำนาจของเขา อำนาจนั้นจะได้เป็นที่เกรงกลัว ด้วยเหตุนี้สูจะไปฟังคำของนักบวชเหล่านี้ไม่ได้ "
" แต่นักบวชเหล่านี้กำความลี้ลับ และหนทางไปสู่สวรรค์และนรกไว้ " ขุนสายกล่าว
คำอ้ายหัวร่อไปมาและกล่าวว่า " นักบวชพวกนี้ไม่รู้อะไรยิ่งไปกว่าสูและข้า คนพวกนี้บอกสูไม่ได้เลยเรื่องนรกและสวรรค์ เมื่อเป็นดังนี้เขาจะกำความลี้ลับของสองแห่งนี้ไว้ได้หรือ หากคนพวกนี้จะบรรยายถึงสวรรค์และนรก เขาจะเอาโลกนี้ไปวาดเป็นตัวอย่าง เขาจะบอกว่าทั้งในสวรรรค์และในนรกจะมีผู้ปกครองฝ่ายหนึ่งและผู้อยู่ในปกครองอีกฝ่ายหนึ่งผู้ปกครองในสวรรรค์และในนรกนั้น จะใช้อำนาจเด็ดขาดยิ่งกว่าผู้ปกครองใดๆ บนผืนแผ่นดิน แต่ว่าสูจะต้องระวัง สีบุญนี้จะบอกให้สูลดการใช้อำนาจแทนที่จะให้รักษาอำนาจไว้ให้มั่นคงดังที่เจ้าสวรรค์หรือเจ้านรกกระทำ "
ขุนสายก็เชื่อและไม่ไปหาสีบุญ
๓...
สามวันต่อมา ขุนสายเรียกพนักงานวังคนหนึ่งมาถามว่า " สูได้เห็นสีบุญมาสามวันแล้ว ข้าอยากรู้ว่าผู้นี้เป็นคนอย่างไร "
พนักงานผู้นั้นตอบว่า " ข้าพูดได้ยากเหลือเกินว่า สีบุญเป็นคนอย่างไร อย่าให้ข้าตอบเลย "
ขุนสายกล่าวว่า " สูโง่นักหรือจึงบอกไม่ได้ว่าสีบุญเป็นคนอย่างไร เขาเป็นคนเหมือนสูเหมือนข้า จงบอกมาให้ได้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร "
พนักงานผู้นั้นนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วในที่สุดก็พูดว่า " ข้าจะพยายามบอกสูตามที่ข้าเข้าใจในตัวคนผู้นี้ เขาเป็นคนๆ หนึ่งเหมือนข้าและเหมือนคนอื่นๆ เขากินเขาเดินเขานั่งเหมือนคนอื่น แต่บางครั้งข้ารู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งในตัวเขาที่เหนือไปจากคนธรรมดาเขาสนทนากับข้า เขาทำกิจประจำวันเช่นเดียวกับข้า ชีวิตประจำวันของเขาเหมือนกับคนทั่วไป แต่บางครั้งข้าก็รู้สึกว่าเขาอยู่กับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน สิ่งที่ว่านั้นไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นรอบๆ เรานี้ ในเวลาเช่นนั้น ข้ารู้สึกว่าเขาอิสระจากทุกๆ สิ่งรอบๆ เขา ถึงแม้ร่างกายของเขาจะถูกจำกัดและถูกกำหนด เช่นเดียวกับร่างกายและชีวิตทั่วไปแต่ข้ารู้สึกว่ามีบางสิ่งในตัวเขาที่ทำให้เขาเหนือไปจากสิ่งต่างๆ ที่จำกัดชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปเขาเป็นอิสระจากสถานที่ จากเวลาและจากเหตุการณ์ที่ชีวิตของเขาเกี่ยวข้องอยู่ ที่ข้าพูดว่าเขาเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ ข้าหมายถึงว่าในตัวสีบุญมีบางสิ่งที่เป็นอิสระจากสิ่งเหล่านี้ ข้ามิได้หมายถึงร่างกายของสีบุญเอง "
" แต่ถ้าข้าจะกล่าวว่าเขากับทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ เขาเป็นสิ่งเดียวกัน ข้าก็กล่าวได้ เพราะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างเขากับทุกสิ่งรอบเขา แต่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ข้าเห็นได้ไม่ใช่สิ่งที่ข้าแยกได้ ข้าบอกไม่ถูกว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ที่ทำให้ข้ารู้สึกว่าเขาไม่เหมือนกับข้าหรือคนธรรมดาอย่างข้า "
" คำที่เขากล่าวออกมานั้นมาจากปากของเขา แต่เบื้องหลังตัวของสีบุญเอง ข้ารู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งพ้นไปจากสิ่งที่เราเห็นเป็นรูปร่างอยู่โดยรอบๆ เรา บางครั้งข้าจะรู้สึกว่า ผู้ที่สนทนากับข้านั้นมิใช่เขา มิใช่สีบุญที่กำลังอยู่เบื้องหน้าข้า "
" แต่ความแตกต่างในตัวเขากับคนธรรมดาเช่นข้า จะทำให้ข้ารู้สึกห่างไกลจากเขาก็หามิได้ ความแตกต่างนั้นกลับทำให้ข้าใกล้ชิดกับเขา และทำให้จิตใจของข้าสบายขึ้น ข้ารู้สึกว่ามีความเมตตาและความเป็นเพื่อนส่งออกมาจากจิตใจของเขา ข้ารู้สึกว่าเมื่อข้าอยู่ใกล้เขา ลมหายใจของข้าเป็นลมหายใจที่สงบ เพราะข้ารู้สึกว่าคนที่อยู่เบื้องหน้าของข้านั้นเป็นเพื่อนแก่ทุกคน "
" เขาเป็นคนธรรมดา เป็นคนมีหัวใจสะอาด และเขาไม่มีกิริยาว่าเขาเหนือผู้อื่น แต่ข้ารู้สึกว่าเบื้องหลังความเป็นคนธรรมดานั้นมีกำลังและมีอำนาจ และสีบุญอยู่กับสิ่งนี้ คนธรรมดาเช่นข้าอยู่กับกำลังของข้าเองและอำนาจที่ข้ารับมาจากบ้านเมืองและข้าอยู่กับความรู้สึกในใจของข้าแต่ข้ารู้สึกว่าบางครั้ง สีบุญมิได้อยู่กับใจของเขาเอง เขาอยู่กับอีกใจหนึ่งที่ใหญ่กว่า ข้ารู้สึกว่าเขาข้ามตัวของเขาเองและข้ามใจของเขาเองไปสู่ส่งที่อยู่เบื้องหลังออกไปนั้น "
พนักงานนั้นจะกล่าวต่อไปอีก แต่ขุนสายกล่าวขึ้นว่า " สูพูดเหมือนคนบ้า " แล้วขุนสายก็ขับพนักงานนั้นออกไป
อีกสามวัน ขุนสายเรียกพนักงานอีกผู้หนึ่งมาถามว่า " สูได้เห็นสีบุญมาหลายวันแล้วจงบอกข้าว่าผู้นี้เป็นคนอย่างไร "
พนักงานผู้นี้ตอบว่า " ข้ารู้สึกว่าสีบุญเป็นคนไม่มีประโยชน์ วันหนึ่งๆ ก็ออกไปเก็บใบไม้บ้างรากไม้บ้างมากองไว้ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็นั่งเล่นหมากรุกกับเจ้าคำตัน "
ขุนสายก็หัวเราะและกล่าวว่า " นักบวชคนนี้ไม่มีอะไรจะแนะนำคนในวังได้จึงต้องเล่นหมากรุกแก้เหงา ข้าจะต้องไปว่ากล่าวให้สำนึกตัวเสียบ้าง จะได้ออกไปจากวังโดยข้าไม่ต้องใช้กำลัง "
แล้วขุนสายก็ไปยังที่พักของสีบุญ ได้เห็นสีบุญกับเจ้าคำตันเล่นหมากรุกกันอยู่ ขุนสายจึงกล่าวว่า
" สูเป็นนักบวช รู้ถึงสวรรค์และนรกแล้ว ก็ควรเอาสิ่งที่สูได้เห็นในสวรรค์และนรกมาเล่าให้เด็กฟัง เด็กจะได้ยำเกรงไฉนจึงกลับมาเล่นหมากรุกกับเด็กเล่า "
สีบุญตอบว่า " ขุนสายเอย สวรรค์และนรกนั้นแม้แต่ผู้ใหญ่ก็มองไม่เห็น แล้วจะให้เด็กเห็นได้อย่างไร ข้าเล่นหมากรุกกับคำตันนี้ไม่ใช่เพื่อความสนุก แต่ประสงค์ให้เจ้าคำตันสำนึกในการเป็นผู้ปกครอง "
ขุนสาย " หมากรุกเป็นกีฬาการทำศึก จะทำให้ผู้ปกครองสำนึกในการเป็นผู้ปกครองได้อย่างไร "
สีบุญ " ถ้าสูสงสัยก็จงเล่นกับข้าอีกสักสองสามกระดานเถิด "ล
ขุนสายจึงเล่นหมากรุกกับสีบุญ เมื่อทั้งสองฝ่ายแพ้ชนะกันไปบ้างแล้ว สีบุญกล่าวว่า " บัดนี้ข้าจะได้บอกสูว่าหมากรุกสอนให้ผู้ปกครองสำนึกตนได้อย่างไร "
" สูได้เห็นแล้วว่าในกระดานหมากรุกนี้ ขุนเปรียบเสมือนเจ้าเมือง ขณะนี้สูเป็นเสมือนขุนในกระดาน เมื่อสูชนะข้าก็ดี เมื่อข้าชนะสูก็ดี หาได้ชนะด้วยตัวขุนไม่ แต่ชนะด้วยกำลังของหมากอื่นๆ และอีกฝ่ายหนึ่งจะแพ้เมื่อหมากอื่นๆ ของตนป้องกันขุนฝ่ายตนไม่ได้ ดังนี้ย่อมจะเห็นได้ว่าขุนจะเป็นปกติอยู่ได้ ไม่เกิดภัยแก่ตัวก็เมื่อหมากอื่นๆ เช่น เบี้ย โคน หรือม้าของตนยังมีกำลังอยู่ ในทำนองเดียวกัน เจ้าเมืองจะเป็นปกติอยู่ได้นั้นหาใช่ด้วยกำลังของเจ้าเมืองของไม่ เจ้าเมืองจะปกติอยู่ได้ด้วยกำลังของราษฎรในเมืองนั้น ข้าจึงกล่าวว่าหมากรุกสอนให้ผู้ปกครองสำนึกตนได้สูทำงานเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าคำตันอยู่เวลานี้ ข้าเข้าใจว่าคงจะบำรุงราษฎรให้มีกำลังเข้มแข็งมิให้ถูกทำลายไปด้วยการกดขี่ของพนักงานหรือของตัวสูเอง "
ขุนสายได้ฟังดังนั้นก็รู้ว่าสีบุญตั้งใจจะสอนตนจึงกล่าวว่า " ผลประโยชน์ของผู้ใดย่อมสอนผู้นั้นได้ดียิ่งกว่าคำสอนของผู้อื่นสูเป็นนักบวชเข้ามาสอนการปกครอง จงเล่าเรื่องในสวรรค์และในนรกให้เจ้าคำตันฟังเถิด "
แล้วขุนสายก็ออกไป
เมื่อขุนสายได้พบคำอ้าย ขุนสายเล่าให้คำอ้ายฟังถึงข้อเปรียบเทียบของสีบุญระหว่างตำแหน่งของผู้ปกครองกับตัวขุนในกระดานหมากรุก
คำอ้ายหัวเราะและกล่าวว่า " ก็เหมือนดังที่ข้าได้บอกสูแล้วนักบวชเหล่านี้ไม่มีอะไรนอกจากคำพูดและคำพูด การเปรียบเทียบเป็นวิธีหนึ่งของนักบวชในการใช้ถ้อยคำเพื่อให้คำสอนของตนฟังแล้วน่าเชื่อ การปกครองแผ่นดินนั้นยุ่งยากยิ่งกว่าการเล่นหมากรุกยิ่งนัก จะเห็นได้ว่าบนกระดานหมากรุก ฝ่ายหนึ่งต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ตัวขุนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดำหรือฝ่ายแดงไม่ต้องกังวลว่าหมากต่างๆ ของตนจะนำความล่มจมให้แก่ตน แต่ในการปกครองแผ่นดินผู้เป็นตัวขุนอาจจะถูกฝ่ายตนทำลายก็ได้ เช่นในแผ่นดินของสูเวลานี้ สูมิได้มีแต่เพียงศัตรูภายนอก แม้แต่ในหมู่คนของสูเอง ถึงจะมิกล่าวถึงในวงญาติของสูสูก็ยังมีศัตรู อีกสองปีข้างหน้าเมื่อคำตันเข้าใช้อำนาจปกครอง สูจะเป็นอย่างไรเล่า สูจะถูกปลดจากตำแหน่งและจะได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส "
แล้วคำอ้ายจบคำแนะนำของเขาต่อหัวหน้าว่า " เป็นการเสียเวลาที่จะไปฟังนักบวชเหล่านั้น เอาเวลาไปเสริมตำแหน่งของสูให้มั่นคงจะดีกว่า เพราะว่าสูยังมิได้อยู่ในที่ปลอดภัย "
ขุนสายก็ไม่ไปยังสีบุญอีก
ต่อมาอีกสามวันขุนสายเรียกพนักงานดูแลวังอีกคนหนึ่งมาหา เป็นพนักงานที่ขุนสายมอบให้คอยติดตามสีบุญ ขุนสายถามพนักงานผู้นี้ว่า " สูได้เห็นหรือได้ยินอะไรที่ไม่ดีจากนักบวชผู้นี้หรือไม่ "
พนักงานผู้นั้นตอบว่า " ไม่มี คนคนนี้ดูจะไม่เป็นภัยอะไรเลย แต่ว่าเมื่อวันก่อนข้าถามเขาว่าเขาคิดว่าวังนี้เป็นอย่างไรบ้าง เขาบอกว่าสูรักษาวังเรียบร้อยดีมากและเขาอยากจะเห็นสูรักษาอีกวังหนึ่งให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน ข้าเองไม่เคยได้ยินว่าสูมีวังที่อื่นอีก "
ขุนสายก็ไปยังสีบุญและกล่าวว่า " ข้าได้ยินว่าสูพูดถึงอีกวังหนึ่งของข้า วังนั้นอยู่ที่ไหน ข้าเองไม่เคยได้ยินว่าในเมืองไต๋นี้จะมีอีกวังหนึ่ง "
สีบุญตอบ " แท้จริงสูยังมีอีกวังหนึ่ง เป็นวังที่มีค่าและถาวรยิ่งกว่าวังที่ทำด้วยอิฐนี้มากนัก "
ขุนสาย " วังนั้นอยู่ที่ไหน "
สีบุญ " เมื่อคนเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของบ้านเมืองใด บ้านเมืองนั้นจะให้ความคุ้มครองแก่เขาเช่นเดียวกับที่วังอิฐนี้ให้ความคุ้มครองแก่หญิงและชายบางคน การปกครองเป็นวังที่ไม่รู้จักสิ้นสุดและเป็นวังที่ให้ความคุ้มครองแก่คนทั่วๆ ไป ดังนั้นผู้ปกครองควรจะดูแลให้บ้านเมืองนั้นมีความเรียบร้อยและร่มเย็น ที่ข้ากล่าวถึงวังอีกวังหนึ่งของสูนั้นข้าหมายถึงเช่นนี้ "
ขุนสายก็พูดว่า " สีบุญ คนธรรมดาเช่นสูไม่รู้ว่าการปกครองบ้านเมืองนั้นยากเพียงใด ในความเป็นอยู่ของสูนี้สูควรจะไปสอนหญิงและเด็กๆ ถึงวิธีไปสู่สวรรค์จะดียิ่งกว่ามาใช้คำพูดเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา "
แล้วสีบุญก็ออกจากห้องไป
สีบุญยิ่งอยู่นานในวังนั้น ขุนสายยิ่งรำคาญมากขึ้น วันหนึ่งขุนสายไปยังนางคำระย้า และถามว่า " สูไปเชิญนักบวชผู้นี้เข้ามาในวังด้วยความประสงค์อะไร "
นางคำระย้าตอบว่า " ข้าเชิญเขามาที่นี่เพื่อประโยชน์ของสูเองและของคนอื่นๆ ขุนสายเอย ขอให้เชื่อเถิดว่าข้ามีความประสงค์ดีต่อสู "
ขุนสาย " นักบวชย่อมจะไม่รู้ถึงความยุ่งยากและความสับสนต่างๆ ของการปกครอง แล้วเขาจะช่วยข้าได้อย่างไร "
นางคำระย้า " ข้ารู้ว่าสูมีคำอ้ายคอยแนะนำอยู่ แต่ที่จะฟังนักบวชผู้นี้คงจะไม่เสียหาย อย่างมากนักบวชต้องการเพียงอาหารเป็นเครื่องตอบแทน ถึงหากสูจะให้อะไรแก่เขามากไปกว่านี้ เขาก็จะไม่รับ สูเชื่อเถิดว่าคนเช่นนี้จะไม่ทำอะไรที่เป็นภัยต่อประโยชน์ของสู "
ขุนสายจึงสั่งให้คนไปนำสีบุญมา เมื่อทั้งสองคนนั่งอยู่ต่อหน้ากันแล้ว ขุนสายถามขึ้นว่า " สีบุญ ข้ารู้ว่าทางดำเนินชีวิตของสูนั้น จะไม่ยอมให้สูอยู่กับเรานานนัก แต่ว่าก่อนที่สูจะจากไปข้าคิดว่าสูคงจะทำบางสิ่งให้แก่เราได้ "
สีบุญ " หากว่าคนธรรมดาเช่นข้า จะทำสิ่งใดให้แก่สูได้ข้ายินดีจะทำ "
ขุนสาย " ข้าจะไม่ให้สูแนะว่าการปกครองบ้านเมืองควรจะทำอย่างไร ทุกๆ คนจะคิดว่าเขารู้ดีกว่าคนอื่นในเรื่องการปกครองยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่เคยพบความยากลำบาก และความกังวลซึ่งผู้ปกครองได้พบด้วยตัวเองแล้ว เขาจะยิ่งรู้สึกว่าเขารู้ดียิ่งนักว่าผู้ปกครองบ้านเมืองควรจะปฏิบัติอย่างไร แต่ว่าสีบุญข้าจะถามสูถึงเรื่องที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับสูตลอดเวลาในชีวิตประจำวันของสู คือว่าเรื่องสวรรค์และนรก สูจะบอกข้าได้หรือไม่ว่าสถานที่สองแห่งนี่้อยู่ที่ไหน และเป็นอย่างไร เมื่อสูบอกแล้วก็จะเป็นอันว่า ที่สูมานี้ได้ทำงานสำเร็จไปแล้ว และก็ถึงเวลาแล้วที่สูจะกลับไปยังถิ่นเดิมของสู "
สีบุญ " เป็นการเสียเวลาที่จะพูดว่าสวรรค์หรือนรกอยู่ที่ใด และเป็นอย่างไร "
" ที่จะกล่าวถึงสวรรค์หรือนรกนั้นเป็นการเสียเวลาหรือ " ขุนสายถาม
" ผู้ที่ไม่เชื่อในสวรรรค์หรือนรก ถึงแม้จะมีคนที่ได้ไปที่นั่นแล้วกลับมาบอกเขา เขาก็จะยังไม่เชื่อ " สีบุญตอบ
" ตัวสูเองเชื่อหรือว่ามีสวรรค์และนรก " ขุนสายถามอีก
" ข้าเชื่อเช่นนั้น " สีบุญตอบ
" เพราะเหตุใด "
สีบุญกล่าวว่า " ขุนสาย หากสูตั้งใจจะฟังโดยแท้จริงข้าจะบอก มิฉะนั้นเราจะเริ่มด้วยคำพูด และจะสิ้นสุดท้ายด้วยคำพูดเหมือนดังที่บางคนกล่าวหาพวกนักบวชอยู่เวลานี้ "
ขุนสายตกลงที่จะฟัง แล้วสีบุญกล่าวแก่ขุนสายดังนี้
" เราพวกนักบวชเชื่อในสวรรค์และนรก เพราะว่าเราเชื่อในครูผู้ใหญ่ของเรา ชีวิตบนพื้นโลกของครูเรานี้สิ้นสุดลดลงเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ว่าเขายังอยู่ เราเดินไปตามทางที่เขาชี้ให้ และเรามีงานที่จะต้องเผยแพร่ความจริงที่เขาได้บอกไว้ เขามิได้บอกเราว่าสถานที่สองแห่งนี้อยู่ที่ใด ยิ่งกว่านั้นเขามิได้บอกด้วยว่าสวรรค์และนรกเป็นสถานที่ เขาเพียงแต่บอกเราว่า หากว่าเราประสงค์จะไปสวรค์เราจะต้องมีความพยายาม ไม่เพียงแต่จะพูดถึงเท่านั้น และเขาชี้ทางให้แก่เรา "
" เราแบ่งทางนั้นออกเป็นแปดทาง โดยย่อคือการทำความเพียรที่ชอบ การคิดชอบ และการกระทำชอบ "
" ขุนสาย สูจะเห็นได้ว่าครูผู้ใหญ่ของเรากล่าวไว้อย่างง่ายมาก เพราะเหตุว่าง่าย ทุกคนจึงอาจรู้ได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ "
" บางคนอาจจะแย้งว่า การทำสิ่งที่ง่ายเหล่านี้จะให้คนไปสู่ความสูงสุดของชีวิตได้อย่างไร ขุนสาย การพูดและการคิดเพียงเพื่อแก้รำคาญนั้นจะไม่ช่วยให้คนไปสู่ที่ใดได้เลยแต่ความเพียรและการลงมือทำจะนำชีวิตไปข้างหน้า "
" ขุนสาย สูเป็นผู้ที่มีความเพียร สูเป็นคนทำงานและเป็นคนคิด สูมีความดีเหล่าอยู่ในตัว แต่ว่ามีบางคนและบางเผ่าที่ก้าวไปถึงขั้นหนึ่งแล้วก็จะหยุดอยู่ และไม่พยายามที่จะปีนต่อไปด้วยเหตุนี้สูจึงได้เห็นบางคนหรือบางเผ่าก้าวหน้า ส่วนคนอื่นหรือเผ่าอื่นยืนอยู่กับที่ แต่ว่าสูเองไม่เหมือนเช่นนั้น สูต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้า "
" ขุนสาย เรื่องจึงอยู่ที่ว่า สูก้าวไปในทางที่ถูกหรือไม่ "
" หากว่าสูเดินตามทางที่ครูผู้ใหญ่ของเราได้บอกไว้ สูจะเดินไปในทางที่ถูกและสูจะไปถึงความสูงสุดของชีวิตซึ่งเป็นสวรรค์ "
" สูเป็นผู้ปกครองของบ้านเมือง อะไรเล่าเป็นความเพียรที่ถูกต้อง เป็นความคิดที่ถูกต้อง และเป็นการกระทำที่ถูกต้องสำหรับผู้ปกครองของบ้านเมือง ผู้ปกครองบ้านเมืองมีหน้าที่จะต้องคิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่ถูกสำหรับเขา "
" ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ดูแลคนในเมืองนั้นเช่นเดียวกับที่สูเป็นผู้ดูแลเจ้าคำตัน ผู้ดูแลจะต้องมีความคิดที่ถูกในหน้าที่ของเขาซึ่งได้แก่การเอาใจใส่ต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ดูแลบ้านเมืองจะมีความคิดที่ถูกต้องไม่ได้ หากเขาคิดว่าหน้าที่เบื้องต้นของเขาคือการรักษาอำนาจ หากเขาคิดเช่นนี้เขาจะใช้อำนาจในทางที่ไม่ขอบเพื่อว่าเขาจะได้อยู่ในอำนาจนั้นต่อไป เขาจะจ้างทหารมากขึ้น มิใช่เพื่อคุ้มครองผู้คนแต่ว่าเพื่อคุ้มครองตัวเขาเอง และเขาจะใช้ทรัพย์สินของผู้คนในบ้านเมืองในทางที่ไม่ชอบ "
" ขุนสาย ความคิดชอบของผู้ปกครองนั้น มิใช่เพียงเพื่อจะมีอำนาจในการปกครอง ผู้ปกครองไม่ควรจะมีความคิดอย่างเด็กๆ เช่นนั้น ผู้ปกครองจะถือบังเหียนของการปกครอง ก็ต่อเมื่อเขาคิดว่าเขาเหมาะที่จะทำงานนั้น และเขาคิดว่าเขาเป็นผู้ปกครองที่ดี "
" ควรหรือที่ใครจะประสงค์ในอำนาจ เหตุใดเราไม่แสวงหาสิ่งอื่นที่สูงกว่าอำนาจ ขุนสาย ครูผู้ใหญ่ของเราบอกเราว่าแม้แต่ที่เราคิดว่าเป็นตัวเรานี้ เรายังคิดไม่ถูกต้องดังนี้แล้วสิ่งที่อยู่กับชีวิตอันสั้นและจำกัดของเราเช่นอำนาจจะมีค่านักหรือ "
" ขุนสาย เมื่ออำนาจไม่ใช่สิ่งที่ควรจะใฝ่หา อำนาจซึ่งกดขี่จะยิ่งร้ายขึ้นเพราะว่าเป็นความชั่ว อำนาจเช่นนี้สร้างความทุกข์และผู้ที่อยู่ใต้อำนาจนี้จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ความเป็นธรรม และเขาจะเกลียดผู้ปกครองของเขา "
" สูจะเป็นใครก็ตาม ขอให้มีความเพียรชอบ มีความคิดชอบ และมีการกระทำที่ชอบ ดังที่ครูผู้ใหญ่ของเราได้แนะไว้แล้วสูจะไปสู่แดนแห่งสวรรค์ สูจะไม่จมลงเบื้องล่างอันเป็นทางไปสู่แดนแห่งนรก "
" ขุนสาย ครูผู้ใหญ่ของเราใช้เวลาหกปีเพื่อค้นหาทางถูกต้องของชีวิต เขาทำความเพียรอยู่หกปีจึงได้ออกมาบอกแก่เพื่อนมนุษย์ถึงทางแปดทางนี้ "
" พวกเราเชื่อว่า ด้วยคำสอนที่ง่ายๆ ของเขานี้ ครูผู้ใหญ่ของเราจะนำมนุษย์ส่วนหนึ่งในภาคนี้ของโลกไปสู่ชีวิตที่สูงขึ้น เพราะเหตุว่าครูผู้ใหญ่ของเรานี้มาจากธรรมะที่ยิ่งใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะนั้นเอง เราขอให้สูเอาใจใส่ในคำสอนของเขา "
" แต่ว่าสูอาจจะคิดว่าสอนของเขานั้นง่ายเกินไป จนไม่จำเป็นจะต้องสนใจ คราวนี้ขอให้ข้าได้พูดกับสูอย่างคนที่ใช้เหตุผลเถิด โดยมิต้องกล่าวถึงครูผู้ใหญ่ของเรา ข้ามิได้มีเหตุผลหรือความคิดสูงยิ่งไปกว่าสู ที่ข้าจะทำได้ก็เพียงแต่กล่าวถึงเรื่องที่สูจะรู้ได้เองเป็นอย่างดี หากสูคำนึงและคิดถึงเรื่องเหล่านี้ "
" สูได้เดินออกไปนอกทางที่ถูกต้อง แต่ว่าไม่มีผู้ใดที่ยังขืนไปทางที่ผิดในเมื่อเขาได้พบทางที่ถูก "
" สูกำลังเดินไปในทางแห่งอำนาจ แต่ว่าทางนี้จะนำไปสู่ความล่มจม "
" ขุนสายเอย บางทีสูจะคิดว่าหากสวรรค์มี เจ้าสวรรค์จะใช้อำนาจ มนุษย์ควรจะกระทำเช่นเทพยดากระทำ "
" การกระทำตามแบบอย่างของเทพยดานั้นสมควรแล้ว แต่จงกระทำในสิ่งที่เรากระทำได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเทพยดาเราเหมือนละอองน้ำที่ระเหยไปทันทีเมื่อต้องแสงแดด เช่นนี้แล้วเรามีอำนาจหรือ เพียงแต่ได้ยินเสียงฟ้าผ่าเราก็คิดวิตกเช่นนี้แล้วเราจะทำตัวให้เหมือนเทพยดาด้วยการหาอำนาจได้หรือ ถ้าสูจะใฝ่สูงก็จงอย่าใฝ่สูงทางอำนาจเพราะมนุษย์ไปในทางอำนาจไม่ได้ไกล "
" บางคนจะแข่งกับเทพยดาด้วยปัญญา เขาคิดว่าทุกสิ่งจะเหนือปัญญาของเขาไม่ได้ แล้วปัญญาจะบอกเขาว่าไม่มีสวรรค์และไม่มีนรก ขุนสายเอย โลกซึ่งเป็นแดนของเรายังมืดสำหรับเรา ปัญญาของมนุษย์ยังน้อยนัก จะรู้ไปถึงแดนของเทพยดาได้อย่างไร "
" เช่นนี้แล้ว สูอย่าได้คิดว่าจะเข้าใจสวรรค์และนรกได้ "
" แต่ ขุนสายเอย มนุษย์จะทำตัวให้เหมือนเทพยดาได้ก็ด้วยน้ำใจ น้ำใจเท่านั้นที่ไม่มีขอบเขต ความดีทั้งปวงเป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้ มนุษย์อยู่ในวิสัยที่จะทำความดีเช่นเดียวกับเทพยดาเรามีความรัก ความเมตตา และความยุติธรรมได้เช่นเดียวกับที่เทพยดาได้ สูเป็นผู้ปกครองแคว้นไต๋อยู่ เป็นโอกาสของสูแล้วที่จะสร้างความดีให้แก่ราษฎร สูอาจจะสร้างระเบียบอันงามในแคว้นไต๋เช่นเดียวกับที่เทพยดาสร้างระเบียบอันงามของโลกนี้ เพราะโลกมีระเบียบอันงามมีวันเวลาฤดูกาลหมุนเวียนไปเป็นปกติ มนุษย์และสัตว์ตลอดจนพันธุ์ไม้จึงปกติอยู่ได้และเป็นสุข "
" ในทำนองเดียวกัน จากระเบียบอันงามที่สูจะสร้างได้ในวงการปกครอง ชาวไต๋จะเป็นสุขและสูจะเป็นต้นเหตุแห่งความสุขนั้น และทุกคนจะเชื่อฟังสูและนับถือสูเสมือนสูเป็นบิดาและชาวเมืองเป็นบุตร "
" ขุนสายเอย เวลาใดชาวเมืองเชื่อฟังและนับถือสู เวลานั้นสูจะเป็นผู้นำของชาวเมือง
" ผู้ปกครองที่ราษฎรต้องฝืนใจทำตามคำสั่งนั้นหาใช่ผู้นำไม่ชาวเมืองจะไม่เรียกผู้ปกครองเช่นนั้นว่าผู้นำ แต่เขาจะเรียกผู้ปกครองนั้นว่าผู้กดขี่ให้คนเป็นทาส "
" ขุนสายเอย ผู้ปกครองที่แท้นั้นมิใช่ผู้ใช้อำนาจแต่เป็นผู้ใช้คุณธรรม เขาจะนำคุณธรรมเข้าสู่วงการปกครองและจะขับไล่ความชั่วออกไปนอกวงการปกครอง "
" สูจงเป็นผู้ปกครองเถิด และจงใช้อำนาจเพียงเท่าที่จะทำให้วงการปกครองปลอดจากความชั่ว ความทุจริต การสอพลอและการกดขี่ "
" สูมิละอายใจบ้างหรือที่สูไม่ยอมให้คนสกปรก ย่ำเท้าเข้ามาในวังนี้ แต่สูกลับยอมในวงการปกครองสกปรกด้วยความชั่วต่างๆ ขุนสายเอย ไม่มีอะไรแล้วที่จะเปื้อนได้ยิ่งกว่าความชั่ว "
" จงแสวงคุณธรรมซึ่งจะทำให้สูเป็นที่รักของราษฎรอย่าแสวงอำนาจ เพราะอำนาจมิได้ทำให้ผู้ใดเป็นสุข อำนาจทำให้ผู้ปกครองต้องอยู่โดดเดี่ยว แยกไปจากราษฏร "
" ขุนสายเอย สูอายุพอสมควรแล้ว คนหนุ่มอาจจะหลงไปในอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจได้รับการยกย่องและได้รับความยำเกรงแต่สูมีอายุพอจะรู้ได้แล้วว่าการยกย่องหรือยำเกรงต่อกันนั้นเป็นความล่อลวง ทุกคนพอจะรู้ได้ว่าการยกย่องมักเกิดขึ้นเพราะหวังในประโยชน์ และการยำเกรงมักเกิดขึ้น เพราะกลัวจะเสียประโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้แล้วอำนาจเป็นสิ่งดีนักหรือ "
" สูคงรู้ว่าอำนาจนั้นจะสิ้นไปเมื่อใดก็ได้ เสมือนอาภรณ์ประดับตัว จะเป็นสิ่งทำให้ผู้ใดสูงขึ้นก็หาไม่แต่น้ำใจอันเมตตาของผู้ปกครองนั้น ทำให้ผู้ปกครองเป็นเทพยดาของราษฎรทั้งปวง "
" กล่าวถึงอาภรณ์ เจ้าเมืองอาจจะใช้อาภรณ์ราคาสูง อาจจะอยู่ในวังโอ่อ่า แต่ถ้าน้ำใจเขาไม่สูงกว่าราษฎรแล้ว เขาจะมีอะไรให้ราษฎรนับถือได้เล่า สูจงมีน้ำใจต่อราษฎรเถิด จงสนใจต่ออำนาจเพียงเท่าที่อำนาจจะช่วยให้การปกครองเรียบร้อยและเจริญขึ้นได้ จงอย่าใช้อำนาจให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎร จงอย่าใช้อำนาจให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างราษฎร "
" แทนที่จะใช้อำนาจเป็นอาภรณ์ประดับตน สูจงใช้อาภรณ์ที่ดีกว่า อาภรณ์นั้นคือความสามารถที่จะทำให้ราษฎรเชื่อฟังด้วยความเต็มใจ เสมือนนักขี่ม้าที่สามารถทำให้ม้าเชื่องและเต็มใจทำตามผู้ขับขี่ "
" ข้ารู้ว่าสูจ้างทหารไว้มาก เพื่อให้การปกครองของสูมั่นคงสูจ้างไว้ทั้งที่เป็นชาวไท และที่มิใช่ชาวไท แต่การปกครองมิได้มั่นคงด้วยกำลังของทหาร มิได้มั่นคงด้วยเหล็กที่มาตีเป็นดาบ และมิได้มั่นคงด้วยทองที่ใช้จ้างทหาร แต่ความรักและความนับถือของราษฎรในตัวผู้ปกครองจะทำให้การปกครองนั้นมั่นคง และทำให้ผู้ปกครองเป็นที่พึ่งของผู้อยู่ในปกครอง "
" ทหารจ้างของสูอาจกลายเป็นศัตรู หากเขาได้รับประโยชน์จากผู้อื่นมากกว่า แล้วดาบที่ใช้ป้องกันสูจะกลับมาทำลายสู แต่ความรักและความนับถือจากผู้อยู่ในปกครองนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่จะค้ำจุนการปกครองได้ดีกว่าอำนาจทั้งปวง "
" สูจะได้ความรักและความนับถือจากราษฎรเมื่อสูปกครองด้วยความยุติธรรมและด้วยความเมตตา แต่สูจะได้ความเกลียดชังหากสูปกครองด้วยความมักใหญ่ เพราะว่าความมักใหญ่มิใช่ความดี แต่จะนำสูไปสู่การกระทำอันไม่สมควร "
" ความมักใหญ่เป็นความมัวเมา ผู้ใดเดินตามความมักใหญ่ผู้นั้นคือทาส หาใช่ผู้ปกครองไม่ ผู้ปกครองนั้นจะต้องปกครองตัวของเขาเองได้ มิใช่ให้ความมัวเมามาปกครองตน "
" ความมักใหญ่อาจจะเกิดดอกผลเป็นอำนาจ แต่ดอกผลนั้นจะไม่ยั่งยืนและจะเป็นพิษขึ้นภายหลัง สูจงละความมักใหญ่เสียเถิด "
" ความมักใหญ่จะทำให้น้ำใจของผู้ปกครองกระด้างแล้ว การปกครองจะกระด้างตามไป และความมักใหญ่นั้นเป็นที่เกิดแห่งความอิจฉา ผู้ปกครองใดมีความมักใหญ่ผู้นั้นจะได้รับภัยทั้งจากตนเองและผู้อื่น "
" สูจงละความมักใหญ่เสีย จงปกครองด้วยความเมตตาและความยุติธรรม ไม่มีความดีอย่างอื่นอีกแล้วที่จะสูไปกว่านี้ สูอาจจะเป็นนักรบที่เก่งกล้าและมีกำลัง แต่คนจะกลัวและเกลียดความเก่งกล้าของสู สูอาจจะเป็นผู้มีปัญญาล้ำเลิศ แต่คนจะไม่ไว้ใจปัญญาของสู ส่วนความเมตตาและความยุติธรรมนั้น ทำให้คนรักและเข้ามาหาและไว้ใจ "
" ขุนสายเอย ไม่ยากเลยที่เราจะมีความเมตตาและความยุติธรรม เพียงแต่เราประสงค์เท่านั้น คุณธรรมทั้งสองนี้จะเกิดแก่เรา เป็นคุณธรรมที่ไม่ต้องอาศัยความเฉียบแหลมของความคิดเป็นคุณธรรมที่ทั้งหญิงและชายมีได้เท่าเทียมกัน ขุนสายเอย ผู้ใดไม่กล้าหาญ เราอาจจะอภัยเขาได้เพราะจิตใจเขาไม่แข็งแรง ผู้ใดโง่ เราจะต้องอภัยให้แก่เขา เพราะเนื้อธาตุของเขาเป็นเช่นนั้น แต่ผู้ใดไม่มีความเมตตาและความยุติธรรม ผู้นั้นจะแก้ตัวได้อย่างไร เพราะว่าเพียงแต่เขาปรารถนาเท่านั้น ความเมตตาและความยุติธรรมก็จะมีขึ้นในตัวของเขา
" และถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองขาดความเมตตา และความยุติธรรมเสียแล้ว ความโหดร้ายและความไม่เป็นธรรมจะเข้าปกครองบ้านเมืองนั้น ความเดือดร้อนและความทุกข์จะเกิดแก่พลเมือง แล้วผู้ปกครองจะแก้ตัวได้อย่างไร เพราะว่าไม่เป็นการยากที่ผู้ปกครองจะสร้างความเมตตาและความยุติธรรม "
" ขุนสายเอย จงบอกข้าเถิดว่า ที่ข้ากล่าวนี้ผิดหรือถูก สูจงบอกเถิดว่า ข้าเอาความจริงของโลกมากล่าวหรือนักบวชเป็นผู้ล่อลวง "
" จงบอกข้าเถิดว่าข้าเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู ข้ามาเพื่อประโยชน์ของสูหรือของข้า หรือข้ามาเพื่อทำลาย "
ขุนสายก็นิ่งอยู่ แล้วลุกออกไป
๔...
ในคืนนั้นคำอ้ายมาหาขุนสาย มีบ่าวถือห่อใหญ่ตามมา ขุนสายจึงถามว่า " สูไปได้สิ่งใดมา "
คำอ้าย " ข้ากับอุยกิมขุนนางจิ๋นติดต่อกันเสมอ และข้าให้อุยกิมส่งของห่อนี้มาให้ เป็นพรมสีแดงเช่นที่กษัตริย์จิ๋นใช้ปูในวังและในที่ที่กษัตริย์จิ๋นจะไปทำพิธี กษัตริย์ย่อมเหนือคนทั้งปวง การต้อนรับกษัตริย์จะต้องทำเป็นพิเศษ พรมสีแดงเช่นนี้ราษฎรและขุนนางชาวจิ๋นจะใช้ไม่ได้ มีแต่เจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่จะใช้ได้ สูเป็นใหญ่ในแคว้นไต๋ก็ควรจะมีของใช้แตกต่างไปจากราษฎรสามัญ ข้าจึงนำพรมสีแดงนี้มาให้ " แล้วบ่าวก็ปูพรมนั้นในห้องขุนสาย ขุนสายเห็นพรมงามยิ่งนักก็มีความพอใจ
แล้วคำอ้ายกล่าวแก่ขุนสายว่า " ข้าทราบว่าวันนี้สูสนทนากับนักบวชเป็นเวลานาน "
ขุนสายเล่าถ้อยคำของสีบุญให้คำอ้ายฟัง เมื่อจบแล้วขุนสายกล่าวว่า " ที่สีบุญกล่าวนี้ก็น่าฟังอยู่ หากข้าจะรับคำสอนของครูผู้ใหญ่ของสีบุญไว้ สูคิดหรือไม่ว่าจะดีต่อข้า "
คำอ้ายหัวเราะงอหาย แล้วกล่าวว่า " หากว่าสูจะทำตามนักบวชผู้นี้ หรือตามคำแนะนำของนายของเขาที่ให้มีความเพียรที่ชอบ สูจะต้องออกไปแสวงหาคนที่สูคิดว่าปกครองได้ดีกว่าสูแล้วให้เขามาทำการปกครองแทน แต่แล้วผู้นั้นอาจจะปกครองไม่เป็นก็ได้ และเพื่อที่จะให้มีความคิดที่ถูกต้อง สูจะต้องถามความห็นของทุกคนว่าจะทำการปกครองอย่างไร และหากสูต้องการจะเดินไปในทางที่เรียกว่าการกระทำที่ชอบดังที่ครูผู้ใหญ่ของสีบุญได้ประกาศไว้ เมื่อใครจะมาฉกชิงอำนาจของสู สูจะต้องให้เขาไปและสูจะต้องออกไปไถนาเพื่อที่จะแสวงหาบางสิ่งที่จะดีกว่าอำนาจสูคิดหรือว่าสูจะได้ไปสู่สวรรค์ โดยการเชื่อฟังคำแนะนำของครูของสีบุญ เป็นไปไม่ได้แน่ คำแนะนำนั้นจะนำไปสู่นรกและสูอย่าได้เชื่อคำของสีบุญเมื่อเขายกย่องครูของเขาเป็นผู้ที่เหนือมนุษย์ ครูของเขามีชีวิตอยู่จนแก่ และตายไปอย่างคนแก่หนังเหี่ยวย่นผู้หนึ่ง เช่นนี้แล้วเขาจะมาจากธรรมะที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะได้อย่างไร "
แล้วคำอ้ายกล่าวต่อไปว่า " สีบุญผู้นี้เล่ห์กลมากนัก เขาต้องการทำลายอำนาจของเมืองไต๋ด้วยลิ้นของเขา หากสูเชื่อสีบุญ สูจะต้องปลดทหารหนึ่งหมื่นที่ประจำตัวสูอยู่เวลานี้และไปหวังพึ่งน้ำใจประชาชน จะมีอะไรไร้ความแน่นอนเหมือนน้ำใจของประชาชนเล่า ในยามเดือดร้อนและทุกข์ยากประชาชนจะโกรธแค้น และตำหนิผู้ปกครองในทุกๆ เรื่องแม้แต่ในความเกียจคร้านของตนเอง ในยามที่มีความสุขและความสมบูรณ์ ประชาชนจะโอหังและเหยียดหยามผู้ปกครองของตน เมื่อผู้ปกครองบหมดอำนาจลง ประชาชนจะลืมผู้ปกครองคนเก่าของตนและจะทอดทิ้งผู้ปกครองนั้นเหมือนเกวียนเก่าที่ผุพังแล้ว นี่คือน้ำใจของประชาชนที่สีบุญแนะให้สูหวังพึ่ง "
" อนึ่งเล่า หากสูจะให้ความเมตตาแก่ประชาชนเป็นที่ตั้งในการปกครอง สูจะต้องเดินตามประชาชนแทนที่จะให้ประชาชนเดินตามผู้ปกครอง อะไรจะผิดธรรมดายิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว หากคนขี่ต้องตามใจม้า ทั้งม้าทั้งคนจะพบกับความเดือดร้อนไม่มีสิ้นสุด หากหัวงูจะต้องตามหางงู งูนั้นจะพบความพินาศในไม่ช้า สูจงคิดดูเถิด "
" สีบุญแนะให้สูละจากอำนาจ แต่เรารู้มาตั้งแต่โบราณกาลแล้วว่า เจ้าสวรรค์ก็ดี เทพยดาผู้ครองโลกก็ดี หรือเทพยดาผู้ปกครองนรกก็ดี ในมือถืออาวุธทั้งสิ้น บางองค์ถือสายฟ้า บางองค์ถือกงจักร บางองค์ถือหอก ไม่มีเทพยดาองค์ใดถือความเมตตา อยู่ในมือขวา และความยุติธรรมอยู่ในมือซ้าย เมื่อเบื้องบนยังปกครองด้วยอำนาจอยู่ เบื้องล่างบนพื้นโลกนี้ผู้ปกครองจะใช้อะไรเล่าถ้าไม่ใช้อำนาจเช่นเดียวกัน ผู้ปกครองต้องเฉียบขาด และต้องไม่เกรงที่จะถูกหาว่าโหดร้าย ผู้ปกครองเช่นนี้เท่านั้นที่ราษฎรจะนิยมและเกรงกลังและเชื่อฟัง "
" ใจของผู้ปกครองนั้นจะต้องไม่เหมือนกับใจของราษฎร เขาจะต้องรู้ว่าเขาเป็นเทพยดาในหมู่ราษฎร สูต้องเป็นเช่นนั้น และอย่าให้ความเมตตาที่สีบุญพร่ำสอนมาขัดขวางการปกครองของสู "
" คำแนะนำต่างๆ ของสีบุญนั้นอาจจะใช้ได้สำหรับให้ราษฎรยึดถือ แต่ผู้ที่เป็นผู้ปกครอง เขาแยกตัวออกมาจากราษฎรแล้ว ในตำแหน่งผู้ปกครองเขาจะเอาความคิดอย่างราษฎรมานำทางของเขาไม่ได้ ผู้ปกครองอาจจะต้องฆ่าบุตร ฆ่าภรรยา หรือฆ่าพ่อแม่ของตนโดยไม่ทุกข์ใจ เพราะเหตุว่าในการปกครองบ้านเมือง เขามิใช่บิดา มิใช่สามี และมิใช่บุตรของผู้ใด เขาเป็นผู้ปกครองที่ต้องรักษาอำนาจการปกครองไว้ มิให้ผู้ใดมาทำลายเสียได้ ดังนั้นเมื่อญาติของเขาก็ดี เพื่อนของเขาก็ดี มุ่งร้าย หรือขัดขวางการปกครองของเขา เขาจะต้องใช้อำนาจเด็ดขาด มิใช่ใช้ความเมตตาที่นำมาแต่ความดูหมิ่นและความทุกข์ในภายหลัง "
" อำนาจเท่านั้นที่ให้ความสุขแท้จริง แต่สีบุญกำลังแนะนำให้สูหาความสุขจากความฝันแล้วอำนาจแท้จริงและความสุจขากอำนาจในบ้านเมืองจะตกเป็นของเจ้าคำตันและนางคำระย้าซึ่งกำลังขัดขวางการปกครองของสู "
" อนึ่งเล่า สูจงระวังสีบุญให้มาก เพราะเป็นพี่ชายของกุมภวาเจ้าเมืองลือ กุมภวาไม่พอใจที่เราไม่นำทหารไปให้ เขาใช้ในการสู้รบกับจิ๋น และเขาคิดอยู่เสมอที่จะยึดแคว้นไต๋ไว้ในอำนาจเพราะเราไม่ยอมให้เขาเป็นใหญ่ในหมู่แคว้นไท หากสูอ่อนแอไปตามคำสีบุญ กุมภวาจะเข้ายึดแคว้นไต๋ได้โดยง่าย ดังนี้แล้วสูจะเห็นได้ว่าคำพูดของสีบุญแฝงความล่อลวงไว้ให้สูตายใจ แล้วในที่สุดภัยจะมาถึงสู ขอให้ระวังเถิด "
ขุนสายเบิกตากว้าง และกล่าวว่า " สูทำให้ข้าตาสว่าง ขึ้นบัดนี้เราควรจะจัดการกับ
สีบุญอย่างไร "
คำอ้าย " ถ้าจะฆ่าเสีย ชาวเมืองจะว่าเราได้ เพราะชาวเมืองมิได้คิดว่าสีบุญเป็นภัยแก่แคว้นไต๋ แต่ถ้าปล่อยให้สีบุญพำนักอยู่ในวังนานไปอีก สีบุญก็จะยุยงคนทั้งปวงให้เกลียดชังเรา และให้นับถือท้าวคำปูนนางคำระย้าและเจ้าคำตัน สูจงให้สีบุญออกไปเสียจากแคว้นไต๋โดยเร็วเถิด "
ขุนสาย " ข้าจะอ้างเหตุอย่างไรในการขับนักบวชผู้นีไป "
คำอ้าย " จงอ้างว่าคำสอนของนักบวชไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์ของแคว้นไต๋ ความจริงมีอยู่ดังนี้ จึงไม่ยากที่เราจะหาข้ออ้างสำหรับขับไล่สีบุญ "
ขุนสายเห็นด้วย แล้วในวันรุ่งขึ้นขุนสายก็ไปที่สีบุญ เห็นนางคำระย้ากับสีบุญกำลังสนทนากันอยู่ และเจ้าคำตันนั่งฟังอยู่ด้วย ขุนสายถามเจ้าคำตันว่า " วันก่อนสูได้บทเรียนจากหมากรุกวันนี้สูได้อะไรเป็นบทเรียน "
เจ้าคำตันตอบว่า " วันนี้ข้าได้ฟังคำของสีบุญสำหรับเตือนใจไว้มาก แต่ที่จำได้แม่นยำคือ คนชั่วที่มีอำนาจในบ้านเมืองนั้นสัตว์ป่าจะไม่ร้ายเท่า "
ขุนสายได้ฟังก็โกรธ และหันไปกล่าวแก่สีบุญว่า " ข้าได้อดทนให้สูมาอยู่ในแคว้นไต๋หลายวันแล้ว เมื่อได้ฟังถ้อยคำของสูก็เห้นว่ามีแต่ด่าผู้ปกครองบ้านเมืองและเสี้ยมสอนให้ชาวเมืองกระด้าง หากคำของสูแพร่ไปในหมู่ทหารและราษฎร ชาวเมืองจะเกลียดการปกครองของข้า ข้าไม่ประสงค์จะให้สูอยู่ในเขตเมืองไต๋อีกต่อไป จงออกไปจากวังนี้เสียโดยเร็ว "
เจ้าคำตันได้ฟังก็ตวามขุนสายว่า " สูเอาทุกสิ่งไปจากข้าแล้ว ข้าจะมีนักบวชเป็นเพื่อนสักคน สูยังขัดขวางอีกหรือ "
ขุนสายก็เรียกทหารมาดึงตัวเจ้าคำตันออกไป นางคำระย้าก็จำต้องตามไปด้วย แล้วขุนสายกล่าวแก่สีบุญว่า " เพียงไม่กี่วันที่สูมาอยู่ที่นี่ เจ้าคำตันก็กำเริบขึ้นมากแล้ว สูจงรีบออกไปจากแคว้นไต๋เสียโดยเร็ว "
สีบุญก็ออกไปจากวัง ก่อนที่จะพ้นประตูวังไปขุนสาย กล่าวแก่สีบุญว่า " สูเป็นนักบวช คงมีเวลาว่างสำหรับการสนทนามากข้าคิดว่าสูคงไม่เอาเรื่องที่เห็นภายในวังนี้ไปว่าร้ายให้เสื่อมเสียแก่ข้าอีกต่อไป "
สีบุญกล่าวว่า " เรานักบวชต้องทำงานด้วยมือด้วยแขนมิได้หยุด ไม่มีเวลาเหลือที่จะพูดเรื่องของสู แต่ว่าก่อนที่ข้าจะไปข้าขอฝากความเป็นห่วงไว้ สูจะยินดีฟังหรือไม่ "
ขุนสายตอบว่า " สูจงกล่าวมาเถิด "
สีบุญ " ข้าเห็นว่า ผู้มีอำนาจนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรรักษาญาติไว้ ถ้าหมดญาติ เมื่อภัยมาถึงตัว จะไม่มีใครช่วยเหลือ "
ขุนสายหัวเราะในคำแนะนำของสีบุญ และกล่าวตอบไปว่า " ข้ารู้ว่าสูมิได้คิดถึงความปลอดภัยของข้า แต่คิดถึงความปลอดภัยของนางคำระย้าและคำตัน คำแนะนำของสูนั้นไม่เคยใช้ได้แก่ผู้ปกครองบ้านเมือง ข้าที่ชื่อว่าขุนสายมีเพื่อนและมีญาติได้ แต่ผู้ปกครองไม่มีเพื่อนและญาติ ผู้ใดขัดขวางอำนาจของผู้ปกครอง ผู้นั้นจะต้องถูกขจัดไป "
เมื่อสีบุญพ้นประตูวังมาแล้ว เขากล่าวกับตนเองว่า " ข้ามาครั้งนี้ช่วยใครไม่ได้เลย นางคำระย้ากับคำตันเห็นจะมีภัย "
เมื่อสีบุญพ้นประตูวังไปแล้ว ขุนสายก็ให้ปิดประตูนั้นทันที
ในคืนวันที่สีบุญออกไปจากวังนั้นเอง ขุนสายจัดให้มีการเลี้ยงสุราขึ้น ตัวขุนสายเองดื่มสุรามากและบ่าวคนหนึ่งเดินมาข้างหลังล้มลงไปทำให้ขุนสายตกใจ ขุนสายฉวยดาบหันไปฟัน บ่าวนั้นร้องได้คำเดียวก็ขาดใจ ขุนสายให้คนไปตามคำอ้ายมา และกล่าวว่า " คำอ้าย ข้าเสียใจอยู่ที่บ่าวสนิทของข้าคนนี้ตาย เพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุเช่นนี้ นักบวชก็ไปเสียแล้ว มิฉะนั้นข้าจะให้เขาชี้แจง แต่สูก็มีปัญญาจงชี้แจงให้ฟังว่า มิฉะนั้นข้าจะให้เขาชี้แจง แต่สูก็มีปัญญาจงชี้แจงให้ฟังว่า ที่ข้าเมาสุราและหันไปฟันบ่าวผู้นี้ตาย อะไรเป็นเหตุ สุราที่ข้าดื่มหรือแขนของข้า หรือดาบ หรือว่าตัวหนักงานนั้นเองที่ทำให้เกิดความตาย "
แล้วขุนสายกับคำอ้ายก็นั่งเสพสุราและถกเถียงกันถึงเรื่องที่ทำให้บ่าวนั้นตาย ส่วนศพยังคงเหยียดอยู่เบื้องหน้านั้นเองบรรดาคนอื่นๆ ในที่นั้นก็กลัวขุนสายยิ่งขึ้น
๕...
มีอยู่บ่อยๆ ที่ขุนสายนำหญิงเข้าไปบำเรอตนในวังนั้น ส่วนนางลำยองผู้เป็นภรรยานั้น ขุนสายไม่เอาใจใส่ นางลำยองทั้งกลุ้มใจในความชั่วของสามีและเสียใจที่ตนถูกทอดทิ้ง ในที่สุดนางล้มป่วยและถึงแก่ความตาย ส่วนขุนสายกลับก่อความหยาบช้าหนักขึ้น หญิงบางคนต้องการให้สามีของตนมีความชอบก็ยอมตัวให้แก่ขุนสายแล้วขุนสายก็บำเหน็จรางวัลผู้เป็นสามี ขุนสายมัวเมาอยู่กับสตรีและสุรา และปล่อยให้คำอ้ายควบคุมกิจการบ้านเมืองแทน
อยู่มาวันหนึ่งขุนสายกล่าวกับคำอ้ายว่า " บรรดาภรรยาของกรมการเมืองไต๋ ข้าได้เห็นเป็นส่วนมากเพราะผู้เป็นสามีนำมาให้ข้ารู้จัก แต่กำพลนั้นไม่เคยนำภรรยามาหาข้าเลยและข้าได้ยินว่าภรรยาของกำพลนอกจากจะดีในการบ้านเรือนแล้ว ยังมีความงามเป็นเอก เป็นความจริงตามนี้หรือ "
คำอ้ายกล่าวว่า " จะจริงเพียงใดนั้น สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สูกับข้าจงไปดูกันเถิด"
เย็นนั้นคำอ้ายพาขุนสายไปยังบ้านของกำพล กำพลออกมาต้อนรับโดยดี แต่กำพลรู้ว่าขุนสายมักพอใจในภรรยาของผู้อื่น กำพลจึงมิให้นางบุญอาบออกมา
ขุนสายสนทนาอยู่กับกำพลจนถึงเย็น บ่าวของกำพลก็ยกอาหารมาเลี้ยง หลังจากกินแล้วขุนสายถามกำพลว่า " ใครเป็นผู้ปรุงอาหารในบ้านสู "
กำพลตอบว่า " ภรรยาข้าเป็นผู้ปรุง "
ขุนสายจึงกล่าวว่า " ข้าไม่เคยกินอาหารรสดีอย่างนี้เลย ขอชมว่านางมีฝีมือเป็นเลิศ จงให้นางออกมาให้ข้ารู้จักด้วยเถิด "
กำพลก็จำใจไปบอกนางบุญอาบให้ออกมาพบขุนสาย ขุนสายเมื่อเห็นนางมีความงามสมดังคำลือก็พอใจนางยิ่งนัก และจ้องดูนางมิได้ขาด นางบุญอาบเห็นอาการของขุนสายเช่นนั้นนางจึงขอตัวลาไป
ขุนสายเมื่อกลับมาแล้วก็คิดอยู่เสมอที่จะให้ได้นางบุญอากมาหลับนอนด้วย และขุนสายจัดงานเลี้ยงขึ้นในวังบ่อยๆ โดยเชิญกำพลกับนางบุญอาบไปร่วมด้วยแต่ทุกครั้งที่ขุนสายเชิญกำพลจะไปแต่ผู้เดียว มินำนางบุญอาบไปด้วย ขุนสายเห็นอุบายของตนไม่สำเร็จจึงปรึกษากับคำอ้ายว่า " ข้าพอใจนางบุญอาบยิ่งนัก ครั้นจะให้ทหารฉุดคร่าเอานางมา กำพลก็มีพวกอยู่มาก สูคิดว่าทำอย่างไรข้าจึงจะได้นาง "
คำอ้ายกล่าวว่า " กำพลชอบเล่นหมากรุก สูจงเชิญกำพลเข้ามาเล่นหมากรุกในวังเถิด แล้วนางบุญอาบจะเป็นของสูโดยง่าย "
แล้วคำอ้ายแจ้งอุบายให้ขุนสายทราบ
ตั้งแต่นั้นมาขุนสายก็เชิญกำพลเข้าไปเล่นหมากรุกพนันในวังเสมอ กำพลชนะขุนสายบ่อย และเมื่อกลับมาบ้านก็แจ้งให้นางบุญอาบทราบ นางบุญอาบจึงกล่าวแก่สามีว่า
" ทุกครั้งที่สูเข้าไปในวังข้าเป็นห่วงเสมอ เพราะขุนสายเป็นคนโหดร้ายและเจ้าเล่ห์ขอให้สูเลิกไปในวังเสียเถิด "
กำพลกล่าวว่า " ข้าเห็นว่าที่ขุนสายเป็นมิตรกับข้าก็ดีอยู่ อนึ่งเมื่อขุนสายสนใจกับหมากรุก ขุนสายจะทุเลาทำความหยาบช้าเหตุนี้ข้าจึงเข้าไปเล่นหมากรุกกับขุนสาย ขอสูอย่าได้ห้ามเลย "
นางบุญอาบยอมต่อถ้อยคำของสามี และมิได้ทักท้วงอีกแต่หนักใจอยู่ เกรงว่าภัยจะเกิดแก่สามี
อยู่มาวันหนึ่ง กำพลเล่นหมากรุกกับขุนสายอยู่จนค่ำ ขุนสายจึงกล่าวแก่กำพลว่า
" ฝีมือของข้าเป็นรองอยู่มาก อนึ่งคืนนี้ข้าไม่ค่อยสบาย สูจงเล่นกับคำอ้ายเถิด "
แล้วกำพลก็เล่นกับคำอ้าย แต่พ่ายต่อคำอ้ายอยู่เรื่อยจนในที่สุดทรัพย์พนันที่ติดตัวอยู่หมดไป คำอ้ายจึงกล่าวว่า " ข้ามีแหวนอยู่วงหนึ่ง สูก็มีอยู่วงหนึ่ง กระดานนี้เราพนันเอาแหวนกันเถิด "
แล้วกำพลกับคำอ้ายก็ถอดแหวนออกเป็นเดิมพัน ในที่สุดกำพลแพ้ คำอ้ายเอาแหวนนั้นมาเก็บไว้แล้วลอบมอบให้บ่าวคนหนึ่ง แล้วคำอ้ายกล่าวแก่กำพลว่า " สูหมดสินพนันแล้ว จงยืมของข้าไปก่อน "
แล้วทั้งสองคนก็เล่นพนันกันต่อไป
ส่วนบ่าวของคำอ้าย เมื่อได้รับแหวนแล้ว ก็ไปยังบ้านของกำพล และกล่าวแก่นางบุญอาบว่า " กำพลให้สูเข้าไปในวังเพราะมีการด่วน "
แล้วบ่าวนั้นก็ยื่นแหวนให้ นางบุญอาบจำได้ว่าเป็นแหวนของสามีจึงรีบเข้าไปในวัง บ่าวนั้นนำนางไปยังท้ายวังห่างจากที่กำพลเล่นหมากรุกอยู่ และกักนางไว้ที่นั่นและบ่าวนั้นก็มาแจ้งแก่ขุนสาย
ขุนสายไปที่นาง และเล้าโลมให้นางสมัครใจกับตนโดยดี แต่นางกลับตำหนิขุนสายต่างๆ ขุนสายเข้าใจว่านางมีมารยาจึงเข้าใช้กำลัง แต่นางไม่ยินยอม ขุนสายจึงกล่าวว่า
" หากสูไม่ยินยอมโดยดี สูจะไม่ได้กลับไปจากห้องนี้ "
แล้วขุนสายชักมีดจ่ออกนางไว้ นางก็กล่าวแก่ขุนสายว่า " ข้ายอมตายดีกว่าที่จะให้ใครมาข่มเหงน้ำใจข้า สูคิดว่าหญิงสในเมืองไต๋นี้หมดความรักสามีเสียทุกคนแล้วหรือ "
ขุนสายกล่าวว่า " สูจะไม่ตาย แต่กำพลจะต้องตาย ข้าจะให้ฆ่ากำพลเสียในคืนนี้ แล้วประกาศทั่วไปว่ากำพลลอบเข้ามาทำชู้กับผู้หญิงในวัง สูจะปล่อยให้กำพลตายหรือ "
แล้วขุนสายกล่าวต่อไปว่า " ข้ารักสู จึงได้กระทำดังนี้ ข้าไม่ประสงค์ให้สูมีภัย "
นางบุญอาบก็จนใจ และร้องไห้อยู่
เมื่อขุนสายได้นางเป็นที่พอใจแล้วก็กล่าวแก่นางว่า " สูจงปกปิดเรื่องนี้ไว้แล้วข้าจะชุบเลี้ยงกำพลให้ได้ดีต่อไป แต่ถ้าสูไปเปิดเผย กำพลจะกลายเป็นศัตรูของข้า ในแคว้นไต๋นี้ศัตรูของข้าจะอยู่ได้ไม่นานนัก "
นางบุญอาบก็นิ่งอยู่ แล้วขุนสายให้บ่าวพานางกลับบ้าน
กำพลเล่นหมากรุกอยู่จนใกล้สว่าง เมื่อกลับไปถึงบ้านเห็นนางบุญอาบร้องไห้อยู่
กำพลจึงปลอบนางว่า " บุญอาบเอยต่อไปนี้ข้าจะไม่ทิ้งสูไว้ในเวลาค่ำคืนอีกแล้ว ข้าจะไม่เข้าไปในวังเวลาค่ำคืนอีก "
นางบุญอาบกล่าวว่า " ข้าจะเสียใจเพราะถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพังนั้นหามิได้ แต่กำพลเอย สูเข้าไปในวังด้วยคิดจะให้ขุนสายบรรเทาความหยาบช้า แต่สูกลับช่วยให้ขุนสายหยาบช้าแก่ภรรยาของสูได้ "
แล้วนางเล่าเหตุการณ์ให้กำพลฟัง และส่งแหวนให้ดูกำพลก็กล่าวแก่นางบุญอาบว่า
" ข้าจะไปฆ่าสัตว์ร้ายตัวนี้ให้ได้ " แล้วเขาฉวยดาบเตรียมจะออกไป
นางบุญอาบเข้ากอดสามีไว้ และกล่าวว่า " กำพล ข้ามิได้ยอมตายเสียที่ในวังของ
ขุนสายก็เพราะข้าต้องการจะกลับมาบอกให้สูออกไปจากเมืองไต๋ จากนี้ไปในเมืองนี้ภัยจะตามตัวสูตลอดไป แต่บัดนี้สูจะวิ่งไปหาภัยนั้นเสียเอง ขุนสายมีทหารจ้างไว้รอบตัว สูจะตายเสียก่อนที่จะไปถึงตัวขุนสายจงหนีไปเถิด ข้าจะขออยู่รับกรรมไปคนเดียวที่นี่ " แล้วนางก็ร้องไห้
กำพลกอดภรรยาของเขาไว้และบอกนางว่า " ข้าจะไม่ยอมทิ้งสูไว้ ความทุกข์ที่
ขุนสายทำต่อสูครั้งนี้เป็นของข้าด้วย ข้าจะไม่ออกไปจากเมือง แต่จะอยู่แก้แค้นให้ได้ "
นางบุญอาบกล่าวแก่สามี " หากว่าสูจะซ่อนตัวในเมืองนี้คนของขุนสายจะค้นพบสูจนได้ และหากสูจะไปมาอย่างคนอื่นๆ ขุนสายก็จะสงสัยและวันหนึ่งสูจะถูกสังหารโดยไม่รู้ตัว
แล้วนางก้มหน้าและอ้อนวอนให้สามีออกไปเสียจากเมือง
ในที่สุดกำพลกล่าวว่า " ข้าจะไม่ทิ้งสู แต่จะหาวิธีอยู่ในเมืองได้ต่อไปเพื่อฆ่าขุนสาย ขอสูอย่าได้ท้อใจ เราคงจะแก้แค้นความอัปยศครั้งนี้ได้ "
๖...
จากนั้นมา กำพลทำเป็นป่วย แล้วในไม่ช้าก็ทำเสียจริต และนางบุญอาบบอกแก่ผู้มาเยือนว่า สามีเสียจริตเพราะความไข้ บางครั้งกำพลจะยืนกล่าวกลอนในหมู่คน บางครั้งจะแบกแอกเดินไปตามถนน เมื่อใครเห็นแล้วหัวร่อ กำพลจะบอกว่าทุกคนอยู่ใต้แอกทั้งสิ้นแล้วจะมาหัวร่อเขาด้วยเหตุใด
ขุนสายเมื่อกระทำแก่นางบุญอาบแล้วก็เกรงว่าความจะรู้ถึงกำพล ขุนสายจึงให้คนไปสอดแนม เมื่อคนสอดแนมมาแจ้งว่ากำพลเป็นบ้าไปแล้วเพราะความไข้ ขุนสายก็คลายความหวาดระแวง
ส่วนกำพลนั้นเวลามีสหายมาเยี่ยม เขาจะกล่าวกลอนที่เขาแต่งขึ้นเอง บางกลอนกล่าวถึงความสุขของบรรพชน และความทุกข์ของคนปัจจุบัน บางกลอนกำพลจะอ้างว่า จ้าวให้เขาบอกแก่ชาวไต๋ให้ไปอยู่ตามดอย ตามถ้ำเหมือนคนโบราณ เพราะที่นั่นแผ่นดินไม่ชั่วเหมือนในเมือง สหายบางคนกำพลบอกให้ช่วยต่อกลอน ด้วยวิธีนี้กำพลได้คนเป็นพวกหลายคน เพื่อกำจัดขุนสายกับพวก
แต่มีสหายของกำพลผู้หนึ่งชื่อ พันสา เป็นหมอรักษาไข้ เมื่อพันสาได้ข่าวว่ากำพลคลุ้มคลั่งเป็นครั้งคราวจึงไปเยี่ยม เมื่อเห็นอาการของกำพล พันสาก็กล่าวว่า " สูกระทำดังนี้พอจะลวงชาวเมืองได้แต่จะลวงข้ามิได้ สูกำลังคิดการอันมีภัยอย่างใดหรือจึงต้องใช้ความคลุ้มคลั่งเป็นเครื่องพราง "
กำพลเล่าเรื่องที่จะคิดกำจัดขุนสายกับคำอ้ายให้พันสาทราบและกล่าวว่า " เวลานี้เรารวมกันได้มากแล้ว สูจงร่วมงานกับเราเถิด "
พันสากล่าวว่า " กำพลเอย ที่สูกับสหายอื่นๆ คิดการดังนี้ข้าสรรเสริญ แต่การช่วยบ้านเมืองนั้นแล้วแต่ผู้ใดจะถนัดทางใดข้าเองสนใจทางอื่นอยู่ ซึ่งไม่ต้องใช้กำลังเข้าทำลายกัน สูจงอย่าให้ข้าร่วมเลย "
กำพลก็ไม่ขอร้องพันสาอีกและต่อมาคนรู้จักกันอีกคนหนึ่งชื่อสานน มาเยี่ยม ขณะนั้นกำพลนอนอยู่เหมือนคนไข้ สานนจึงถามกำพลว่า " หมอบอกว่าเมื่อใดสูจะหายไข้และเป็นปกติเหมือนพวกเราได้ "
กำพลตอบว่า " ข้าจะหายไข้ต่อเมื่อเมืองเราหายจากโรคร้ายแล้วเท่านั้น "
สานนก็รู้ว่ากำพลมีความในใจอยู่เกี่ยวกับเมืองไต๋เขาจึงถามต่อไปว่า " โรคของเมืองเราสูคิดว่าจะแก้ไขได้อย่างไร "
กำพลตอบว่า " เมื่อใดคนเมืองไต๋เอาเนื้อร้ายออกไปเสียจากเมืองของตนได้ เมืองไต๋ก็จะเป็นปกติ "
สานนตอบว่า " ทุกคนรู้ในความเจ็บป่วยของเมืองเราอยู่ แต่ที่จะเอาเนื้อร้ายออกไปนั้นต้องใช้มีดหมอและใช้ฝีมือที่เชี่ยวชาญ และถึงอย่างไรคนไข้ก็จะเสียเลือดมาก ที่สูจะตัดเนื้อร้ายออกจรากบ้านเมืองก็เหมือนกัน บ้านเมืองนั้นจะเจ็บปวดยิ่งนัก พื้นดินและสายน้ำจะแดงไปด้วยเลือด พอที่เนื้อร้ายจะหลุดหายได้เองเมื่อหมดกำลังของมันและคนไข้อาการดีขึ้นเอง บ้านเมืองนั้นอาจจะถึงหมดกำลังและไม่ฟื้นขึ้นมาได้ ดังนั้นหากหมอไม่แน่ใจว่าจะรักษาโรคร้ายได้ก็จงยับยั้งและดูอาการต่อไปก่อนเถิด "
กำพลก็ไม่ชักชวนสานนอีก เพียงแต่เขากล่าวว่า " เมื่อสูไม่ร่วมด้วยเวลานี้ ข้าจะขอเพียงอย่าขัดขวาง "
สานนก็สาบานว่าเขาจะไม่แพร่งพรายความคิดของกำพล และพวกที่จะกำจัดขุนสาย
ต่อมาท้าวคำปูนไปเยี่ยมกำพล ท้าวคำปูนเห็นกำพลนอนเฉยอยู่ ก็ถอนใจ
นางบุญอาบจึงกล่าวแก่ท้าวคำปูนว่า " สูคงจะไม่สบายในใจอยู่ จึงดูไม่เป็นสัขนัก "
ท้าวคำปูนตอบว่า " ใครเล่าจะเป็นนสุขในยามนี้ได้ กำพลป่วยการก็ดีแล้ว ไม่ต้องเอาความไข้ของเมืองไต๋มาเก็บไว้สสนใจให้เกิดทุกข์ "
กำพลก็ลุกขึ้นนั่งและกล่าวว่า " อาการป่วยของข้ามีความไข้ของบ้านเมืองเป็นต้นเหตุ หากว่าผู้ใดจะรักษาความไข้นั้น เขาจะมีข้าเป็นเพื่อน "
แล้วกำพลเล่าให้ท้าวคำปูนฟังถึงการคบคิดกัน ท้าวคำปูนดีใจยิ่งนัก และกล่าวว่า
" ข้าดีใจยิ่งนักที่เมืองไต๋ยังมีคนกล้าหาญอยู่ ข้าเองคิดอยู่เสมอที่จะชักชวนผู้อื่นให้ล้มอำนาจของขุนสาย แต่ ถูกคนสอดแนมของขุนสายติดตามมิได้ขาด ใครจะไปหาข้าก็ไม่กล้า ข้าจะไปบ้านผู้ใดผู้นั้นก็จะถูกสงสัยและจะมีภัยแก่เขา เมื่อสูสามารถรวบรวมพวกได้ด้วยอุบายเช่นนี้ข้าจะขอร่วมด้วย "
๗...
ต่อมาผู้คบคิดกันสิบห้าคนได้ไปชุมนุมกันในถ้ำนอกเมืองและตั้งท้าวคำปูนเป็นหัวหน้า ท้าวคำปูนจึงกล่าวแก่คณะว่า " แม้พวกเราทั้งหมดจะมีพวกเป็นกำลังอยู่ แต่ก็ไม่พอจะต่อสู้กับทหารจ้างของขุนสาย เราต้องได้กำลังจากเมืองซำ เมืองสาด และเมืองพุมเรียง ข้าจะของให้เจ้าคำตันเขียนหนังสือถึงเจ้าเมืองทั้งสอามให้ยกคนมาช่วย เพราะเมื่อขุนสินยังมีชีวิตอยู่ เจ้าเมืองทั้งสามภักดีต่อขุนสินอยู่ และคงจะภักดีต่อบุตรขุนสินต่อไป "
สุปันผู้เคยเป็นทหารประจำตัวขุนสินจึงกล่าวว่า " เจ้าคำตันถูกคุมตัวอยู่เช่นนี้ หากขุนสายจับหนังสือของเจ้าคำตันได้ หรือขุนสายรู้ว่าเจ้าคำตันเรียกทัพของหัวเมืองทั้งสามมา เจ้าเมืองของเราจะมิเป็นอันตรายหรือ "
ท้าวคำปูนกล่าวว่า " เจ้าคำตันเป็นหลานของข้า ข้าก็รักมากอยู่ไม่อยากให้ได้รับอันตราย แต่เจ้าคำตันจะเป็นผู้ครองเมืองต่อไปในภายหน้า ดังนั้นเขาจะต้องกระทำหน้าที่ของเขาบ้าง "
ผู้คบคิดทั้งปวงได้ฟังเช่นนั้น ก็รู้สึกว่าได้เลือกหัวหน้าถูกต้องแล้ว และทุกคนมีน้ำใจที่จะทำงานยิ่งขึ้น
แล้วท้าวคำปูนก็ไปหาเจ้าคำตันในวัง และเล่าถึงการคบคิดกันให้ทราบ และขอหนังสือจากเจ้าคำตันพร้อมกับพูดว่า " จดหมายของสูจะช่วยให้เราได้คนมากขึ้นสำหรับสู้กับขุนสาย แต่ว่าสูจะเขียนให้หรือไม่นั้นแล้วแต่สูเถิด "
เจ้าคำตันตอบว่า " ข้าจะต้องเขียนให้แน่นอน มีใครอีกเล่าที่จะเดือดร้อนจากมือของขุนสายเหมือนเราแม่ลูก "
แล้วเจ้าคำตันก็เขียนหนังสือถึงเจ้าเมืองซำเป็นความว่า " ข้าเจ้าคำตันขออวยพรมายังท้าวเกตุเจ้าเมืองซำ ด้วยว่าเมื่อครั้งขุนสินบิดาข้ายังมีชีวิตอยู่ สูกับบิดาข้าก็ได้พึ่งซึ่งกันและกัน เมื่อไต๋เป็นสุขเมืองซำก็เป็นนสุข เมืองไต๋เป็นทุกข์ เมืองซำก็เป็นทุกข์ เมืองสาด และเมืองพุมเรียงก็ผูกพันกับเมืองไต๋ในทำนองนี้ บัดนี้บิดาของข้าสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อขุนสายเข้ามารักษาตำแหน่งเจ้าเมืองในระหว่างข้ายังเยาว์อยู่นี้ ขุนสายรักแต่อำนาจ แบ่งพนักงานออกเป็นนสองพวก ผู้ใดทำงานเพื่อราษฎรโดยแท้จริง ขุนสายก็มิได้เอาใจใส่หรือสนับสนุน ผู้ใดทำงานเพื่อตัวขุนสาย ขุนสายก็ยกย่องให้มีอำนาจ ด้วยเหตุนี้และด้วยเหตุที่ขุนสายฆ่าคนในปกครองได้อย่างไม่ปรานี ชาวเมืองไต๋ทั้งปวงและข้าเองจึงสงสัยว่าขุนสายจะเป็นผู้ฆ่าพี่ชายของตน เพื่อความเป็นใหญ่ของตนเอง ยิ่งกว่านั้นขุนสายยังได้คุมข้ากับมารดาให้อยู่แต่ภายในกำแพงวัง เหมือนจะเอาชีวิตลูกไว้ เป็นประกันความปลอดภัยของขุนสายเอง แต่เราแม่ลูกจะห่วงชีวิตก็หาไม่ คิดอยู่แต่ว่าเมื่อใดคุณธรรมจะเข้ามาแทนความชั่วที่ครองงำแคว้นไต๋อยู่ขณะนี้ ความทุกข์มีอยู่ดังนี้ ท้าวคำปูนกับชาวเมืองไต๋จึงคบคิดันจะทำลายอำนาจของขุนสายแต่กำลังมีน้อย ข้าจึงของให้สูนำคนมายังเมืองไต๋สมทบกับพวกของท้าวคำปูน อนึ่ง กาไสย เจ้าเมืองสาด ท้าวฮอดเจ้าเมืองพุมเรียงข้าก็เชิญมาในการนี้ด้วย สูจงช่วยเถิด "
เจ้าคำตันเขียนหนังสือถึงกาไสย เจ้าเมืองสาดและท้าวฮอดเจ้าเมืองพุมเรียงด้วยข้อความอย่างเดียวกัน แล้วมอบหนังสือให้ผู้เป็นลุง
ท้าวคำปูนพร้อมกับบ่าวห้าคนก็ขึ้นม้าลอบออกจาเมืองไป เมื่อไปถึงเมืองซำ ท้าวคำปูนเข้าไปหาท้าวเกตุ เมื่อท้าวเกตุ เห็นหนังสือของคำตันก็กล่าวแก่ท้าวคำปูนว่า " คำปูนเอย เมื่อขุนสินยังอยู่ เราพูดกันบ่อยๆ ว่าผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทำตัวเหมือนสุนัขคอยพิทักษ์ภัยแก่ฝูงสัตว์เลี้ยง คือราษฎรในปกครอง แต่ขุนสายกลับทำตัวเป็นสุนัขป่าเข้าทำลายสัตว์เลี้ยงเสียเอง สูจงรีบไปยังกาไสยเจ้าเมืองสาด กับท้าวฮอดเจ้าเมืองพุมเรียงเถิด ส่วนข้าจะรีบนำทหารไปยังเมืองไต๋ ถ้าอีกสองเมืองจะมีใจเช่นเดียวกับข้า ก็ให้ไปสมทบกันที่ตะกาดสาวริมน้ำชำโขง "
แล้วท้าวเกตุเขียนหนังสือถึงกาไสยและถึงท้าวฮอดมอบให้แก่ท้าวคำปูนไป ความในหนังสือนั้นมีว่า ให้ช่วยกันปราบขุนสาย ส่วนตนนั้นยกกำลังคนล่วงหน้าไป
ท้าวคำปูนออกจากเมืองซำไปหากาไสยเจ้าเมืองสาด เมื่อท้าวคำปูนให้หนังสือของเจ้าคำตันแก่กาไสยอ่านและแจ้งเหตุภายในเมืองไต๋ให้กาไสยทราบแล้ว ท้าวคำปูนก็กล่าวแก่กาไสยว่า " กาไสยเอย เมืองสาดกับเมืองไต๋อยู่ร่วมกันด้วยความสมัครใจ บังคับกันไม่ได้ อนึ่งการเข้าช่วยปราบขุนสายครั้งนี้ หากทำไม่สำเร็จ ภัยจะมีแก่สูได้ เราจึงมีแต่ความนับถือและความนิยมเท่านั้นที่จะให้แก่สูสำหรับการเสี่ยงภัยครั้งนี้ "
กาไสยตอบว่า " คำปูนเอย ข้าคอยมานานแล้วว่าเมื่อใดชาวไต๋จะลุกขึ้นกับขุนสายกับคำอ้ายแล้วข้าจะได้เข้าร่วมด้วยในการต่อสู้ระหว่างคนดีกับคนชั่วนั้น ข้าเป็นกลางอยู่ไม่ได้ จะต้องเข้าช่วยขับคนชั่วเหมือนสุนัขล่าเนื้อขับเหยื่อ สูรีบไปยังท้าวฮอดเจ้าเมืองพุมเรียงเถิด ส่วนข้าจะนำคนไปสมทบกับท้าวเกตุ แต่ข้าไม่แน่ใจในท้าวฮอดนักเพราะเขากำลังเป็นสุขอยู่กับภรรยาใหม่ "
แล้วกาไสยนำทหารไปยังตะกาดสาวริมน้ำชำโขง ส่วนท้าวคำปูนเดินทางต่อไปยังเมืองพุมเรียง
เมืองพุมเรียงขณะนั้นท้าวฮอดเป็นเจ้าเมืองอยู่ เมื่อปีก่อนภรรยาเดิมของท้าวฮอดถึงแก่กรรม ท้าวฮอดไปได้ภรรยาใหม่จากเมืองเชียงแส ชื่อว่านางลำเพา และท้าวฮอดหลงนางนี้ยิ่งนักนางคล่องแคล่วในการเจรจา และมีฝีมือในการขับร้องและการเป่าขลุ่ย บิดามารดาของนางเป็นชางเม็งอาศัยอยู่ในกระท่อมนอกเมืองเม็ง มีอาชีพปลูกผักขาย เมื่อเล็กอยู่นางช่วยบิดามารดาปลูกผักและรดน้ำผักทุกวัน นางร้องเพลงไปและรดน้ำผักไป และนางร้องเพลงได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย และมีเสียงไพเราะยิ่งนัก ต่อมามีคณะฟ้อนรำจากเมืองเชียงแส เข้ามาแสดงในงานฉลองเมืองเม็ง และเมื่อคณะฟ้อนรำผ่านไร่ผักของบิดานางลำเพา พันสงหัวหน้าคณะได้ยินนางร้องเพลงอยู่ในไร่ จึงเข้าไปดูเมื่อเห็นนางรูปร่างงดงาม จึงเข้าไปขอนางจากบิดา นางลำเพากล่าวแก่บิดาว่า " สูก็ยากจน จงขายข้าเสียเถิดสูจะได้สบายขึ้น ข้าเองก็จะไม่ต้องรดน้ำผักอีกต่อไป "
บิดานางลำเพาก็ขายนางให้แก่คณะฟ้อนรำนั้น เมื่อมาอยู่เชียงแส นางฝึกการร้องและการเป่าขลุ่ยจนไม่มีใครกระทำได้ไพเราะเท่า เมื่อนางอายุได้สิบห้า พันสงเอานางเป็นภรรยาและพันสงเอานางไปร้องเพลงในบ้านของคนมีทรัพย์บ่อยๆ ต่อมานางลำเพาเปลี่ยนสามีไปได้กับน้ำเงินพ่อค้าขายม้าของเชียงแส และนางช่วยให้น้ำเงินร่ำรวยขึ้นมากจนการติดต่อของนางกับผู้อื่น ทั้งด้วยปัญญาของนางและด้วยตัวของนาง เมื่อน้ำเงินจะติดต่อกับลำพูนเจ้าเมืองเชียงแสนางก็ไปแทน และพยายามให้ลำพูนพอใจในตัวนาง เมื่อนางบุญฉวีเห็นนางมาทำตัวทอดสนิทกับสามีตน นางบุญฉวีจึงเตือนมิให้นางเข้าไปหาลำพูนอีกแต่นางลำเพาก็ขืนไปหาลำพูนอีก นางบุญฉวีจึงเอาคันธนูไล่นางออกมา นางหัวเราะและกล่าวแก่นางบุญฉวีว่า " วันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้รู้ว่าธนูของสูกับเสียงของข้าอะไรจะดีกว่า " ตั้งแต่นั้นมานางก็มิได้ไปติดต่องานกับลำพูนอีกเลย และนางไม่อยากจะเป็นภรรยาของนายวาณิชอีกต่อไป
เมื่อท้าวฮอดมาเยือนเมืองเชียงแส น้ำเงินต้องการจะขายม้าจำนวนมากแก่ท้าวฮอด จึงเชิญท้าวฮอดมากินเลี้ยง นางลำเพาร่วมวงด้วย และเป่าขลุ่ยและขับร้อยให้ท้าวฮอดฟัง เมื่อท้าวฮอดจะกลับ นางลำเพาเอาตัวเข้าเบียดท้าวฮอด ท้าวฮอดจึงถามว่า " เหตุใดสูจึงทำดังนี้ "
นางตอบว่า " ผู้ที่จะเป็นเจ้าเมืองได้ต้องมีบุญเหลือไว้สำหรับคนอื่นบ้าง ข้าเอาตัวสัมผัสสูเพื่อขอแบ่งบุญบ้างมิได้หรือ "
ท้าวฮอดเป็นม่าย และพอใจนางอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อท้าวฮอดกลับจากเมืองเชียงแส จึงซื้อม้าของน้ำเงินไปมาก แต่ภรรยาของน้ำเงินหายไปด้วย ต่อมาปรากฎว่าท้าวฮอดได้ภรรยาใหม่มีฝีมือการร้องเพลงและการเป่าขลุ่ยเป็นเอก และสามารถเจรจาความเมืองแทนท้าวฮอดได้ นางนั้นชื่อลำเพา
เมื่อท้าวคำปูนเข้าไปพบท้าวฮอด นางลำเพาออกมาเจรจาด้วย ท้าวฮอดนั้นกำลังเพลิดเพลินอยู่กับนางลำเพาและกับเสียงขับร้องซึ่งนางลำเพาจัดขึ้น ท้าวฮอดจึงไม่อยากจะไปได้ยินเสียกลองศึก และเสียงอาวุธประสานกันในสนามรบ เมื่อท้าวคำปูนอ้อนวอนให้ไปร่วมการศึก ท้าวฮอดจึงนิ่งอยู่
นางลำเพาจึงกล่าวแก่สามีว่า " ท้าวคำปูนมาเชิญถึงบ้านแล้ว จงไปช่วยเขาเถิด เมื่อใดเล่าคนจะมีชื่อได้เหมือนเมื่อนำทัพไปสงคราม เมื่อใดเล่าเสียของสตรีจะน่าฟังเหมือนเมื่อขับร้องยกย่องฝีมือของนักรบ สูไปแล้วข้าจะเตรียมเสียงประสานไว้รอชัยชนะอยู่ที่นี่ "
ท้าวฮอดไม่อยากให้ภรรยาตำหนิตนเป็นคนขลาด จึงกล่าวแก่ท้าวคำปูนว่า " สูจงรีบไปรวบรวมชาวไต๋เถิด ข้าจะนำทัพไปสมทบกับกาไสยและท้าวเกตุ "
ท้าวคำปูนก็รีบเดินทางกลับและในไม่ช้าท้าวฮอดก็นำทัพพุมเรียงไปยังต้นแควชำโขง
เมื่อท้าวฮอดไปแล้ว นางสนทองคนสนิทของนางลำเพาที่ตามนางมาจากเชียงแส เอ่ยแก่นางว่า " สูให้ท้าวฮอดเข้ากับฝ่ายหัวเมืองที่มีกำลังน้อยกว่าขุนสาย ข้าเป็นห่วงนักว่าเราจะหมดคนช่วยเหลือหากฝ่ายหัวเมืองทำงานไม่สำเร็จ "
นางลำเพากล่าวว่า " สนทองเอย คนเราจะมีโชคใหญ่หรือมีชื่อได้ก็ในเวลาที่บ้านเมืองยุ่งยาก ข้าจึงให้ท้าวฮอดไปร่วมในการศึกครั้งนี้ ฝ่ายหัวเมืองอาจจะพ่ายต่อขุนสายเพราะกำลังคนมีน้อยแต่ข้าจะให้โชคมาอยู่กับข้าเสมอ ส่วนที่สูเกรงว่าเราจะหมดคนช่วยเหลือนั้น ข้าไม่เคยได้ใครช่วย มีแต่ว่าข้าช่วยคนอื่นด้วยฝีมือของข้า ข้าต้องพึ่งฝีมือข้าเองตลอดมา ข้าจึงไม่กลัวว่าข้าจะหมดที่พึ่ง ขอให้เรารอชัยชนะอยู่ที่นี่เถิด ดังที่ข้าได้บอกท้าวฮอด "
๘...
ทัพของท้าวเกตุ ท้าวฮอด และกาไสย พบกันที่ตะกาด สาวที่ต้นแควชำโขงและรอท้าวคำปูนอยู่ที่นั่น ในไม่ช้าท้าวคำปูนและกำพลก็นำคนของตนมาสมทบ และชาวเมืองไต๋ที่เกลียดการปกครองของขุนสาย เมื่อทราบว่าหัวเมืองทั้งสามขบถต่อขุนสาย ก็ออกมาสมทบด้วยเป็นอันมาก แล้วฝ่ายขบถก็เดินทัพตรงไปยังเมืองไต๋และเจ้าเมืองทั้งสามยกท้าวคำปูนเป็นแม่ทัพใหญ่
ขุนสายเมื่อทราบว่ามีทัพของหัวเมืองและท้าวคำปูนยกมาจึงเรียกคำอ้ายมาและกล่าวว่า " การศึกครั้งนี้เราจะแก้ไขอย่างไร จึงจะกำจัดฝ่ายขบถเสียได้ "
คำอ้ายแนะนำว่า " ถ้าเราคอยให้ทัพหัวเมืองเข้าถึงชานเมืองคนเมืองไต๋จะเข้าใจว่าเราอ่อนแอ และจะไปสมทบกับฝ่ายขบถอีก สูกับข้าควรยกกำลังไปปราบเสียโดยเร็ว อย่าทันให้ข้าศึกรวมกำลังได้มากขึ้น "
ขุนสายจึงกล่าวว่า " หากเราทิ้งเมืองไป ก็จะเสมือนทิ้งถ้ำไว้ล่อใจเสือ คนใดที่เป็นศัตรูแก่เราก็อาจจะยึดเมืองไว้เป็นของตน "
คำอ้ายกล่าวว่า " จะมีคนใดมีปัญญาถึงเพียงนั้น ข้ายังไม่เห็น เพราะว่าคนมีฝีมือที่เป็นศัตรูของเราเช่นท้าวคำปูนและกำพล ก็ไปตั้งธงขบถอยู่กับทัพของหัวเมืองทั้งสามแล้ว อันตรายของเราจะมีก็จากเสือแม่ลูกที่อยู่ในวังนี้ ด้วยว่าชาวเมืองไต๋ยังฝักใฝ่อยู่กับสองคนนี้ และที่เกิดขบถขึ้นเพราะท้าวคำปูนถืออำนาจของเจ้าคำตันไปสั่งให้เจ้าเมืองทั้งสามยกทัพมา สูจงกำจัดแม่ลูกสองคนนี้เสียและนั่นแหละอำนาจของสูจะได้เหนือคนทั้งปวง สำหรับการรักษาเมือง สูอาจตั้งคนโง่สักคนหนึ่งให้รักษาไว้ได้ ด้วยวิธีนี้เมืองไต๋จะรอสูอยู่จนกว่าจะกลับมา "
ขุนสายเห็นด้วย และให้ทหารไปคุมตัวนางคำระย้ากับเจ้าคำตันไว้ และในคืนนั้นขุนสายให้ทหารเอาสายธนูกับยาพิษไปมอบแก่มารดาและบุตร
นางคำระย้าเห็นเช่นนั้นก็ร้องไห้ เจ้าคำตันจึงกล่าวว่า " สูเป็นภรรยาของขุนสินและเป็นมารดาของข้า ไฉนจึงอ่อนแอความตายนั้นใกล้กับครอบครัวของเจ้าเมืองอยู่เสมอ และความตายครั้งนี้ช่วยให้เราพ้นความหยาบช้าของขุนสาย สูจงดีใจเถิดอย่าได้ร้องไห้ "
นางคำระย้าก็ได้สติ และกล่าวแก่บุตรว่า " คำตันเอย ให้ข้าดื่มยาพิษตายก่อนลูกเถิด ข้าเห็นลูกตายต่อหน้าไม่ได้ "
แล้วนางคำระย้าก็ดื่มยาพิษไปถ้วยหนึ่ง ในไม่ช้าก็นิ่งไป เจ้าคำตันไม่แน่ใจว่ามารดาตายไปแล้วก็นิ่งรออยู่ คนคุมจึงกล่าวว่า " สูจะต้องตายอยู่แล้ว จะช้าอยู่ไย หรือจะให้ข้าใช้สายธนูรัดคอ "
เจ้าคำตันตอบว่า " สูจงคอยสักครู่เถิด เพราะข้าไม่แน่ใจว่ามารดาข้าจะสิ้นลมไปแล้ว หากฟื้นขึ้นมาและเห็นข้าตายนางจะร้องไห้อีก ในชีวิตของนาง นางร้องไห้มามากแล้ว อย่าให้นางร้องมากขึ้นอีกเลย "
ผู้คุมกล่าวว่า " สูมีเหตุผลของสู แต่สำหรับข้าเล่า ข้าไม่มีเหตุผลจะต้องรอ ถ้าสูจะให้ข้าเสียเวลา สูมีอะไรตอบแทนเล่า "
" สูได้เบี้ยหวัดเป็นประจำจากบ้านเมืองแล้ว สูไม่ควรจะมาเรียกเอาจากชาวบ้านอีก " คำตันบอกแก่ผู้คุม
ผู้คุมกล่าวว่า " สูดูเหมือนจะไม่รู้เสียเลยว่าการปกครองของบ้านเมืองเวลาเป็นอย่างไร พวกเราคนทำงานให้แก่บ้านเมืองได้รับค่าจ้างต่ำจนเราต้องหาทางช่วยตัวและครอบครัวจากบำเหน็จรางวัลที่ชาวบ้านให้ เมื่อข้าเรียกร้องจากสู ข้าเพียงแต่ทำความเป็นธรรมให้แก่ข้าเอง เพราะว่าบ้านเมืองไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ข้า สูจะตำหนิข้ามิได้ "
คำตันถอนใจยาวและถอดแหวนส่งให้ผู้คุมไป แล้วเขาก้มลงกระซิบต่อร่างมารดาว่า
" ได้ยินหรือไม่แม่ ในบ้านเมืองของเราเวลานี้ แม้แต่จะขอหายใจอีกสักครู่ก่อนตายยังต้องถูกเรียกของกำนัล "
คำตันมองไปยังร่างที่ไม่ไหวติงของมารดาอีกพักหนึ่งแล้ว เขาเอามีดสั้นจากผู้คุมมาจิกที่ปลายนิ้วมารดา เมื่อเห็นว่าร่างนั้นไม่เคลื่อนไหว เขาก็เชื่อว่ามารดาตายแน่แล้ว เจ้าคำตันจึงดื่มยาพิษที่เหลือ และในไม่ช้าก็สิ้นใจ
ผู้คุมจึงไปแจ้งให้ขุนสายทราบ แล้วขุนสายให้คนของตนไปจับภรรยาและครอบครัวของผู้ที่หนีไปสมทบกับพวกขบถมาขังไว้ และให้ริบทรัพย์ของคนเหล่านั้นทั้งหมด แต่สำหรับนางบุญอาบนั้นขุนสายสั่งให้นำมายังตน
นางบุญอาบเมื่อทราบว่าทหารจะมากุมตัวก็หนีออกจากบ้านทหารไล่ตามไป เมื่อถึงริมน้ำโขง นางบุญอาบไม่อาจจะหนีต่อไปได้อีก เพราะฝั่งโขงสูงชันและน้ำเชี่ยว แต่ทหารกำลังติดตามใกล้เข้ามา นางบุญอาบเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่แล้ว จึงหันไปทางน้ำโขงแล้ว
กล่าวว่า " แม่น้ำเอย แผ่นดินเป็นพิษแล้วข้าสุดจะอยู่ได้จงรับข้าไว้ด้วยเถิด "
แล้วนางทิ้งตัวลงในแม่น้ำโขง และหายไปในกระแสน้ำเบื้องล่าง
ขุนสายนั้นก็ยกทัพไป และให้สมเกิดรักษาเมืองแทน
๙...
ทัพสองฝ่ายพบกันที่หมู่บ้านตองสา ชาวบ้านมีอาชีพทำนาแต่ทุ่งนาแถบนั้นเนื้อดินไม่อุดม ทำนาไม่ได้ผลและทัพทั้งสองรบกัน ณ ที่นั้น เป็นเวลาสามวัน ทหารทั้งสองฝ่ายกลายเป็นศพไปเป็นอันมาก แล้วทั้งสองฝ่ายตั้งทัพยันกันอยู่ ต่อมาฝ่ายทัพของขุนสายขาดแคลนน้ำจึงถอยทัพไป ทัพฝ่ายหัวเมืองก็ติดตามไป ทั้งสองฝ่ายทิ้งศพทหารไว้ทั้งหมดหกพันคน ในปีนั้นและปีต่อมาชาวเงี้ยวแห่งบ้านตองสาทำนาได้ข้าวมากมายจากเนื้อ เลือด
และไขมันของศพนักรบ ส่วนกระดูกนั้นกีดขวางการไถนา ชาวบ้านจึงเก็บมาสุมเป็นกองใหญ่ และเรียกกองกระดูกนั้นว่ากองนักสู้
เมื่อขุนสายเคลื่อนทัพมาถึงริมน้ำโขง ก็ให้ทหารข้ามไปและสั่งให้ตั้งค่ายอยู่ริมน้ำและบนเชิงเขาเป็นสองแนว
ท้าวคำปูน เมื่อมาถึงเห็นฝ่ายข้าศึกตั้งค่ายอยู่จึงสั่งให้ฝ่ายตนตั้งค่ายบ้าง แต่ท้าวฮอดคิดถึงนางลำเพาภรรยาของตนอยู่มากใคร่จะให้เสร็จการศึกโดยเร็ว และเมื่อเห็นว่าฝ่ายขุนสายเคลื่อนทัพหนี ท้าวฮอดก็เข้าใจว่ากำลังของฝ่ายขุนสายอ่อนกว่า จึงกล่าวแก่ท้าวคำปูนว่า " ข้าศึกกำลังหนีเราและเสียขวัญอยู่ ควรที่เราจะข้ามไปโจมตี เหตุใดสูจึงให้ทหารมาหยุดที่นี่เล่า "
ท้าวคำปูนกล่าวว่า " ฝ่ายเราได้เปรียบดังสูว่าก็จริงอยู่ แต่การข้ามน้ำขึ้นตลิ่งไปสู้กับข้าศึกซึ่งอยู่ที่สูงกว่า ทหารคนหนึ่งของข้าศึกจะสามารถสู้กับทหารของเราสามคน ข้าจึงให้ตั้งค่ายเพื่อรอโอกาส อันการศึกนั้นหากไม่เห็นว่าจะได้เปรียบก็หาควรเข้าเสี่ยงให้เปลืองชีวิตทหารไม่ "
ท้าวฮอดไม่พอใจและกล่าวว่า " ที่ข้าพาชาวพุมเรียงมาอยู่ใต้อำนาจของสูครั้งนี้ เราจะได้ประโยชน์อันใดก็หาไม่ เพียงแต่จะได้ชื่อว่ามาช่วยชาวไต๋ให้พ้นจากความเป็นทาสของขุนสาย สูรักที่จะให้ตนตเองมีอิสระ แต่สูรักที่จะเห็นพวกเราอยู่ใด้บังคับสูนานวัน จงทำศึกไปโดยลำพังเถิด ข้ากลับไปฟังเสียงขับร้องของภรรยาข้าดีกว่า จะมาทนลำบากอยู่ตามป่าตามทุ่งไปไย "
ท้าวคำปูนก็จนใจยิ่งนัก และนายทัพอื่นๆ ก็จำนิ่งอยู่ เพราะรู้ว่าหากขาดกำลังจากพุมเรียงแล้ว จะชนะขุนสายไม่ได้
และกำพลนั้นมีผู้ส่งข่าวมาให้ในวันนั้นว่า นางบุญอาบภรรยาของตนกระโดดน้ำตายที่ลำน้ำโขงเพื่อหนีอำนาจของขุนสายกำพลก็แค้นขุนสายยิ่งนัก จึงกล่าวแก่ท้าวคำปูนว่า
" ที่ท้าวคำปูนเป็นห่วงชีวิตทหารนั้น ก็สมควรแก่หน้าที่ของแม่ทัพใหญ่ ส่วนหน้าที่ของเราคือการฟังคำสั่งของแม่ทัพ แต่เราที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหากลัวความตายไม่ หากเราชนะศึกได้เร็ว ชาวไต๋ก็จะเป็นอิสระได้เร็ว หากเราต้องเสียชีวิตเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว และชีวิตของเราก็จะพ้นความเป็นทาสของขุนสาย ดังนั้นในการรบครั้งนี้เราไม่มีอะไรที่จะต้องเสีย แต่ถ้าเราล่าข้าไป ความเดือดร้อนจะมีแก่ผู้บำรุงกองทัพราษฎรจะต้องส่งเสบียงอาหารให้เราเพิ่มขึ้น ความไม่พอใจจะเกิดขึ้นแก่ราษฎรของเมืองซำ เมืองสาดและเมืองพุมเรียง เหตุนี้ข้าจึงว่าควรยกข้ามน้ำไปสู้กับข้าศึก ข้าเองจะอาสาออกหน้าทหารทั้งปวง "
นายกองทั้งปวงก็โห่ร้องพอใจคำพูดของกำพล ท้าวคำปูนจึงสั่งให้ทหารรุกข้ามน้ำไป
กำพลนั้นมือซ้ายถือโล่หนัง มือขวาถือหอกและมีดาบคาดไหล่ นำหน้าทหารไป เมื่อถึงริมน้ำกำพลเอ่ยขึ้นว่า " นางโขงเอยบุญอาบของข้าไม่เคยพูดหรือทำอะไรให้กระเทือนผู้อื่นแม้แต่น้อยในชีวิตของนาง แต่ขุนสายยังทำลายนางได้ บัดนี้ขุนสายอยู่ข้างหน้าโน้น ข้าขอข้ามสูไปแก้แค้นให้แก่นาง หากไม่สำเร็จข้าจะไม่ข้ามมาอีก "
แล้วกำพลลุยน้ำนำหน้าทหารไป ฝ่ายทัพของขุนสายเห็นข้าศึกข้ามมา ก็ระดมยิงธนูขวางไว้ ทหารฝ่ายหัวเมืองตาย และบาดเจ็บไปไม่น้อย ลำน้ำโขง ณ ที่นั้นมีเนินทรายอยู่กลางน้ำ เมื่อทหารฝ่ายหัวเมืองถึงเนินทรายพลธนูก็รายเรียงกัน ระดมยิงไปยังฝ่ายขุนสายบ้าง แล้วทัพราบเบาและราบหนัก ทางฝ่ายท้าวคำปูนก็รุกต่อไป เพื่อเข้าประจัญบานกับข้าศึก
ฝ่ายท้าวฮอด เมื่อนำทหารไปถึงเนินทรายกลางน้ำ โล่ของท้าวฮอดถูกธนูหกลูก และท้าวฮอดรู้สึกว่ากำลังของลูกธนูของฝ่ายข้าศึแรงนัก ก็มีความกลัว จึงกล่าวแก่นายกองของตนว่า " สูจงนำทหารล่วงหน้าไป ข้าจะหยุดบวงสรวงนางโขงอยู่ที่นี่ก่อน เพื่อให้นางโขงช่วยให้ฝ่ายเรามีชัย "
แล้วท้าวฮอดก็หยุด เพื่อบนบานอยู่ที่เนินทรายนั้น และให้ทหารของตนล่วงหน้าไป
ทัพฝ่ายหัวเมือง เมื่อรุกไปถึงตลิ่งริมน้ำ ก็ถูกทหารของขุนสายพุ่งหอกซัดมาดุจห่าฝน เมื่อแนวแรกพุ่งหอกของตนแล้วก็ถอยกลับไป แล้วแนวที่สองก็วิ่งเข้ามาอีกและพุ่งหอกซัดของตนไปยังทหารฝ่ายหัวเมืองอีก ซึ่งขณะนั้นกำลังลุยน้ำอยู่ทหารราบเบาของขุนสายพุ่งหอกเป็นระลอกดังนี้ แต่ทหารฝ่ายหัวเมืองก็มิได้ย่อท้อ บางคนก็ร้องบอกข้าศึกซึ่งเป็นคนไทด้วยกันให้พุ่งหอกเพิ่มเติมมาอีก บางคนที่ถูกหอกก็ลอยตามน้ำไป ส่วนกำพลนั้นเห็นขุนสายยืนม้าอยู่บนฝั่งก็แค้นใจยิ่งนัก เขาร้องเร่งทหารให้ตามไป และโล่ของกำพลนั้นถูกหอกซัดปักเต็มเมื่อขึ้นถึงตลิ่ง กำพลโยนโล่ทิ้งแล้วนำทหารวิ่งขึ้นไปบนฝั่ง ฝ่ายขุนสายก็ให้ทหารราบหนัก ซึ่งใช้หอกยาวเดินเรียงรายเข้ามายันฝ่ายหัวเมืองไว้
กาไสย เจ้าเมืองสาดเห็นทหารของขุนสายเดินมาเป็นขบวนแน่นหนา เป็นระเบียบ ระยะของทหารแต่ละคนห่างกัน พอให้ทหารแนวหลังเข้ามาเป็นแนวหน้าได้สะดวก และแนวหน้ากลับเป็นแนวหลังให้ได้เมื่อต้องการเช่นนั้น คนใดในแนวหน้าเสียทีแก่ข้าศึกคนในแนวหลังจะเข้าแทนได้ทันที กาไสย เห็นเช่นนั้นก็ตกตะลึง ร้องบอกแก่กำพลว่า " กำพลเอย ข้าไม่เคยเห็นขบวนยุทธแบบนี้เลย ดูแล้วเหมือนแผ่นดินเคลื่อนเข้ามาไล่ให้เราหนีไป หากไม่หนีก็เสมือนว่าจะต้องเข้าผจญกับแผ่นหิน ซึ่งดาบหรือหอกของเราไม่อาจจะเซาะให้แตกได้ สูคิดหรือว่าความกล้าของเราจะสู้กับขบวนทัพแบบนี้ได้ "
กำพลตอบว่า " กาไสย สูอย่าได้วิตก ขบวนทัพแบบนี้ คำอ้ายเอามาจากตำรับของจิ๋น คำอ้ายเคยไปเล่าเรียนในแดนจิ๋น แต่เขาได้ความชั่วมาพร้อมกับความรู้ ขุนสายเห็นคำอ้ายมีปัญญาจึงเอาไว้เป็นที่ปรึกษา เพื่อสร้างอำนาจและสร้างความชั่วให้แก่ตนเอง ขบวนทัพของคำอ้ายที่สูเห็นนี้ มีความอ่อนแอ อยู่ตามช่องว่างระหว่างกองต่อกอง ถ้าหากทหารของเราแทรกเข้าไปได้ และยึดกันไว้ให้แน่น แต่ละกองของข้าศึกจะเสียขบวน แล้วทัพทั้งหมดที่้ประดาเข้ามาเหมือนแผ่นหิน จะแยกกันไปเองสูจงให้ทหารเลี่ยงการประจัญบานซึ่งหน้า แต่จงโจมตีช่องว่างระหว่างกองให้ได้ "
กาไสยเห็นด้วย แล้วสั่งให้นายกองของตนนำทหารทำตามนั้น กำพลก็สั่งนายกองของตนในทำนองเดียวกัน
ฝ่ายขุนสายกับคำอ้ายนั้น ยืนม้าอยู่บนฝั่งมองทหารของตนเคลื่อนขบวนเจ้าโจมตีข้าศึก ณ ชายหาดและเมื่อเห็นทหารฝ่ายหัวเมืองต้องถอยลงน้ำไปหลายครั้ง ขุนสายก็หัวเราะและกล่าวกับคำอ้ายว่า " เด็กหัวเมืองคงจะเข็ดฝีมือเราในครั้งนี้ "
แล้วคนทั้งสองยืนดูการรบต่อไป แต่ในไม่ช้าทัพของขุนสายเริ่มเสียขบวน การรบเป็นหมวดและเป็นกองกลายเป็นการรบประชิดตัวระหว่างคนต่อคน หอกยาวของฝ่ายขุนสายใช้ไม่ได้ผล ทหารทุกคนต้องใช้ดาบเข้าประหารกัน และในการต่อสู้แบบนี้ทหารฝ่ายหัวเมืองชำนาญกว่า ทหารของขุนสายต้องถอยขึ้นฝั่ง กำฮาดทหารเอกของขุนสาย ซึ่งรักษาทัพสำรองอยู่ปีกขวาเห็นดังนั้นก็นำทหารของตนเข้าช่วยตีด้านซ้ายของทัพหัวเมือง ท้าวคำปูนเห็นดังนั้นจึงให้ทหารประจำตัวไปแจ้งแก่ท้าวเกตุให้แปรขบวนทหารเมืองซำไปต้านทานทัพของกำฮาดไว้
สำหรับกำพล ซึ่งนำหน้าอยู่กลางแนวนั้นไม่มีทหารไต๋คนใดมาขวางเขาได้ เขาเองก็ฉงนอยู่ที่ยิ่งรบ กำลังของเขายิ่งเพิ่มขึ้นและรู้สึกเหมือนมีนางบุญอาบภรรยาตามเขามาเบื้องหลังและกระตุ้นให้เขารุดหน้าไปทางขุนสาย ส่วนทหารไต๋นั้นเล่าคนใดที่เงื้อดาบวิ่งมาจะฟันกำพล ก็จะเห็นหญิงผู้หนึ่งร่างสูงใหญ่ผิวเหมือนสีของน้ำในลำโขงผมยาวสยายประบ่ายืนอยู่หน้ากำพล และเสียงที่ทหารไต๋ได้ยินจากกำพลนั้น ดังเสมือนกระแสน้ำโขงตกจากแก่งหิน ทหารเมืองไต๋มีความกลัวยิ่งนักต่างก็หลีกทางให้กำพล ขุนสายเองเห็นรูปกายนางบุญอาบตามมาข้างหลังกำพล และมองเขม็งมาทางตนแม้นางจะงามกว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ และผิวกายสดใสกว่า แต่สายตาที่จ้องมาทางขุนสายนั้นมีแต่ประกายของความทุกข์ของหญิงซึ่งร้องไห้อยู่ในใจขุนสายตกตะลึงต่อภาพที่ได้เห็นยิ่งนัก อยากจะชักม้าแต่มือที่จับบังเหียนเคลื่อนที่ไม่ได้ ประการหนึ่งว่าถูกบังคับให้ตรึงอยู่กับที่
กำพลนั้นจ้องเขม็งมาทางขุนสาย เมื่อเข้ามาในระยะแปดวากำพลก็เห็นทหารประจำตัวของขุนสายเดินตรงมาเพื่อมิให้เขาเข้าถึงตัวขุนสายได้ กำพลจึงเอาหอกซึ่งถืออยู่ในมือซ้ายมากระชับไว้ในมือขวา แล้วพุ่งไปยังขุนสายสุดแรง หมายหน้าอกของขุนสายเป็นเป้า
แต่เกราะที่ขุนสายสวมนั้นเนื้อดี ซื้อมาจากเมืองโลยางราคาสี่ร้อยชั่ง ขุนสายได้เคยทดลองเกราะนี้มาแล้ว ไม่เคยมีลูกธนูหรือคมอาวุธใดทะลุผ่านเกราะนี้ได้ หอกที่กำพลพุ่งไปนั้นแม้จะด้วยแรงผิดธรรมดาของมนุษย์แต่ก็เพียงทะลุผ่านเกราะผ่านผ้าสำลีภายใน และคอหอกฝังเข้าในอกขุนสายเพียงถึงกระดูก แรงของหอกทำให้ขุนสายตกจากหลังม้า กำพลวิ่งเข้าไปหมายจะฆ่าขุนสายให้ได้ แต่คำอ้ายร้องสั่งทหารประจำตัวของขุนสาย ซึ่งล้วนมีฝีมือกล้าแข็งเข้าต้านทานกำพลไว้ แล้วคำอ้ายพยุงขุนสายหนีเข้าค่ายของด่านแรก
แต่ขณะที่ขุนสายกำลังถอดเกราะและรื้อสำลีที่ชุ่มโลหิตออกนั้น ทหารหน้าค่ายก็ร้องบอกว่า " กำพลมาแล้ว " ขุนสายตกใจรีบหนีออกหลังค่ายพร้อมกับคำอ้าย และเข้าไปปะปนกับทหารช่วยรบ ซึ่งต่างก็วิ่งหนีกันชุลมุนแต่ขุนสายไม่ได้สวมเสื้อ กำพลจึงจำได้และไล่ตามไปหมายจะฆ่าให้ได้ ขุนสายวิ่งมาถึงเชิงเขาหลังค่ายก็ปีนขึ้นไปบนเชิงเขาพร้อมกับทหารอีกสิบคนกำพลถือดาบตามไป และทหารขุนสายก็ตามกำพลไปห่างๆ มิกล้าเข้าไปใกล้ เมื่อขึ้นไปบนลาดเขากำพลได้ยินเสียงหญิง ทางเบื้องหลังของเขากล่าวว่า
" กำพลเอย อย่าไปอีกเลย " แต่ขุนสายผู้ทำลายภรรยาของเขายังปรากฎอยู่เบื้องหน้า กำพลพร้อมกับดาบในมือยังคงเดินต่อไปอีก ครั้งเมื่อเขาผ่านแนวของระดับที่น้ำในแม่น้ำโขงขึ้นได้สูงสุดในฤดูน้ำ พลังที่เกินมนุษย์ในตัวของเขาก็หมดไป และคนของขุนสายซึ่งอยู่บนลาดเขาก็มิได้เห็นหญิงร่างสูงใหญ่ผิวสีน้ำในลำโขงเดินนำหน้ากำพลอีก ทหารบนลาดเขาเมื่อเห็นกำพลตรงเข้ามา ต่างก็พุ่งหอกซัดไปพร้อมกัน และกำพลถูกหอกปักที่ร่างแปดแห่ง เขาล้มลง ณ ที่นั้น ขณะล้มทหารของขุนสายเห็นรูปหญิงผู้หนึ่งประคองร่างของกำพลไว้และกำพลก็สิ้นใจ ณ ที่นั้น
และในปีต่อๆ มา คนเดินทางที่ผ่านไปทางเขานี้มักจะเล่าว่าได้เห็นหญิงชายคู่หนึ่ง ร่างสูงผิดธรรมดายืนอยู่บนเนินเขานี้ และชาวบ้านเรียกเขานี้ว่า เขากำพล ส่วนหาดนั้นเรียกว่า หาดบุญอาบ
๑๐...
ฝ่ายกาไสยเมื่อเห็นกำพลรุกไล่ขุนสายไปโดยลำพังก็นำทหารติดตามไปถึงด่านแรกของทัพเมืองไต๋ ทหารเมืองไต๋จึงหนีขึ้นเขาไปสมทบกับด่านที่สองข้างเนิน ทัพหัวเมืองก็รุกต่อไปทัพเมืองไต๋ทุกแนวต้องถอย แต่พอดีเป็นเวลาค่ำมองกันไม่เห็น ท้าวคำปูนจึงให้เป่าเขาเรียกทหารกลับมิให้ไล่ตามข้าศึกไป และให้ทหารราบนำทรัพย์สิ่งของในค่ายของข้าศึกมารวมกันไว้ ส่วนกระโจมของขุนสาย ท้าวคำปูนให้ทหารรักษาสิ่งของไว้ให้คงเดิมซึ่งมีเครื่องใช้สอยมีค่าเป็นอันมาก
เมื่อสำรวจความเสียหาย ปรากฎว่าทหารฝ่ายหัวเมืองตายแปดร้อยคน สูญหายหาศพไม่พบแปดสิบคน ท้าวเกตุกับสุปันถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัส ทางฝ่ายข้าศึกทิ้งศพทหารไว้สองพันเศษ
ท้าวคำปูนจึงให้ปลูกศาลบูชานางโขงที่ริมฝั่ง ซึ่งทหารของตนยกข้ามไปโจมตีทัพขุนสาย ศาลตั้งห่างจากริมฝั่งสามเส้น แล้วท้าวคำปูนนำศพทหารฝ่ายตนเผาเบื้องหน้าศาลนั้นเสร็จแล้วก็นำศพทหารเมืองไต๋เผา ส่วนศพของกำพลท้าวคำปูนให้นำมาล้างในลำน้ำโขงให้สะอาด แล้วนำไปฝังไว้ในที่ตรงกำพลถูกธนูล้มลง
และท้าวทำปูนให้นำทรัพย์สิ่งของที่เก็บได้จากค่ายข้าศึกออกเฉลี่ยให้ทหารทั้งปวง ส่วนกระโจมและสิ่งของในกระโจมขุนสาย ท้าวคำปูนมอบให้กาไสยเป็นรางวัล ท้าวฮอดเห็นเช่นนั้นก็มิกล้าทักท้วง ด้วยว่าขณะที่กาไสยเข้ารบกับข้าศึกนั้น ท้าวฮอดทิ้งทหารมาภาวนาให้นางโขงช่วยอยู่ ณ เบื้องหลัง
และท้าวคำปูนเห็นว่าท้าวเกตุกับสุปันอาการหนักจึงให้ทหารพักอยู่ก่อน และอีกสิบวันทั้งสองคนก็ถึงแก่ความตาย ท้าวคำปูนจึงให้ทำพิธีตามธรรมเนียม และทหารทั้งปวงได้เห็นความกล้าหาญของคนทั้งสองในการรบจึงตัดขนคอม้าไว้อาลัยคนทั้งสอง
แล้วทหารจากเมืองซำก็ตั้งทะนิน เป็นแม่ทัพแทนท้าวเกตุ
ต่อมาอีกสองวัน กองตระเวนมาแจ้งว่าขุนสายตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งสมปอย ห่างจากลำน้ำโขงไปทางตะวันตกแปดร้อยเส้น ท้าวคำปูนจึงให้ถอนค่ายติดตามไป เมื่อไปถึงท้าวคำปูนเห็นค่ายของขุนสายทอดไปยาวกว่าเมื่อรบกันที่ริมน้ำโขง เขาก็รู้ว่าขุนสายได้ทหารมาเพิ่มเติม ท้าวคำปูนจึงให้ทหารตั้งค่ายบนที่เนินชายป่า
ณ ทุ่งสมปอยนี้ทัพทั้งสองออกรบกันอย่างประปราย มิกล้านำทัพใหญ่ออกตัดสินการศึก ด้วยว่าฝ่ายขุนสายถึงแม้จะมีกำลังคนมากกว่า แต่ก็เสียขวัญมาตั้งแต่การรบที่ริมน้ำโขงส่วนท้าวคำปูนนั้นเล่ารู้ตัวว่าทหารของฝ่ายตนมีน้อยกว่า และฝ่ายตนไม่มีทหารที่จะนำมาเพิ่มเติมอีกแล้ว หากเสียทีอย่างหนักเพียงครั้งเดียวก็จะไม่มีโอกาสร่วมกันต่อสู้อีกต่อไป
และมีเหยี่ยวสองตัวมาตีกันหน้าค่ายของท้าวคำปูน ตัวแพ้บินมาเกาะที่ยอดธงของทัพหัวเมือง ส่วนตัวชนะบินไปทางค่ายของขุนสาย ทหารฝ่ายหัวเมืองเห็นเป็นลางไม่ดี ท้าวคำปูนจึงไม่นำทัพใหญ่ออกสนาม
ระหว่างที่รบกันอย่างประปรายนั้น คำอ้ายออกสำรวจบริเวณป่าก็พบว่ามีที่ซ่อนสำหรับออกโจมตีขนาบทัพข้าศึกได้ จึงนำทหารไปซ่อนไว้ที่นั่น เมื่อคำอ้ายนำทหารไปแล้วรุ่งเช้าขุนสายจึงหายป่วยแล้วก็ให้กำฮาดกับทหารสิบคนถือธงไปที่หน้าค่ายทัพหัวเมือง และร้องท้าให้ยกทัพใหญ่ออกรบกัน
แต่ในคืนก่อนท้าวคำปูนฝันว่า เขาถูกแทงที่สีข้างโลหิตโซมเมื่อขุนสายนำทัพใหญ่ออกสนามท้าวคำปูนมิได้ชะล่าใจ ได้ชวนกาไสยกับท้าวฮอดขึ้นไปบนเนินเพื่อดูกำลังทัพของขุนสาย เมื่อเห็นทัพของขุนสายมีจำนวนพลไม่มากกว่าของฝ่ายตนท้าวคำปูนก็สงสัยและกล่าวแก่เจ้าเมืองทั้งสองว่า " ค่ายของข้าศึกแสดงว่ามีทหารมากกว่าที่ออกสนาม ข้าสงสัยว่าข้าศึกจะเอาทหารซุ่มไว้ในป่าและระหว่างที่การรบชุลมุนทหารที่ซุ่มอยู่ก็จะออกมาโจมตีปีกขวาหรือปีกซ้ายของเรา หากเป็นดังนี้เราจะเสียที และฝ่ายเรานั้นหากเสียที่แก่ข้าศึกอย่างแรงเพียงครั้งเดียว งานของเราที่จะทำลายการปกครองของขุนสายก็จะต้องทลายไป สูคิดว่าเราควรจะทำประการใดกับการท้ารบของข้าศึกครั้งนี้ "
กาไสยตอบว่า " ลำพังข้าศึกเพียงเท่าที่เห็นข้างหน้าเราพอจะสู้ได้ ส่วนที่สูเห็นค่ายของข้าศึกแสดงจำนวนทหารมากกว่าที่เห็นอยู่ ข้าศึกอาจจะทำลวงไว้เพื่อมิให้เรากล้าโจมตีค่ายก็เป็นได้ แต่เวลานี้ตะวันยังไม่สูงนัก ข้ากับท้าวฮอดจะนำทหารออกตระเวณชายป่าทั้งสองข้างเพื่อตรวจดูว่าข้าศึกซุ่มอยู่หรือไม่ หากไม่มีเราจะได้นำทหารออกรบให้แตกหักในวันนี้ "
ท้าวคำปูนเห็นด้วย แล้วเจ้าเมืองทั้งสองก็นำทหารออกตรวจป่า จนถึงเวลาบ่ายไม่พบกองทหารของคำอ้าย เจ้าเมืองทั้งสองจึงมาแจ้งต่อท้าวคำปูน แล้วกาไสยกล่าวว่า " ทัพข้าศึกตั้งขบวนท้าทายเราตั้งแต่เช้า ก็จะเหน็ดเหนื่อยอยู่ ทหารของเรานั้นส่วนมากได้พักผ่อนในค่ายนับว่าได้เปรียบข้าศึก สูจงให้รบเถิด "
ท้าวคำปูนจึงสั่งให้ทหารทั้งหมดออกจากค่าย กาไสยกับทะนินคุมปีกซ้าย ท้าวคำปูนกับท้าวฮอดคุมปีกขวา
ขุนสายเห็นดังนั้นก็ให้ทหารของตนเตรียมรบ และเพื่อให้ทหารมีน้ำใจในการรบยิ่งขึ้น ขุนสายให้นายกองต่างๆ ประกาศว่าหากรบมีชัยในวันนี้ทุกคนจะได้ทรัพย์สินของหัวเมืองทั้งสามเป็นรางวัล
ทหารของขุนสายก็มีน้ำใจฮึกเหิมที่จะเอาชนะข้าศึก และเมื่อทัพของฝ่ายหัวเมืองยกมาถึง ทั้งสองฝ่ายก็เข้าประจัญบานกันผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่เป็นเวลานาน ขณะที่ท้าวคำปูนกับท้าวฮอดกำลังรุกปีกซ้ายของฝ่ายขุนสายไปยี่สิบเส้น ม้าเร็วก็มาบอกปีกซ้ายฝ่ายตนซึ่งกาไสยคุมอยู่นั้นมีข้าศึกยกออกจากป่าเข้าโจมตีกลายเป็นศึกสองด้าน กาไสยและทะนินสู้รบจนตัวตาย และทหารเมืองฮอดกับเมืองซำถูกทำลายเสียเป็นอันมาก ที่เหลือก็แตกหนีไป
ท้าวฮอดได้ข่าวเช่นนั้นก็ตะลึงไปชั่วขณะ และหันไปทางยอดเขาสุดชายป่านั้น และเอ่ยขึ้นว่า " เหตุใดสูไม่ขัดขวางโชคชะตาไว้ "
ท้าวคำปูนเตือนท้าวฮอดว่า " สูอย่าได้ตำหนิยอดเขาเลยโชคชะตามากับสายลม ภูเขาหรือสายน้ำไม่อาจจะขัดขวางมันได้ ถ้าวันนี้คนดีจะต้องพ่ายต่อคนชั่วก็ขอให้สุดแต่โชคชะตาเถิด "
แล้วท้าวคำปูนสั่งให้ถอยทัพ แต่พอดีทัพของคำอ้ายซึ่งชนะปีกซ้ายของทัพหัวเมืองแล้วยกมาถึง ทัพเมืองไต๋ก็ล้อมทัพของท้าวคำปูนไว้ ต่อเมื่อตกมืดฝ่ายท้าวคำปูนจึงฝ่าที่ล้อมออกมาได้
ทหารฝ่ายหัวเมืองตายในวันนั้นแปดพัน
เมื่อท้าวคำปูนกลับถึงค่ายก็หาได้ถอดเสื้อรบไม่ แต่นั่งเฉยอยู่กับที่ ทหารนำน้ำมาให้ท้าวคำปูนดื่ม แต่ท้าวคำปูนก็ยังเฉยอยู่เสมือนไม่เห็นถ้วยน้ำที่ทหารนำมา ต่อเมื่อทหารเตือนท้าวคำปูนจึงรู้สึกตัวและหันไปกล่าวแก่ทหารผู้นั้นว่า " เอาไปให้คนอื่นที่เหน็ดเหนื่อยกว่าข้าเถิด อีกสักครู่ข้าจะไม่กระหายแล้ว "
แล้วท้าวคำปูนให้ทหารไปเชิญท้าวฮอดและนายกองทั้งปวงมาแล้วกล่าวกับคนเหล่านั้นว่า " สหายทุกคนจงได้รับคำขอบใจจากข้า ที่เรามารวมกันทำศึกครั้งนี้ มิใช่ด้วยความใฝ่สูงที่จะแสวงอำนาจ แต่ทุกคนยอมสละความสุขเพื่อขจัดความชั่วจากวงการปกครอง ถึงแม้เราจะเป็นฝ่ายปราชัยก็หาควรเสียใจไม่ เพราะทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว หากคนใดจะตำหนิโชคชะตาก็จงตำหนิเพียงที่โชคชะตามิเห็นแก่บ้านเมืองของเราเถิด ในส่วนตัวของพวกเราขอให้ทุกคนรู้สึกว่าทั้งเมื่อขณะเรามีชัยต่อข้าศึกและทั้งขณะนี้ที่เราพ่ายแล้ว เรามีความสุขยิ่งกว่าขุนสาย แม้เราจะเป็นฝ่ายพ่ายคนไทในกาลข้างหน้า จะกล่าวขวัญถึงเราด้วยความนิยม แม้ขุนสายจะเป็นฝ่ายชนะ ชื่อของขุนสายก็จะมีไว้สำหรับให้คนไทตำหนิคนชั่วนั้นอาจชนะคนดีได้ในบางครั้ง แต่ความชั่วไม่อาจเหนือความดีได้ "
แล้วท้าวคำปูนก็จัดสรรสิ่งของในค่ายให้แก่ทหารเพื่อให้ทุกคนหนีออกจากค่ายแล้วเอาตัวรอดไป เหลือแต่ลูกประคำสายหนึ่งซึ่งท้าวคำปูนเอามาคล้องไว้กับตน ครั้งถึงยามสามในค่ายของทหารหัวเมืองคงเหลือแต่ท้าวคำปูนกับบ่าวสองคน ซึ่งอยู่กับท้าวคำปูนมาตั้งแต่เยาว์ แล้วท้าวคำปูนให้บ่าวสองคนนั้นหักไม้ในค่ายมาสุมเป็นกองแล้วจุดไฟขึ้น เมื่อไฟลุกเต็มที่แล้วท้าวคำปูนแทงท้องตนเอง เมื่อใกล้จะสิ้นใจ ก็สั่งให้บ่าวทั้งสองนำร่างของตนโยนลงในกองไฟ
๑๑...
รุ่งเช้า กองตระเวนมาแจ้งแก่ขุนสายว่า ทัพหัวเมืองแตกไปหมดแล้ว ขุนสายจึงให้กำฮาดนำทหารไปยังเมืองพุมเรียงให้คำอ้ายไปเมืองสาด และขุนสายเองไปยังเมืองซำ เพื่อยึดเมืองเหล่านั้น
กำฮาดมาได้สองวัน ได้เห็นควันไฟอยู่ในป่าข้างหน้าจึงให้ทหารไปสอดแนมก็รู้ว่าเป็นกองทหารของท้าวฮอดที่หนีมากำฮาดจึงนำทหารเข้าล้อมและฆ่าทหารเมืองพุมเรียงเสียเป็นอันมาก ท้าวฮอดตีฝ่าออกมาได้พร้อมกับทหารสามสิบคน แล้วขับม้าหนีไปถึงเมืองพุมเรียงเป็นเวลาดึก ท้าวฮอดเรียกให้ทหารในเมืองเปิดประตูรับ ทหารจึงกล่าวว่า " สูเป็นใคร " ท้าวฮอดตอบว่า " สูลืมเจ้าเมืองเสียแล้วหรือ "
ทหารตอบว่า " นางลำเพาสั่งไว้ว่าถ้าผู้ใดมา อย่าให้ข้าเปิดประตูรับ ต้องไปแจ้งแก่นางก่อน สูจงรออยู่ที่นี่ "
แล้วทหารที่รักษาประตูเมืองก็ไปแจ้งแก่นางลำเพา นางมาที่เชิงเทิน เห็นท้าวฮอดมากับทหารเพียงสามสิบคนก็รู้ว่าสามีของตนพ่ายกลับมา นางจึงถามไปว่า " เหตุใดสูมาในเวลาดึกเช่นนี้ "
ท้าวฮอดตอบไปว่า " ทัพหัวเมืองพ่ายต่อขุนสาย ท้าวคำปูนฆ่าตัวตาย กาไสยเจ้าเมืองสาดกับท้าวเกตุเจ้าเมืองซำตายในที่รบส่วนข้ารอดมาได้ ขณะนี้ทัพของเมืองไต๋กำลังไล่ข้ามาจงเปิดประตูเมืองให้ข้าโดยเร็วเถิด "
นางลำเพาตอบว่า " ข้าดีใจที่สูกลับมา ข้าคิดถึงสูอยู่ทุกวันแต่เมื่อมีทัพไล่ติดตามมาเช่นนี้ หากสูเข้ามาอยู่ในเมืองทัพไต๋จะต้องมาจับสูฆ่า ไปซ่อนตัวอยู่ที่หลังเขาท้ายเมืองก่อนเถิด ข้าจะส่งเสบียงไปให้มิให้ต้องลำบาก ส่วนข้าจะอ้อนวอนให้ขุนสายไม่เอาโทษแก่สู แล้วจะไปรับสูมาเป็นเจ้าเมืองตามเดิม "
ท้าวฮอดก็พาทหารสามสิบคนหลบไปอยู่หลังเขาท้ายเมือง
กำฮาดเมื่อยกทัพมาถึงเมืองพุมเรียง ก็ให้ทหารตั้งค่ายอยู่หน้าเมืองเตรียมจะโจมตี ชาวเมืองพุมเรียง ชาวเมืองพุมเรียงเห็นกองทัพของเมืองไต๋ก็ตกใจ ที่เป็นชายก็มีสีหน้าวิตก ที่เป็นหญิงก็ร้องไห้และวิ่งไปมาอยู่ในเมืองอลหม่าน
นางลำเพาจึงให้เรียกประชุมชาวเมืองทั้งปวงแล้ว นางกล่าวว่า " ข้าเป็นผู้รักษาเมืองอยู่ดังนี้ พวกสูอย่าได้วิตก เมื่อเราเป็นผู้ชนะไม่ได้ เราก็ต้องเข้ากับผู้ชนะให้ได้ "
แล้วลำเพาให้ปักธงขาวไว้บนกำแพงหน้าเมือง และเย็นวันนั้นนางกล่าวแก่นางสนทองว่า " บัดนี้ท้าวฮอดหมดอำนาจแล้ว ข้าจะต้อหาผู้อื่นมาดูแลพุมเรียงเพื่อมิให้ชาวเมืองเดือดร้อนเวลานี้จะมีใครเหนือขุนสายก็หาไม่ สูจงออกไปยังค่ายทหารของเมืองไต๋ หากว่าเป็นทัพของขุนสาย ก็จงเชิญเข้ามาในเมืองทันทีหากเป็นทัพของทหารเอก สูจงให้เขาไปเชิญขุนสายมารับเมืองจากข้า สำหรับตัวทหารเอกนั้นสูจงหาความขอบให้เขา โดยบอกเขาว่าเวลานี้ศีรษะของท้าวฮอดอยู่ที่ใด ด้วยวิธีนี้ชาวเมืองพุมเรียงจะไม่เดือดร้อน "
นางสนทองจึงไปยังค่ายของกำฮาด และแจ้งแก่กำฮาดตามที่นางลำเพาสั่ง กำฮาด
เมื่อทราบที่อยู่ของท้าวฮอด ก็สั่งให้ทหารไปล้อมท้าวฮอดไว้ ท้าวฮอดกับพวกพยายามหนีตีฝ่าวงล้อม แต่ในที่สุดถูกทหารไต๋เอาหอกแทงเบื้องหลังล้มลง แล้วทหารไต๋รุมแทงท้าวฮอดจนตาย และตัดศีรษะมาให้แกกำฮาด
กำฮาดให้ทหารขึ้นม้านำศีรษะท้าวฮอดไปให้ขุนสายที่เมืองซำ พร้อมกับแจ้งให้ขุนสายรีบมารับเมืองพุมเรียงจากนางลำเพา
ขุนสาดนั้นเมื่อไปถึงเมืองซำ ชาวเมืองยอมอ่อนน้อมโดยดี ขุนสายให้ริบทรัพย์ของท้าวเกตุและของชาวเมืองซำทุกคนที่ไปช่วยท้าวคำปูนรบ นอกจากนั้นขุนสายยังเรียกทรัพย์สินจากชาวเมืองมาให้เป็นรางวัลแก่ทหารของตน ทางเมืองสาดนั้นเล่าก็รับเคราะห์เช่นเดียวกับเมืองซำ และเมื่อจัดทหารไว้รักษาเมืองสาดแล้ว คำอ้ายก็มาสมทบกับขุนสายที่เมืองซำ พอดีม้าเร็วของกำฮาดมาถึงและนำศีรษะท้าวฮอดมาวางที่เท้าของขุนสาย และแจ้งเรื่องนางลำเพารออยู่เพื่อจะมอบเมืองให้
ขุนสายได้ทราบดังนั้น จึงยกทัพไปยังเมืองพุมเรียงพร้อมกับทัพของคำอ้าย
ระหว่างเดินทาง ขุนสายถามคำอ้ายว่า " บัดนี้เราปราบหัวเมืองทั้งสามได้หมดแล้ว เราควรจะทำอย่างไรต่อไป "
คำอ้ายนั้นตั้งแต่หนีมาจากแคว้นเม็ง ก็ยังโกรธแค้นแคว้นเม็งและแคว้นลืออยู่ จึงตอบขุนสายว่า " ถึงแม้สูจะปราบศัตรูภายในได้หมดแล้ว แต่แคว้นเม็งกับแคว้นลือยังจ้องเราอยู่ และจะโจนเข้าตะครุบเราทันทีเมื่อเราเผลอ สูจะต้องเอาเมืองทั้งสองไว้ในอำนาจให้ได้เสียก่อน เราจึงจะอยู่เป็นสุขได้ "
ขุนสายก็นิ่งอยู่ เพราะมีความกลัวกุมภวา
เมื่อขุนสายยกทัพไปถึงเมืองพุมเรียง ก็สั่งให้ตั้งค่ายและให้คนไปเชิญนางลำเพามา ส่วนขุนส่ายนั้นนั่งอยู่หน้าค่าย มีทหารถืออาวุธเรียงรายทั้งขวาซ้าย และมีกำฮาดยืนอยู่เบื้องหลัง คำอ้ายนั้นนั่งอยู่เบื้องซ้ายของขุนสาย
เมื่อทหารของขุนสายเข้าไปในเมืองพุมเรียงก็แจ้งให้นางลำเพาไปพบขุนสาย นางลำเพาจึงกล่าวแก่ทหารผู้นั้นว่า
" เมืองพุมเรียงพ่ายต่อขุนสาย ข้าผู้รักษาเมืองก็ควรจะไปหาขุนสายเพื่อบรรเทาความโกรธของผู้ชนะ แต่ชาวเมืองและข้าไม่เคยเป็นศัตรูแก่ขุนสาย สูจงไปบอกขุนสายมาหาข้าเถิด " แล้วนางให้รางวัลแก่ทหารผู้นั้นเป็นอันมาก
ทหารผู้นั้นกลับไปแจ้งแก่ขุนสายตามคำของนางลำเพา ขุนสายจึงกล่าวแก่ทหารผู้นั้นว่า " แม่ม่ายเมืองพุมเรียงนี้เห็นจะแก่มากแล้ว จึงกล้าขัดใจข้า "
ทหารผู้นั้นตอบว่า " ไม่เป็นดังที่สูเข้าใจเลย นางยังสาวอยู่และสวยยิ่งนัก เสียงของนางก็ไพเราะเหลือเกิน แต่ข้าเป็นทหารรู้จักความงามของอาวุธยิ่งกว่าความงามของหญิง และเมื่อนางเจรจาเสียงของนางทำให้ข้ารู้สึกว่าเสียงจากเครื่องดนตรีนั้นหาความไพเราะไม่ได้ แต่จะเป็นดังข้ากล่าวนี้เพียงใด เจ้าเมืองไปรู้ด้วยตนเองเถิด "
ขุนสายจึงกล่าวว่า " ข้าได้รู้จักหญิงมามาก หากนางผู้นี้เป็นดังสูว่า ข้าจะเลี้ยงไว้ หากไม่เป็นที่พอใจ ข้าจะให้เฆี่ยนเสีย "
แล้วขุนสายที่ขี่ม้านำทหารตรงไปยังเมือง เมื่อไปได้ครึ่งทางประตูเมืองก็เปิดออกและมีหญิงชาวเมืองแต่งกายแบบนักรบเดินขบวนออกมา มีหญิงเป่าขลุ่ยเดินนำหน้าสิบสองคน และนางสนทองเดินนำขบวน หญิงที่แต่งเป็นนักรบนั้นรำอาวุธเข้าจังหวะกับเสียงขลุ่ย และลมโชยกลิ่นดอกไม้จากนางเหล่านั้นมาทางทหารเมืองไต๋ ทำให้ทุกคนสดชื่น เมื่อเข้ามาใกล้ขุนสาย นางสนทองก็นำขบวนนั้นย่อตัวให้แก่ขุนสาย และร้องเพลงอวยพรแก่ผู้มีชัยในการศึก แล้วขบวนทหารหญิงนั้นก็เดินตามหลังขุนสายไป เมื่อถึงประตูเมืองก็มีขบวนทหารชายเดินออกมาหยุดต้อนรับขุนสายอยู่ที่หน้าประตูเมือง นางลำเพายืนอยู่ข้างหน้า นางแต่งกายงามยิ่งนักมือทั้งสองข้างมีโซ่ผูกอยู่ เมื่อขุนสายเข้าไปใกล้ นางก็คำนับ แล้วตรงไปยังขุนสายและกล่าวว่า " ชีวิตของข้าอยู่ในมือของสูแล้วจงจัดการตามสมควรเถิด "
ขุนสายมีความพอใจการต้อนรับของนางลำเพามาตั้งแต่แรกแล้ว และเมื่อได้เห็นความงามน้ำเสียงและท่าทีอันน่ารักของนางขุนสายก็พอใจ เมื่อได้ยินนางกล่าวเช่นนั้น ขุนสายจึงถามว่า " สูคิดว่าข้าจะกระทำอย่างใดจึงจะเป็นการสมควร "
นางลำเพาตอบว่า " หากสูถือว่าข้าเป็นศัตรู จงจองจำข้าไว้และข้าเตรียมโซ่ไว้ให้แล้วในแขนสองข้างนี้ หากสูเกลียดร่างน้อยของข้านี้ จงทำลายข้าเสีย แต่ถ้าทหารของสูเหน็ดเหนื่อยและควรจะได้พักผ่อน สูจงไว้ชีวิตข้าชั่วเวลาหนึ่งก่อน เพียงชาวเมืองทั้งชายและหญิงจะต้อนรับทหารของสูให้เป็นที่สบาย หลังจากทำศึกมีชัยมาแล้ว "
ขุนสายพอใจคำพูดของนางและขณะนั้นนางนั่งคุกเข่าอยู่ขุนสายจึงลงจากหลังม้าเข้าประคองนางให้ลุกขึ้นและแก้โซ่ที่ผูกแขนนางออก ทหารชาวไต๋เห็นเจ้าเมืองลงจากหลังม้า ทุกคนก็กระทำตาม
และชาวเมืองพุมเรียงก็เอาธงไปปักไว้ตรงที่ขุนสายเหยียบเมื่อลงจากหลังม้า ขุนสายเห็นดังนั้นจึงถามนางลำเพาว่า " เหตุใดคนของสูจึงเอาธงปักตรงที่ข้าลงจากหลังม้า "
นางลำเพาตอบว่า " ผืนดินตรงที่สูเหยียบเมื่อลงจากหลังม้านั้นข้าจะไม่ให้ผู้ใดเหยียบอีกต่อไป แต่จะสร้างศาลไว้ให้คนทั้งปวงกราบไหว้ เพราะว่าสูเป็นผู้มีบุญ จึงปราบข้าศึกได้โดยง่าย "
ขุนสายก็พอใจนางยิ่งขึ้น และคำอ้ายได้เห็นและได้ฟังนางลำเพามาตลอดก็กล่าวแก่ตนเองว่า " ข้าจะต้องระวังตัวไม่ให้นางผู้นี้เป็นพิษแก่ข้าได้ "
แล้วขุนสายกับนายกองทั้งปวงเข้าพักในเมืองพุมเรียง นางลำเพาจัดหญิงสาวเป็นอันมากให้เป็นภรรยาของนายทหารเมืองไต๋และนางลำเพาเห็นกำฮาดเป็นทหารสนิทของขุนสาย นางจึงยกนางสนทองให้กำฮาด ส่วนนางเองนั้นยอมให้แก่ขุนสายเมื่อขุนสายได้ใกล้ชิดกับนางแล้ว ขุนสายก็เพลิดเพลินอยู่กับนาง เพราะว่านอกจากนางจะมีฝีมือทางขับร้องเป็นเอกแล้ว ฝีมือการประจบ นางก็เป็นเอกอยู่ด้วย ไม่ว่าขุนสายจะอยู่ ณ ที่ใดและทำสิ่งใดอยู่ นางสามารถทำหรือเจรจาให้ขุนสายพอใจได้เสมอ เมื่อขุนสายออกล่าสัตว์นางจะตามไปด้วย เมื่อขุนสายดื่มสุรานางจะดื่มด้วย บางครั้งนางจะจัดละครให้ขุนสายชม บางครั้งนางจะจัดละครให้ขุนสายชม บางครั้งก็ให้ขุนสายเล่นละครด้วยขุนสายตั้งให้นางลำเพาเป็นเจ้าเมืองพุมเรียง เมื่อขุนสายจะกลับเมืองไต๋นางจะตีอกร้องไห้เสมือนว่ามีความอาลัยขุนสายยิ่งนักขุนสายจึงเลื่อนเวลากลับเมืองไต๋เรื่อยมา แต่แท้จริงนั้นนางมิอยากให้ขุนสาย กลับยังเมืองไต๋ เพราะนางประสงค์จะให้ขุนสายยกทัพไปทำลายเมืองเชียงแสด้วยว่านางยังแค้นนางบุญฉวีอยู่
๑๒...
ระหว่างที่ขุนสายเพลิดเพลินในเมืองพุมเรียงนั้น เป็นปีที่สิบเอ็ดนับตั้งแต่ชาวไทพ้นจากอำนาจทหารของจิ๋น และได้ปกครองกันเองอย่างอิสระ ทางแคว้นลือนั้นจากสมัยของบุญปันตลอดมาถึงสมัยกุมภวา ราษฎรมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบและความพอใจ ก่อนนั้นเสียงไก่ขันยามเช้าตรู่ปลุกชาวลือให้พบกับวันใหม่แห่งการกดขี่และอธรรม แต่บัดนี้เขามีความนิยมในการทำงานของผู้ปกครอง ก่อนนั้นเขารู้สึกว่าเขาอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งไม่เป็นที่พึ่งแก่เขาและเป็นอำนาจเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจนั้น แต่บัดนี้เขารู้สึกว่าการปกครองนั้นเป็นของเขาและมีอยู่เพื่อประโยชน์ของเขาเอง
เมืองลือเป็นสุขได้เพราะหัวหน้าผู้ปกครองสร้างแบบอย่างแห่งชีวิตที่ถูกต้องให้ราษฎรได้ทำตาม ถ้ายกเว้นงานที่ต่างกันเสียแล้ว กุมภวาก็มีความเป็นอยู่เหมือนราษฎรทั่วไป ซึ่งกุมภวากล่าวว่า เขาพอใจยิ่งกว่าสมบัติของเจ้าแผ่นดินจิ๋น
ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองเช็งสีอยากจะทำสวนด้วยตนเอง แต่งานในปกครองมีมากจึงทำไม่ได้ และได้ข่าวว่ากุมภวาทำสวนผักกาดได้มาก ในขณะเดียวกันการปกครองของกุมภวาก็เรียบร้อย ไม่ทำให้ผู้เป็นเจ้าเมืองต้องกังวล เจ้าเมืองเช็งสีอยากจะมาดูวิธีการปกครองของกุมภวา แต่ก็ไม่อาจจะมาด้วยตนเองได้ เพราะติดพันอยู่กับงาน จึงส่งคนมาแทน ทูตเช็งสีมิได้รับคำแนะนำอย่างใดเลยเกี่ยวกับวิธีการปกครองในแคว้นลือ และทูตมิได้เห็นกุมภวาเรียกพนักงานผู้ใหญ่หรือผู้น้อยมาเจรจาเรื่องการงานเลย มีแต่ชาวบ้านมาสนทนากับกุมภวา ในวันที่ทูตเช็งสีจะกลับทูตจึงกล่าวแก่กุมภวาว่า " ข้ามาครั้งนี้เพื่อดูว่าสูทำการปกครองอย่างไร เราจะได้นำไปใช้เป็นแบบอย่าง แต่สูกลับปกปิดมิให้เราได้รู้ "
กุมภวาตอบว่า " หาเป็นดังนั้นไม่ สูได้เห็นการปกครองของข้าแล้ว แต่เป็นการไม่ปกครองยิ่งกว่าการปกครอง ข้าพยายามใช้อำนาจให้น้อยที่สุด ให้ราษฎรและพนักงานต่างๆ ทำงานกันเองข้าคิดว่าเมื่อใดตำแหน่งเจ้าเมืองจำเป็นแก่ราษฎรน้อยที่สุด เมื่อนั้นการปกครองจะดีที่สุด ราษฎรไม่ด้อยกว่าผู้ปกครองเลย ทั้งทางความคิดและน้ำใจ "
ทูตเช็งสี " สูปล่อยให้กรมการเมืองทำงานไปตามลำพังไม่เรียกมาสอบถามการงาน ดังที่เจ้ามเมืองของข้าต้องการกระทำอยู่บ่อยๆ สูไม่คิดบ้างหรือว่ากรมการเมืองจะละเลยจากเจ้าหน้าที่และทำให้ราษฎรเดือดร้อนได้ "
กุมภวา " เพราะห่วงในข้อนี้ ข้าจึงติดต่อกับราษฎรอยู่เสมอหากมีการกระทำสิ่งใดไม่ดีเกิดขึ้น ราษฎรจะบอกข้าการกระทำมิชอบของผู้ปกครองนั้นไม่อาจจะซ่อนเร้นได้แต่ตรงกันข้าม การกระทำเช่นนั้นจะเป็นข่าวกระจายไปอย่างรวดเร็ว ในบ้านเมืองทุกแห่งจะมีผู้อยู่ในตำแหน่งสูงบางคนใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเราจะรู้เรื่องเช่นนี้ได้อย่างไร หากผู้ปกครองพบแต่พนักงานชั้นสูงหรือพบแต่เพื่อนฝูง ผู้ปกครองนั้นจะไม่ได้รู้ความจริง เพราะเขาจะเห็นด้วยสายตาของผู้อื่น และจะได้ฟังด้วยหูของคนอื่น เขาจะไม่รู้ความจริงที่เกิดขึ้นแก่ราษฎร ข้าคิดถึงข้อนี้จึงใกล้ชิดกับราษฎรอยู่เสมอ และด้วยเหตุนี้ข้าจึงเลือกกรม การเมืองได้ถูกต้อง ทำให้การปกครองเดินไปได้ด้วยกำลังของการปกครองนั้นเอง มิใช่ด้วยอำนาจของหัวหน้าฝ่ายการปกครอง "
ทูตเช็งสีกล่าวว่า " บัดนี้ข้าจะกลับไปแล้ว ข้าจะบอกเจ้าเมืองของข้าอย่างไรเพื่อว่าการมาครั้งนี้จะถือได้ว่าสำเร็จประโยชน์แล้ว "
กุมภวา " สูบอกเขาเถิดว่าเจ้าเมืองแคว้นลือมีเวลามากสำหรับทำสวน เพราะว่าเขาไม่ใช่ผู้ปกครอง เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งในหมู่ราษฎร "
ทูตเช็งสีก็ลากุมภวาพร้อมกับกล่าวว่า " หากการปกครองดีได้เพราะผู้ปกครองรู้สึกตนเองเป็นราษฎร เวลาก็จะอีกนานนักที่เช็งสีจะมีการปกครองที่ดี " แล้วทูตเช็งสีก็เดินทางกลับ
แต่เสมือนว่าฟ้าดินจะพอใจเห็นชาวไทต่อสู้กับภัยอยู่ตลอดไป ในปีที่สิบเอ็ดนับตั้งแต่ได้เอกราชคืนมานั้นเอง เมืองลือและเมืองเชียงแสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ชาวเมืองสิ้นชีวิตเป็นอันมาก และมีลูกอุกกกาบาตลูกใหญ่ตกลงมาในเมืองลือ เวลานั้นคำสินเจ้าเมืองข่านุกับภรรยาเข้ามาเยือนเมืองลือ กุมภวาจัดให้พักในตึกใหญ่ที่ทหารจิ๋นสร้างไว้ในป้อม ตึกทลายลงมาทับคำสินกับภรรยาถึงแก่กรรม ส่วนในแคว้นไต๋นั้นแผ่นหินใหญ่กว้างยาวหลายร้อยเส้นที่อยู่ทางเหนือแตกแยกออกเพราะความสะเทือน และคนไทเห็นมณีมากมายเบื้องล่าง แต่ไม่มีใครลงไปเก็บแล้วรอดกลับมาได้
และสีเมฆเจ้าเมืองเม็ง กุฉินผู้เป็นเจ้าเมืองยูโรแทนท้าวเกิดผู้ถึงแก่กรรมไป และสีเภาน้องเขยของคำสิน ก็ส่งเสบียงและสิ่งของไปช่วยชาวเมืองลือเป็นอันมาก และเมื่อจะนำเสบียง บางส่วนเดินทางจากลือไปให้ชาวเชียงแสบ้างก็ไปไม่ได้ เพราะน้ำจากแม่โขงท่วมล้นฝั่ง เมืองทั้งสองถูกตัดจากกัน
๑๓...
เมื่อมีคนมาแจ้งเหตุร้ายของเมืองลือและเมืองเชียงแสให้ขุนสายทราบนั้นขุนสายกำลังร้องละครอยู่กับนางลำเพา นางลำเพาทราบข่าวเช่นนั้นก็ยินดียิ่งนักและกล่าวแก่ขุนสายว่า " เจ้าเมืองไต๋เอยเมืองเชียงแสอยู่แค่คืบ สูจงรีบไปชิงเอามาเสียส่วนการร้องละครนั้นปล่อยให้เป็นของพวกเราเถิด "
ขุนสายนั้นเกรงกุมภวาอยู่ แต่ครั้นจะบอกปัดไม่ยกทัพไปเมืองเชียงแสก็ละอายแก่นางลำเพา ขุนสายจึงกล่าวแก่นางว่า " เรื่องนี้ให้ข้าหารือคำอ้ายดูก่อนเพราะว่าคำอ้ายรู้เหตุการณ์ดี "
นางลำเพาจึงให้ทหารไปเชิญคำอ้ายมาในเวลานั้นเองและขุนสายกล่าวแก่คำอ้ายว่า
" บัดนี้การศึกภายในก็สงบแล้วถ้าข้าจะยกทัพไปชิงเมืองเชียงแสมาจากกุมภวา สูจะเห็นประการใด "
คำอ้ายเห็นนางลำเพานั่งอยู่ข้างขุนสาย และนางจ้องมายังตนคำอ้ายก็รู้ว่านางลำเพาจะไปแก้แค้นนางบุญฉวี คำอ้ายจึงตอบขุนสายว่า
" เป็นโอกาสของสูแล้ว ที่จะไปยึดเมืองเชียงแสไว้ในอำนาจหากเป็นเวลาปกติ
กุมภวาจะส่งทหารมาช่วยลำพูนได้ทันแต่เวลานี้เมืองทั้งสองติดต่อกันไม่ได้ กว่าทัพของกุมภวาจะยกมาถึง สูก็จะกลืนเมืองเชียงแสไว้แล้ว "
ขุนสายว่า " แล้วข้าจะไม่ต้องคายกลับไปให้กุมภวาอีกหรือ หากแคว้นลือไม่เข้มแข็งแล้วไฉนจะชนะทัพจิ๋นและรุกเข้าไปในแดนจิ๋นได้ "
คำอ้ายหัวเราะและตอบว่า " เพราะทัพของลือชนะจิ๋นได้ จึงควรที่เราจะลองกำลังกับลือ ให้รู้ว่าใครจะเป็นผู้นำแห่งแคว้นไททั้งปวง และเวลานี้เป็นเวลาของเราแล้ว "
นางลำเพาก็สนับสนุนคำของคำอ้ายพร้อมกับกล่าวว่า " โชคดีมาถึงแล้วสูจงเอาไว้เถิด "
ขุนสายจึงให้นักการไปแจ้งแก่เมืองซำ เมืองสาด และเมืองไต๋ให้ส่งทหารมาสมทบ แล้วขุนสายยกทัพตรงไปยังเมืองเชียงแส นางลำเพาก็เกณฑ์ชาวพุมเรียงเป็นอันมากสมทบในทัพของขุนสายและนางลำเพาติดตามไปกับทัพของขุนสายด้วยพร้อมกับบริวารหญิงของนาง
เมื่อทัพใกล้จะเข้าแดนเมืองเชียงแสนนางลำเพากล่าวแก่คำอ้ายว่า " ข้ารู้ว่าขุนสายรุ่งเรืองมาจนบัดนี้เพราะได้สูเป็นผู้ช่วยแต่นั่นเป็นเรืองที่ข้าเพียงได้รู้มาคราวนี้ข้าอยากจะเห็นความสามารถของสูด้วยตาของข้าเอง "
คำอ้ายถามว่า " สูเป็นภรรยาของขุนสาย ควรจะพอใจได้เห็นความสามารถของสามี "
นางลำเพาถอนใจและกล่าวแก่คำอ้ายว่า " ขุนสายนั้นเป็นคนโลเล หญิงชายใดพึ่งคนเช่นนี้จะพึ่งไม่ได้นาน อนึ่ง ข้ารักแต่ผู้มีปัญญา ข้าจึงอยากเห็นว่าเชียงแสจะแตกคราวนี้เพราะขุนสายหรือเพราะสู "
คำอ้ายจึงถามว่า " ขุนสายบอกสูหรือไม่ว่าจะตีเมืองเชียงแสด้วยวิธีใด "
นางลำเพาตอบว่า " ขุนสายบอกแต่เพียงว่าหากลำพูนยกทัพออกมานอกกำแพงเมือง ขุนสายก็จะให้ทหารเข้ารบกลางแปลงหากลำพูนไม่ออกมาสู้นอกกำแพงเมือง ขุนสายก็จะให้ทหารล้อมเมืองไว้ "
คำอ้ายได้ฟังก็หัวเราะ และกล่าวว่า " อันการศึกนั้นหากใช้แต่กำลังคน แม่ทัพก็มีค่าไม่เกินทหารเลวคนหนึ่ง ขุนสายทำศึกเช่นนั้นจะเป็นธรรมดาเกินไป และหากว่าเมื่อเรากำลังล้อมเมืองเชียงแสอยู่น้ำที่ท่วมอยู่เวลานี้เหือดลง กุมภวาก็จะยกทัพมาเราซึ่งกำลังล้อมเชียงแสจะกลายเป็นผู้ถูกล้อม แล้วเราจะกลายเป็นเด็กสำหรับให้กุมภวาเฆี่ยน "
นางลำเพากล่าวว่า " สูพูดดังนี้เสมือนว่าสูมีวิธีที่จะยึดเมืองเชียงแสได้เร็วขึ้น แล้วเหตุใดสูไม่บอกขุนสายเล่า "
คำอ้ายถอนใจและกล่าวว่า " ขุนสายนั้นเมื่อวาสนายังน้อยอยู่ก็ฟังคำของข้าแต่บัดนี้ขุนสายมีอำนาจแล้วและเห็นว่าทหารทั้งปวงนับถือข้า ขุนสายจึงเริ่มชังข้าครั้งหนึ่งขุนสายพูดว่า ผู้เป็นเจ้าเมืองจะไว้ใจสหายคนใดไม่ได้ เพราะว่าทุกคนอยากเป็นเจ้าเมืองยิ่งกว่าอยากเป็นสหายของเจ้าเมือง เหตุนี้ถ้าข้าทำตัวฉลาดเกินกว่าขุนสายนัก ภัยจะมาถึงข้า ทุกวันนี้เมื่อข้าไปหาขุนสายและเดินคล้อยหลังมา ข้ารู้สึกเหมือนว่าศีรษะกำลังจะหลุดจากบ่าแต่ในการศึกนั้นทุกคนเสมือนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ข้าเองคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรจึงจะตีเชียงแสได้เร็วขึ้นข้าเห็นว่ามีวิธีอยู่จึงอยากจะให้สูไปแนะขุนสาย แต่ว่าในการศึกนั้น ความบังเอิญมีส่วนเป็นอันมากที่จะขัดขวางงานที่เราหวังไว้ ดังนั้นหากข้าบอกขุนสายเองแล้วการศึกพลาดไป ขุนสายจะถือเป็นเหตุกำจัดข้า และหากว่าเราจะชนะศึกด้วยวิธีที่ข้าแนะ ขุนสายก็จะไม่ไว้ใจข้าหนักขึ้น แต่ถ้าสูนำไปแนะแก่ขุนสาย ขุนสายจะเห็นด้วย "
แล้วคำอ้ายก็แนะวิธีแก่นางลำเพา นางลำเพาจึงกล่าวแก่คำอ้ายว่า " ข้าเองจะไปบอกขุนสายให้กระทำตามวิธีนี้ส่วนที่สูกลัวอันตรายจากขุนสายนั้นอย่าวิตก ข้าเป็นสหายของสูอยู่เสมอ แต่ถ้าขุนสายกระทำการอันใดไม่ดีต่อข้า สูจงยืนอยู่ข้างข้าบ้าง "
แล้วนางลำเพาก็ไปแจ้งแก่ขุนสายถึงวิธีที่คำอ้ายบอกขุนสายเห็นด้วยและให้ทหารหนึ่งพันแยกไปทางลำน้ำโขง เพื่อตระเวณอยู่ตามเขตแดนระหว่างแคว้นเชียงแส กับแคว้นลือทั้งตามเส้นทางเดินและตามที่อื่น เพื่อมิให้คนส่งข่าวของเชียงแสข้ามไปยังแคว้นลือได้ แล้วขุนสายให้แบ่งทหารเป็นสี่ทัพ แยกย้ายไปทั้งสี่ทิศของเชียงแส
ชาวเชียงแสที่ทำไร่อยู่นอกเมืองและที่อยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เมื่อรู้ข่าวว่าทหารเมืองไต๋ยกมา ต่างก็อพยพหนีหมู่ใดที่หนีไปทางเมืองเชียงแสก็รอดพ้นจากทหารชาวไต๋ หมู่ใดที่หนีไปทางอื่นก็ถูกทหารชาวไต๋ไล่ต้อนกลับไปทางเชียงแส ภายในกำแพงเมืองเชียงแสจึงแออัดไปด้วยผู้คนทั้งหญิงชายเด็กและผู้ใหญ่และชาวเชียงแสแต่ละทิศก็เข้าใจว่าข้าศึกยกมาเฉพาะในทิศของตน แต่เมื่อมาถึงเมืองเชียงแส ต่างก็รู้ว่าข้าศึกยกเข้ามาทั้งสี่ด้าน ทุกคนจึงมาหยุดอยู่ในเมืองเชียงแสนั้นเอง ไม่กล้าหนีต่อไปทางอื่น
ลำพูนเมื่อรู้ข่าวศึกก็ให้ม้าเร็วสิบคนถือหนังสือไปขอความช่วยเหลือจากแคว้นลือ สำหรับราษฎรที่อพยพเข้ามาในเมือง ลำพูนก็จำต้องรับไว้ทั้งที่รู้อยู่ว่าเสบียงมีน้อย ราษฎรบางคนมาพักอยู่ในบ้านญาติและเพื่อนบ้าน บางคนก็อาศัยคนที่รู้จักเมื่อตามบ้านหมดที่พักแล้ว ก็อาศัยอยู่กลางแจ้ง บางคนขึ้นไปอาศัยอยู่บนเชิงเทิน เป็นที่เดือดร้อนกันยิ่งนัก
และม้าเร็วทั้งสิบของลำพูน เมื่อเดินทางมาถึงลำโขงก็ต่อแพเพื่อจะข้ามบริเวณที่น้ำท่วม แต่ถูกทหารเมืองไต๋ซึ่งตระเวณอยู่จับฆ่าเสียสิ้น
ทัพขุนสายกับทัพของกำฮาดถึงเชียงแสก่อนอีกสองทัพที่แยกไป ขุนสายให้ล้อมเมืองไว้ ลำพูนนำชาวเชียงแสออกสู้รบและในที่สุดลำพูนกับทหารกองหนึ่งฝ่าที่ล้อมออกมาได้ และสุนัขที่ลำพูนเลี้ยงไว้ก็ติดตามมาด้วย
เมื่อพ้นเขตทัพของขุนสายแล้วลำพูนให้คณะที่ติดตามมาหยุดพักจากตรงที่นั้น ลำพูนยังมองเห็นตัวเมืองเชียงแสที่กำลังถูกล้อมอยู่ ส่วนสุนัขของเขาก็หมอบอยู่ข้างหน้า
จุไทกรมการเมืองผู้หนึ่งเข้ามาที่ลำพูนและกล่าวว่า " เรารีบนำทหารหนีไปเถิด เพราะว่าเมืองเชียงแสไม่ปลอดภัยแล้ว "
ลำพูนตอบว่า " จุไทเอย สุนัขยังไม่ทอดทิ้งเจ้าของ เจ้าเมืองจะทิ้งราษฎรได้อย่างไร "
แล้วลำพูนก็นำทหารตีฝ่าทหารของขุนสายกลับเขาไปในเมืองอีก
๑๔...
วันรุ่งขึ้นทัพอีกสองด้านของขุนสายก็ยกมา ขุนสายให้ทัพทั้งสี่แยกกันล้อมเมืองเชียงแสไว้ทั้งสี่ด้าน ลำพูนนำทหารออกสนามอีก แต่ทหารของขุนสายมากกว่าหลายเท่า ลำพูนจำต้องถอยเข้าเมืองและให้ป้องกันกำแพงเมืองไว้
เมืองเชียงแสถูกล้อมอยู่หนึ่งเดือนเสบียงก็ขาดและน้ำหายากขึ้น และชาวบ้านที่อพยพเข้ามานั้นเคยอยู่แต่ในที่กว้างไม่เคยกังวลเรื่องความสะอาดของที่อยู่เมื่อจะถ่ายก็ออกไปถ่ายในทุ่ง ครั้นเข้ามาอัดแออยู่ภายในกำแพงเมืองก็ใช้ทุกแห่งเป็นทุ่ง ภายในเมืองเชียงแสจึงมีแต่ความสกปรก แล้วโรคระบาดก็เกิดขึ้นและโรคที่เกิดขึ้นนั้นร้ายนัก แต่ก่อนคนไทไม่เคยเป็นโรคเช่นนี้ ตั้งแต่ทหารจิ๋นเข้ามาในแคว้นไท โรคนี้จึงเกิดแก่คนไทแต่ไม่มากนัก มาบัดนี้ในเมืองเชียงแสผู้คนล้มตายด้วยโรคนี้ทุกวัน จนไม่มีที่ฝังศพ ครั้นจะเผาก็ขาดฟืน บางครั้งขณะขุดหลุมฝังพ่อก็มีคนอื่นเอาพ่อของตนมามาฝังด้วย เพราะตนเองไม่มีแรงพอที่จะขุดหลุม และศพเป็นอันมากถูกทอดทิ้งเช่นนั้น น้ำใจจะสู้กับโรคก็หดหู่ ไข้พอจะฟื้นได้กลับทรุดหนักลงและในไม่ช้าก็ตายคนซึ่งยืนยามอยู่ได้เห็นศพต่อหน้าตนแต่ก็ไม่อาจจะช่วยได้ และคนยามเองบางครั้งจะปวดศีรษะขึ้นมาอย่างแรงแล้วล้มลงเพ้อด้วยพิษไข้ อยู่ได้ห้าวันก็สิ้นใจ คนที่ใจดีเข้าไปช่วยคนเจ็บในบ้านอื่น เมื่อกลับมาบ้านตนก็มักจะตายด้วยโรคนี้และครอบครัวก็ติดโรคไปด้วย ศีลธรรมภายในเมืองเสื่อมลง การวิวาทการสมสู่ผิดคู่กันและการสมสู่ในที่เปิดเผยระบาดทั่วไปภายในเมืองเชียงแส โดยผู้กระทำไปเช่นนั้นทั้งหญิงและชาย กระทำไปเพื่อลืมทุกข์และเพื่อดับความกลัว จะกระทำเพราะใจร้ายหรือใจชั่วก็หาไม่ และชายหญิงพากันปล่อยให้ร่างกายสกปรกปล่อยผมรุงรัง
โรคระบาดเกิดขึ้นเดือนเศษ ก็บรรเทาความโหดร้ายลงบ้างแต่ไม่หมดไปส่วนความอดยากนั้นรุนแรงขึ้น เป็นเวลากว่าสองเดือนแล้วที่ชาวเมืองขึ้นไปบนกำแพงเมืองและมองดูของฟ้ารอทัพลือแต่จะมีวี่แววให้ปรากฎเป็นความหวังก็หาไม่ ส่วนความอดอยากและความตายด้วยโรค และการปล่อยชีวิตตามยถากรรมกำลังเป็นศัตรูที่ร้ายแรงยิ่งกว่าทัพของขุนสาย
วันหนึ่งขณะที่ลำพูนเดินตรวจอยู่บนเชิงเทิน ลำพูนได้เห็นเด็กร้องขออาหารจากมารดาเสียงเซ้งแซ่และมารดามิรู้จะปลอบเด็กอย่างไร ก็ได้แต่มองหน้าเจ้าเมืองของตน และเมื่อลำพูนเดินต่อไปอีกมีเด็กหญิงสองคนร้องขอให้บิดาพากลับไปบ้านเดิม เพื่อจะได้มีข้าวกินบิดาก็จับมือเด็กทั้งสองไว้คนละข้างและกล่าวว่า " ลูกเอ๋ยจงหลับตาเสีย แล้วเดินมากับพ่อเถิดลูกจะได้ไม่หิวอีก " เด็กทั้งสองก็หลับตาและผู้เป็นบิดาจูงบุตรทั้งสองกระโจนลงจากกำแพงเมือง แต่สามพ่อลูกคลานไปได้เล็กน้อยก็ขาดใจตาย และคนใดที่หลบหนีไปยังค่ายของขุนสายก็ถูกจับฆ่าตาย และขุนสายให้นำศพมาทิ้งไว้หน้าเมือง ทำให้ไม่มีใครกล้าออกไปจากเมืองเพื่อหนีความอดอยาก
ลำพูนเศร้าใจยิ่งนัก เขาเรียกประชุมกรมการเมืองปรึกษาว่าจะยอมจำนนต่อขุนสายหรือไม่ ทุกคนก็อยากให้ยอม
ลำพูนจึงกล่าวแก่จุไทว่า " สูจงไปบอกขุนสายว่าเรายอมจำนน หากว่าขุนสายจะไม่ทำอันตรายแก่ราษฎร "
จุไทก็ไปยังค่ายของขุนสาย และแจ้งเงื่อนไขการยอมจำนนให้ขุนสายทราบ
ขุนสายจึงกล่าวแก่จุไทว่า " เมื่อลำพูนยอมจำนนโดยดีราษฎรจะไม่มีอันตรายอีกต่อไป แต่ลำพูนกับภรรยาและกรมการเมืองทุกคนจะต้องให้ข้าคุมตัวไว้ก่อน เพื่อประกันว่าชาวเมืองจะไม่ทำร้ายทหารของข้า "
จุไทก็นำถ้อยคำของขุนสายไปแจ้งยังที่ประชุมกรมการเมืองเชียงแส
ลำพูนจึงถามจุไทว่า "ขุนสายจะยึดพวกเราไว้เป็นเชลยเช่นนี้สูเห็นว่าเราควรจะยอมหรือประการใด "
จุไทกล่าวว่า " เราเป็นกรมการเมืองดูแลความปลอดภัยของชาวเมือง ก็เหมือนสุนัขดูแลผู้เป็นเจ้าของ ดังที่สูเคยกล่าวเมื่อขุนสายจะยึดเราเป็นเชลยและปล่อยชาวเมืองให้ปลอดภัยก็นับว่าเราได้ทำประโยชน์ให้ชาวเมืองแล้วสูจงยอมตามขุนสายเถิด "
และกรมการเมืองทุกคนก็เห็นด้วยกับจุไท
ลำพูนจึงให้เปิดประตูเมืองให้แก่ทหารของขุนสาย ขุนสายก็ให้ทหารนำกรมการเมืองไปคุมไว้พร้อมทั้งลำพูนกับนางบุญฉวีส่วนราษฎรทั้งปวงซึ่งหลบอยู่ในเมืองขุนสายปล่อยให้กลับไปถิ่นเดิมทั้งสิ้น ความอดอยากในเมืองก็บรรเทาลง
๑๕...
คืนวันหนึ่ง ทหารของขุนสายฉลองชัยชนะกัน ขุนสายนั่งเสพสุราอยู่กับคำอ้ายกำฮาดพร้อมด้วยนายกองทั้งปวง นางลำเพาก็ร่วมอยู่ด้วย และนางสนทองนำมโหรีและหญิงขับร้องมาฟ้อนรำให้ชม
นางลำเพาต้องการจะแก้แค้นนางบุญฉวี จึงกล่าวแก่ขุนสายว่า “ การฉลองชัยจะดีขึ้นหากว่าผู้ปราชัยได้ร่วมการฉลองกับเรา สูจงนำลำพูนกับภรรยาเข้ามาในนี้เถิด ”
ขุนสายก็ให้ทหารไปนำลำพูนกับนางบุญฉวีเข้ามา ทั้งสองคนดูการฉลองชัยของขุนสายอยู่ด้วยความสงบ นางลำเพาไม่เห็นนางบุญฉวีมีความเศร้าใจ จึงเข้าไปถามว่า “ สูจำได้หรือไม่ว่าข้าคือใคร ”
นางบุญฉวีตอบว่า “ สูคือนางลำเพา ”
นางลำเพาหัวเราะและกล่าวว่า “ เราผู้หญิงไม่ลืมอะไรง่ายนัก เมื่อก่อนสูทะนงว่าเป็นภรรยาของเจ้าเมืองจึงขับไล่ข้าได้ บัดนี้สูกับสามีถูกมัดอย่างทาสส่วนข้ากลับเป็นถึงเจ้าเมืองและทั้งเป็นภรรยาของเจ้าเมือง สูเสียใจเพียงไรที่ต้องรับเคราะห์ เพราะขับไล่ข้าในคราวนั้น ”
นางบุญฉวีตอบ “ ข้าไม่เสียใจเลยเพราะทำไปถูกต้องแล้ว ”
นางลำเพาก็โกรธ ไปดึงขลุ่ยจากนางสนทองมาตีนางบุญฉวี แต่ขุนสายนับแต่ได้เห็นนางบุญฉวีก็พอใจนางยิ่งนัก เมื่อขุนสายเห็นนางลำเพาจะตีนางบุญฉวีขุนสายก็เข้ายึดแขนนางลำเพาไว้แล้วให้ทหารนำนางบุญฉวีกับลำพูนกลับไปคุมไว้ตามเดิม
รุ่งขึ้นขุนสายให้ทหารใส่ยาพิษในอาหารที่นำไปให้เชลยที่กุมไว้ ลำพูนและกรมการเมืองทุกคนก็ถึงแก่ความตาย
แล้วขุนสายกล่าวแก่กำฮาดว่า “ ถ้าสูเห็นนางบุญฉวีคลายโศกเมื่อใดจงบอกแก่นางว่า ข้าจะแต่งตั้งให้นางเป็นภรรยาของข้า ถ้านางยินยอม ”
กำฮาดจึงถามว่า “ สูกระทำดังนั้นนางลำเพามิเสียใจหรือ ”
ขุนสายตอบว่า “ ผู้จะเป็นภรรยาของข้านั้นจำต้องคู่ควรกับข้าเช่นนางบุญฉวี นางลำเพานั้นเป็นหญิงปลูกผักข้างกำแพงเมืองเม็ง และมีผัวมาสามแล้วก่อนมาถึงข้า ถ้าข้าแต่งตั้งเป็นภรรยาข้าจะเป็นที่อับอายแก่คนทั้งปวง ”
กำฮาดก็ลาขุนสายไปยังเรือนที่ใช้ควบคุมนางบุญฉวีแต่เห็นนางยังโศกอยู่ในความของลำพูน กำฮาดก็กลับไปยังที่พักของตน
กำฮาดไปที่นางบุญฉวีอยู่สามวันก็ยังเห็นนางนั่งเฉยแสดงความโศกในใจอยู่กำฮาดก็ต้องกลับมาทั้งสามวันโดยมิกล่าวแก่นางตามที่ขุนสายบอกไว้
นางสนทองเห็นสามีของตนไปที่เรือนควบคุมนางบุญฉววีสามวันติดต่อกันก็มีความสงสัย คืนนั้นนางจึงถามเอาความจริงกำฮาดก็เล่าให้ฟัง รุ่งขึ้นนางสนทองก็ไปหานางลำเพาและกล่าวว่า “ บัดนี้ขุนสายคิดนอกใจสูแล้ว จงรีบแก้ไขเถิด หาไม่ภัยจะมาถึงเรา ”
แล้วนางสนทองเล่าความที่รู้มาจากกำฮาดให้นางลำเพาฟัง นางลำเพาตกใจและแค้นใจขุนสายยิ่งนัก นางรีบไปยังคำอ้ายและกล่าวว่า “ สูเคยวิตกว่าสูจะรับภัยจากขุนสายข้าก็รับรองว่าจะคอยระวังให้ และข้าเคยขอร้องสูว่าหากขุนสายทำการอันใดไม่ดีแก่ข้าสูจงยืนข้างข้าบ้าง บัดนี้ขุนสายคิดนอกใจข้าแล้ว มิหนำยังดูหมิ่นข้าอีก จงคิดการช่วยเหลือข้าเถิด ”
แล้วนางเล่าให้คำอ้ายฟังถึงการที่ขุนสายจะเอานางบุญฉวีเป็นภรรยา และตัวนางเองถูกเรียกว่าหญิงสามผัว
คำอ้ายจึงถามว่า “ สูจะให้ข้าทำประการใด ”
นางลำเพา “ ฆ่าขุนสาย แล้วสูจะได้เป็นเจ้าเมือง ”
คำอ้าย “ กำฮาดเป็นคนแข็งแรง แล้วเป็นทหารประจำตัวของขุนสายด้วย จงให้กำฮาดฆ่า แล้วสูกับข้าจะได้ครองเมืองไต๋ร่วมกัน ส่วนเชียงแสนั้นยกให้กำฮาดเป็นรางวัล ”
นางลำเพาก็กลับไปยังเรือนพักของตน และกล่าวแก่นางสนทองว่า “ เวลานี้กำฮาดสามีของสูแม้จะเป็นคนมีฝีมือ แต่ขุนสายก็เลี้ยงให้เป็นนายกองเท่านั้น สูจงบอกให้กำฮาดทำงานให้ข้า แล้วข้าจะให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแส ”
นางสนทองกล่าวว่า “ ครั้งนี้มีงานสำคัญประการใดหรือจงบอกมาเถิด ข้าจะไปบอกให้กำฮาดทำ ”
นางลำเพา “ ในกองทัพเมืองไต๋นี้ทหารทั้งปวงยังภักดีต่อขุนสาย เพราะขุนสายเป็นผู้ให้บำเหน็จ แต่ทหารนับถือคำอ้าย หากสูจะแนะให้กำฮาดฆ่าขุนสายเสีย คำอ้ายก็จะได้เป็นเจ้าเมืองไต๋ร่วมกับข้า และจะตั้งกำฮาดเป็นเจ้าเมืองเชียงแส ”
นางสนทองกล่าวว่า “ ข้าได้ดีมาถึงเพียงนี้ก็เพราะได้สูเป็นที่พึ่ง และหากว่าขุนสายตั้งนางบุญฉวีเป็นภรรยา สูกับข้าก็จะมีภัย ข้าจะไปบอกกำฮาดให้ฆ่าขุนสายเสียขณะกินสุรากันอยู่ ”
แล้วในคืนนั้นนางสนทองก็ชักชวนให้กำฮาดฆ่าขุนสาย แต่กำฮาดตอบว่า “ ข้าอยากเป็นเจ้าเมืองเชียงแส แต่ข้ากลัวขุนสายไม่อาจจะชักดาบฟันขุนสายได้ ”
นางสนทองก็นำความไปแจ้งแก่นางลำเพา นางลำเพาจึงกล่าวแก่นางสนทองว่า “ สามีของสูยังกลัวขุนสายน้อยไป จึงไม่กล้าใช้กำลังกับขุนสาย ข้าจะทำให้เขากลัวขุนสายยิ่งขึ้น เพื่อจะฆ่าขุนสายได้ เย็นนี้สูจงชวนกำฮาดมากินอาหารกับข้าเถิด ”
๑๖...
เย็นนั้นนางสนทองนำกำฮาดไปกินอาหารกับนางลำเพา และนางลำเพานำสุราอย่างแรงมาเลี้ยง เมื่อกำฮาดเมาสุราไม่ได้สติแล้วนางลำเพาก็กล่าวกับนางสนทองว่า “ คืนนี้ข้ายืมตัวกำฮาดไว้ก่อนพรุ่งนี้จะคืนให้ ”
นางสนทองก็กลับไป แล้วนางลำเพาพยุงกำฮาดไปในห้องของนาง คืนนั้นกำฮาดเข้าใจว่าตนนอนอยู่กับนางสนทอง ครั้นรุ่งขึ้นกำฮาดสร่างเมาเห็นตนมานอนอยู่ข้างนางลำเพาภรรยาของเจ้าเมือง กำฮาดก็ตกใจยิ่งนักกระโดดจากที่นอนและถามว่า “ ข้ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ”
นางลำเพาตอบว่า “ เมื่อคืนสูเมาสุราแล้วเข้ามานอนกับข้า เรื่องนี้ถ้ารู้ถึงขุนสาย สูจะเป็นผีหัวขาดทันที ” แล้วนางก็หัวเราะ
กำฮาดนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า “ ข้าจะเป็นผีหัวขาดหรือไม่นั้นสุดแต่น้ำใจของสู ”
นางลำเพาเข้าไปจับมือกำฮาดไว้แล้วกล่าวว่า “ ข้าจะให้สูเป็นเจ้าเมืองเชียงแส แทนที่จะให้เป็นผีหัวขาดถ้าสูทำตามที่นางสนทองบอกให้ทำ ”
กำฮาด “ ข้าจะเชื่อได้อย่างไรว่า เมื่อขุนสายตายแล้วข้าจะได้เป็นเจ้าเมืองเชียงแส ”
นางลำเพา “ ถ้าสูเชื่อว่าหญิงที่นอนกับสูเมื่อคืนเป็นภรรยาของขุนสาย ก็จงเชื่อว่าข้าจะให้สูเป็นเจ้าเมือง ”
กำฮาด “ เย็นนี้สูจงเชิญขุนสายมาชมการขับร้องที่เรือนพักของสูเถิด ”
นางลำเพาก็ไปแจ้งแก่คำอ้ายว่ากำฮาดเต็มใจจะฆ่าขุนสายแล้ว คำอ้ายจึงเตรียมทหารฝีมือยี่สิบคนซ่อนไว้ที่หน้าเรือนพักของนางลำเพา
ขุนสายนั้น นับตั้งแต่ได้เห็นนางบุญฉวี ก็เอาใจใส่นางลำเพาน้อยลง และมิได้ไปหานางลำเพาหลายวัน ในวันนั้นบ่าวของนางลำเพามาหาและแจ้งว่า “ นายหญิงของข้าเห็นว่าสูมีชัยต่อเมืองเชียงแสแล้ว จึงฝึกหญิงขับร้องไว้สำหรับร้องสรรเสริญชัยชนะของสู เย็นนี้จะมีการแสดง นางจึงให้ข้ามาเชิญสู ”
ขุนสายมีความยินดี และคืนนั้นขุนสาย กำฮาดกับคำอ้ายก็ไปชมการฟ้อนรำในเรือนพักของนางลำเพา ขณะที่ขุนสายนั่งชมเพลินอยู่นั้นดาบของกำฮาดก็ฟาดลงมา หมายกลางศีรษะของขุนสายแต่นางฟ้อนผู้หนึ่งเห็นกำฮาดเงื้อดาบก็ร้องขึ้นด้วยความตกใจ ขุนสายจึงเหลียงมองไปด้านหลัง ดาบของกำฮาดพลาดจากศีรษะมาถูกที่ไหล่ แต่ขุนสายสวมเกราะอยู่ภายในเสื้อ ดาบกระทบเกราะดังสนั่น ขุนสายล้มลงด้วยแรงฟันของกำฮาด ขุนสายร้องให้คำอ้ายช่วยคำอ้ายก็ร้องไปว่า “ ระวัง ที่คอไม่มีเกราะ ” กำฮาดจึงฟันลงไปอีกครั้งหมายที่คอขุนสายขณะนั้นผงกศีรษะขึ้นก็ได้เห็นคนสนิทที่สุดของตนเงื้อดาบจะฟันตนอยู่ แต่ก่อนที่ขุนสายจะร้องกล่าวคำใดขึ้น ดาบของกำฮาดก็ฟันมาที่ใต้คอ กำฮาดฟันซ้ำลงไปอีก ขุนสายก็ขาดใจตาย
และทันใดนั้นคำอ้ายร้องขึ้นว่า “ กำฮาดฆ่าขุนสาย กำฮาดฆ่าขุนสาย ”
ทหารยี่สิบคนของคำอ้ายก็กรูกันเข้ามาฆ่ากำฮาดตาย
และทันใดนั้นคำอ้ายร้องขึ้นว่า “ กำฮาดฆ่าขุนสาย กำฮาดฆ่าขุนสาย ”
ทหารยี่สิบคนของคำอ้ายก็กรูกันเข้ามาฆ่ากำฮาดตาย
แล้วคำอ้ายให้ทหารทั้งยี่สิบออกไปป่าวร้องในกองทหารว่ากำฮาดฆ่าขุนสาย
ในคืนนั้นนายกองทั้งปวงก็ยกคำอ้ายเป็นแม่ทัพใหญ่ แล้วคำอ้ายปูนบำเหน็จให้แก่ทหารทุกคน
ในคืนนั้นนางลำเพาไปหาคำอ้ายและถามว่า “ กำฮาดเป็นสามีของนางสนทองคนของข้า ข้าเป็นคนให้กำฮาดกำจัดขุนสาย เหตุใดสูจึงฆ่ากำฮาดเสียเล่า ”
คำอ้ายกล่าวว่า “ กำฮาดนี้เดิมเป็นคนสนิทของขุนสินพี่ชายของขุนสาย และกำฮาดสมคบกับขุนสายฆ่าขุนสิน บัดนี้กำฮาดสมคบกับสูฆ่าขุนสาย กำฮาดก็จะมาเป็นคนสนิทของสูอีก คนเช่นนี้ข้าไม่ไว้ใจ ข้าจึงกำจัดเสีย ” แล้วคำอ้ายก็เอานางลำเพาเป็นภรรยา นางลำเพาเกรงว่าคำอ้ายจะพอใจนางบุญฉวีดังที่ขุนสายเคยพอใจนาง จึงสั่งทหารให้นำเชือกไปรัดคอนางบุญฉวี
เมื่อทหารถือเชือกไปถึงห้องซึ่งเป็นที่คุมตัวนางบุญฉวี ทหารเห็นนางแล้วก็สงสาร และไม่มีน้ำใจที่จะกระทำต่อนางทหารผู้นั้นเดินเข้าไปในห้องสองครั้งหมายจะเอาเชือกรัดคอนางบุญฉวีตามคำสั่ง แต่ก็หันหลังกลับออกมาทั้งสองครั้ง ครั้งที่สามทหารผู้นั้นจึงเข้าไปยื่นเชือกให้นางแล้วกล่าวว่า
“ ข้ารับคำสั่งให้ประหารสูด้วยเชือกนี้ สูจงทำแก่ตัวเองเถิด ”
นางบุญฉวีรับเชือกนั้นไว้ แล้วมัดเป็นบ่วงและนางขึ้นไปบนเก้าอี้เพื่อผูกปลายเชือกอีกข้างหนึ่ง
ไว้กับไม้ขื่อ แต่เมื่อนางแขวนคอกับเชือกนั้นเชือกก็ขาด นางหัวเราะและโยนเชือกทิ้งแล้วหันมากล่าวแก่ทหารนั้นว่า “ สายธนูของข้าช่วยข้าได้ดีกว่าเชือกนี้ สูจงนำมาให้ข้าเถิด ”
ทหารก็นำสายธนูของนางมาให้ เมื่อนางรับสายธนูแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า “ ลำพูนเอ๋ย ข้าจะตามสูไปแล้ว ” แล้วนางทำลายชีวิตของนางด้วยสายธนูนั้น
๑๗...
บัดนี้น้ำในลำโขง ในป่า และในทุ่งลดลงแล้ว ชาวลือได้ทราบข่าวร้ายของเมืองเชียงแสด้วย
ความตกใจยิ่งนัก และทุกคนโกรธแค้นทัพเมืองไต๋ในความตายของลำพูนและนางบุญฉวี กุมภวาให้เรียกคนอาสาเป็นการด่วนและให้ม้าเร็วไปแจ้งแก่กุฉินและสีเภาให้ยกทัพไปช่วย
เมื่อได้คนหมื่นห้าพันแล้ว กุมภวาก็เตรียมทัพมุ่งไปทางเชียงแสและให้ธงผารักษาเมืองลือไว้
ธงผาจึงกล่าวกับกุมภวาว่า “ ลำพูนกับข้าเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่เล็ก เมื่อลำพูนตายเช่นนี้ ข้าก็โกรธแค้นอยู่ เหตุใดสูไม่ให้ข้าไปกับกองทัพด้วย ”
กุมภวาตอบว่า “ ข้ารู้อยู่ว่าสูแค้นในความตายของลำพูนมาก ข้าจึงให้อยู่รักษาเมือง มิให้ไปรบ แต่คนอื่นจะไปแก้แค้นแทนสู อันการศึกนั้นหากทำด้วยหมายจะแก้แค้น อาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย สูจงรักษาเมืองเถิด คนอื่นจะแก้แค้นแทนสูได้ ”
ฝ่ายคำอ้ายเมื่อได้ข่าวว่าน้ำที่ลำโขงลดแล้ว ก็รู้ว่ากุมภวาจะต้องมาตีเชียงแสคืน จึงยกทหารออกไปหมายจะยันทัพกุมภวาไว้มิให้ข้ามแม่น้ำโขงมาได้ และให้ทหารออกไปสอดแนมว่ากุมภวาจะยกข้ามลำโขง ณ ที่ใด เมื่อทหารสอดแนมมาแจ้งว่ากุมภวาจะมาทางบ้านแฮด คำอ้ายก็นำทัพไปสกัดไว้
เมื่อกุมภวามาถึงริมลำโขงเห็นทัพของคำอ้ายตั้งรออยู่ฝั่งตรงข้ามแล้ว กุมภวาจึงให้สร้างแพเป็นอันมาก คำอ้ายเห็นดังนั้นก็ให้ทหารฝ่ายตนระวังอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนมิให้กุมภวาข้ามมาได้
กุมภวารออยู่เจ็ดวัน ก็ยังไม่อาจจะข้ามไปได้ และในระหว่างนั้นกุฉินกับสีเภาก็นำทหารมาสมทบด้วย ครั้นตกคืนวันที่แปดเกิดพายุฝนจัดและฟ้าผ่าไม่หยุดหย่อน น้ำในลำโขงเกิดคลื่นใหญ่
กุมภวาจึงให้ทหารลงแพข้ามไป เมื่อถึงฝั่งตรงข้ามก็ขึ้นฝั่งได้โดยง่าย เพราะทหารของคำอ้ายมิได้ระวังด้วยคิดว่าในคืนเช่นนั้นข้าศึกจะไม่ข้ามมา
รุ่งขึ้นเช้า กุมภวาก็นำทัพออกไปหน้าค่ายของคำอ้าย ทหารแคว้นลือทุกคนพากันท้าทายคำอ้ายเสียงอื้ออึงและด่าคำอ้ายด้วยคำหยาบช้าต่างๆ คำอ้ายได้ยินก็หัวร่อแต่ให้ทหารของตนแต่งเครื่องรบคอยทีอยู่
ครั้นเที่ยงวัน คำอ้ายนำทหารออกจากค่ายตั้งขบวนรบ กุมภวาเห็นดังนั้นก็สั่งให้ทหารของตนถอย กุฉินซึ่งอยู่ปีกซ้ายขับม้ามายังกุมภวาและกล่าวว่า “ ข้าเป็นเพื่อนร่วมตายกับลำพูน มาตั้งแต่เมืองลือยังอยู่ในอำนาจของจิ๋น และนางบุญฉวีเป็นคนส่งข้าวส่งน้ำให้ข้าเมื่อข้ากับลำพูนหลบลิตงเจียไปอาศัยในถ้ำเมืองเชียงแส บัดนี้ลำพูนกับนางบุญฉวีตายเพราะคำอ้าย ข้าจะต้องจับคำอ้ายมาฟันเสียให้สมแค้น เหตุใดเมื่อคำอ้ายออกมาแล้ว สูจึงให้ถอยทัพเสียเล่า ”
กุมภวากล่าวว่า “ กุฉินเอย ทุกคนที่มารบครั้งนี้ก็ด้วยจะแก้แค้นให้แก่ลำพูนกับนางบุญฉวี ข้าเองก็แค้นอยู่ในอกเท่ากับสูแต่คำอ้ายเป็นคนฉลาด เมื่อรู้ว่าพวกเรามารบด้วยความแค้นจึงปล่อยให้เรากรำแดดร้องด่าอยู่ตั้งแต่เข้าถึงเที่ยง ให้ทหารของเราอ่อนเพลียด้วยความหิวและความกระหาย ส่วนทหารของคำอ้ายออกมาจากค่ายตอนเที่ยง หลังจากกินข้าวน้ำมาดีแล้วเช่นนี้ ฝ่ายเราจะเสียเปรียบข้าจึงให้ถอยทัพ ”
กุฉินก็เห็นด้วย แล้วกุมภวานำทหารไปตั้งค่ายห่างจากริมแม่น้ำไปสามสิบเส้น และให้ทหารขุดบ่อเพื่อกองทัพจะได้ไม่ขาดแคลนน้ำ และให้กองม้าออกไปสกัดทางลำเลียงของคำอ้าย
คำอ้ายเห็นว่าทำเลตั้งค่ายของตนเสียเปรียบ จึงให้ทหารถอยค่าย เม็งรายแม่ทัพม้าของคำอ้ายจึงกล่าวว่า “ เราอยู่ริมน้ำก็เหมาะแล้ว เหตุใดสูจึงจะย้ายที่มั่นเสียเล่า ”
คำอ้ายตอบว่า “ เราตั้งค่ายอยู่ริมน้ำเช่นนี้ก็สบายแก่คนและม้าอยู่ แต่เราต้องอยู่ในที่จำกัด และทางเดินเสบียงของเรา จะถูกข้าศึกขัดขวางได้ง่าย ข้าจึงให้เคลื่อนทัพไปหาทำเลใหม่ ”
แล้วคำอ้ายนำทัพอ้อมค่ายของกุมภวาไป เมื่อห่างจากริมน้ำไปได้ สองร้อยเส้นก็ถึงพืดเขาซึ่งมีช่องทางเดินไปสู่เมืองเชียงแส อันเป็นทางเดินของกองเสบียงและกองหนุนของคำอ้าย และที่ช่องเขามีลูกเนินเป็นทางลาดลงสู่ทุ่ง บนลูกเนินนั้นมีต้นไม้ขึ้นกระจายทั่วไป คำอ้ายเห็นเป็นทำเลที่ดีสำหรับตั้งยันทัพของกุมภวา หากว่ากุมภวาจะนำทหารออกตัดสินการศึกในทุ่งนั้น ทัพม้าของคำอ้ายก็จะทำการได้เต็มกำลัง หากว่าทัพกุมภวาจะบุกขึ้นมาบนลูกเนิน ทัพของกุมภวาก็จะรุกไล่ไม่ได้สะดวก คำอ้ายจึงให้ทหารตั้งค่ายบนลูกเนินนั้น และให้ทหารออกสำรวจว่ามีทางใดที่ข้าศึกจะลอบส่งทหารมาโจมตีเบื้องหลังทางช่องเขาได้
อีกสามวันกุมภวาก็นำทัพลือมาตามถึง แล้วกุมภวาชวนกุฉินไปดูทัพของข้าศึก กุมภวาเห็นทหารของคำอ้ายตั้งอยู่ในทำเลที่แข็งแรงและได้เปรียบ การวางยามและการตั้งคายก็มีระเบียบ กุมภวาก็สรรเสริญคำอ้ายอยู่ในใจและกล่าวกับกุฉินว่า “ ข้าเสียดายนักที่คำอ้ายใช้ปัญญาในทางชั่ว หากเขาจะทำลายความมักใหญ่ในใจของตนเอง แทนที่จะทำลายผู้อื่นเพื่อความเป็นใหญ่ของตนแคว้นไททั้งปวง ก็จะอยู่ในความสงบ และจะไม่บาดหมางกันเอง ”
แล้วกุมภวาให้ทหารถอยไปตั้งมั่นอยู่ริมทุ่งและให้ทหารขุดคูป้องกันค่ายไว้ แล้วทัพทั้งสองเฉยอยู่หลายวัน ไม่มีฝ่ายใดนำทัพออกท้ารบ
๑๘...
เย็นวันหนึ่งทหารเมืองไต๋พบกวางที่ชายป่า ก็ไล่จับกวางนั้น กวางหนีออกมายังทุ่ง ทหารเมืองไต๋ก็ตามมาจนถึงค่ายของฝ่ายลือ ทหารลือจึงออกไปขับไล่ทหารไต๋ ทหารไต๋ในค่ายเห็นพวกของตนถอยมาก็ออกไปช่วย จำนวนของแต่ละฝ่ายที่ออกไปก็เพิ่มขึ้น ฝ่ายลือสู้ไม่ได้ก็หนีกลับมา ทหารของคำอ้ายรุกมาถึงคันคู กุฉินเห็นดังนั้นก็ถือดาบวิ่งออกไปไล่ฆ่าฟันทหารไต๋ล้มตายไปหลายคนแล้ว กุฉินก็ติดตามทหารของคำอ้ายไปจนถึงริมเนิน เม็งรายก็นำทหารออกมาสู้รบกับฝ่ายของลือ ทั้งสองฝ่ายรบกันอยู่นาน กุมภวาเห็นว่าฝ่ายตนจะเสียเปรียบ จึงตีกลองเรียกทหารให้กลับเข้าค่ายของฝ่ายลืออีก
และวันหนึ่งกุมภวานำทหารออกตั้งขบวนอยู่กลางทุ่งท้ารบ กุฉินมีความแค้นคำอ้ายอยู่จึงขับม้าออกไปถึงริมเนินร้องท้าให้คำอ้ายออกมาสู้กับตน คำอ้ายมีความกลัวฝีมือของกุฉินตั้งแต่ได้เห็นที่เมือง
ยูโร ก็ได้แต่มองกุฉินเฉยอยู่
กุมภวาเห็นข้าศึกไม่ออกมาจึงให้ทหารกลับเข้าค่าย และเสบียงของทัพกุมภวาขาดแคลนลง เนื่องจากชาวลือทำนาไม่ได้เพราะน้ำท่วม กุมภวาให้กุฉินนำทหารออกท้ารบอีกหลายวัน แต่คำอ้ายก็เฉยอยู่และคำอ้ายถามทหารประจำตัวว่า “ ที่ข้าไม่ออกรบกับข้าศึกนี้คนของเราพูดกันอย่างไรบ้าง ”
ทหารประจำตัวบอกว่า “ ทหารพูดว่าสูกลัวกุฉินจึงไม่กล้าออกรบ ”
คำอ้ายหัวเราะ และกล่าวว่า “ เป็นธรรมดาทหารเลวก็คิดอย่างทหารเลว ที่ข้าไม่นำทหารออกรบใช่ว่าจะกลัวกุฉินก็หาไม่ข้ากำลังรอให้ข้าศึกหลงอุบายของข้าอยู่ หากกุมภวาไม่ถอยทัพกลับไปเพราะขาดเสบียง กุมภวาก็จะต้องหลงเข้ามาตกหลุมที่ข้าดักไว้ ”
แล้วคำอ้ายก็ตั้งมั่นอยู่เฉย
อยู่มาวันหนึ่ง กุมภวาเรียกนายกองมาประชุมและกล่าวว่า “ ทหารตระเวนมาแจ้งว่าทางหน้าผาเบื้องซ้าย มีทางที่ทางปีนขึ้นไปบนยอดเขาได้ แล้วจากนั้นก็มีทางไปยังหุบเขาเบื้องล่างอันเป็นทางเดินของกองเสบียงและกองหนุนของทัพคำอ้าย ในการศึกครั้งนี้เราอยู่ในความคับขัน ด้วยว่าเสบียงของเรากำลังขาดแคลน ข้าจำเป็นที่จะต้องส่งทหารไปโจมตีหลังทัพของข้าศึกเพราะจะตั้งมั่นเฉยอยู่เช่นนี้ไม่ได้ แต่การนำทหารปีนหน้าผาไปโดยมีทั้งเสบียงและอาวุธติดตัวไปด้วยนั้นเป็นงานยากต้องอาศัยความชำนาญ ผู้ใดจะอาสานำทหารไปในการนี้ ”
กุฉินลุกขึ้นกล่าวว่า “ ข้าพอจะมีความชำนาญในการปีนเขาและการป่า จงให้ข้านำทหารไปเถิด ”
กุมภวากล่าวว่า “ ข้ารู้อยู่ว่าสูมิได้กล่าวเกินความจริง แต่ข้าเกรงว่ากว่าสูจะนำทหารไปถึงหลังค่ายของคำอ้าย สูจะเสียทีคำอ้ายเสียก่อน ที่คำอ้ายไม่นำทหารออกสนามอาจจะเป็นด้วยคำอ้ายแบ่งทหารไปทางอื่นเสียบ้างก็เป็นได้ ”
กุฉินกล่าวว่า “ ข้าจะทำการด้วยความระวังมิให้เสียทีได้ ”
กุมภวาจึงให้กุฉินคัดเลือกทหารไปสามพัน และในคืนนั้นก่อนที่กุฉินจะนำทหารออกจากค่าย กุมภวามาที่กุฉินและกล่าวว่า “ ขอให้สูระวังตัวให้จงดี คำอ้ายนี้นอกจากจะเป็นหมีป่ามีเขี้ยวเล็บแล้ว ยังเป็นหมาในที่มากด้วยเล่ห์กล สูไม่กลัวเขี้ยวเล็บของหมีป่าแต่ขอให้ระวังเล่ห์กลของหมาในให้จงหนัก ”
กุฉินก็รับคำ แล้วนำทหารไปยังหน้าผา ในคืนนั้นทหารทั้งสามพันคนปีนขึ้นไปบนยอดเขาได้ทั้งหมด กุฉินมองไปยังค่ายของคำอ้าย เห็นจุดไฟสว่างอยู่ก็อยากจะนำทหารไปให้ถึงค่ายนั้นโดยเร็ว ครั้นทหารหยุดพักกินอาหารแล้วกุฉินก็นำทหารเดินทางต่อไป
เมื่อถึงหุบเขาเบื้องล่าง ทหารของกุฉินก็เหน็ดเหนื่อยเป็นอันมากเพราะมิได้หลับนอนมาตลอดคืน ทั้งต้องปีนเขาด้วยความลำบาก กุฉินจึงให้ทหารหยุดพักผ่อน ยังมิทันที่ทหารจะล้มตัวลงนอน ป่าทั้งสองข้างก็มีเสียงโห่ร้องดังสนั่น กุฉินมองขึ้นไปบนเชิงเขาเห็นเม็งรายถือธนูยืนอยู่ข้างก้อนหินใหญ่ ก็รู้ว่าตนเสียทีถูกข้าศึกล้อมไว้รอบข้าง จึงสั่งให้ทหารทุกคนเตรียมป้องกันตัว
เม็งรายร้องบอกกุฉินว่า “ ถ้าสูยอมอ่อนน้อม คำอ้ายจะชุบเลี้ยงให้ได้ดี จงวางอาวุธเสีย ”
กุฉินยิงธนูไปเป็นคำตอบ เม็งรายเอี้ยวตัวหลบเบื้องหลังก้อนหิน ลูกธนูถูกใบหูเม็งรายขาด เม็งรายโกรธยิ่งนัก ร้องสั่งทหารให้ระดมยิงธนูและกลิ้งก้อนหินลงไปยังเบื้องล่าง ทหารของกุฉินสิ้นชีวิตไปเป็นอันมาก และกุฉินนั้นถูกหินก้อนหนึ่งกระเด็นมากระทบศีรษะสลบไป ทหารลือเข้าใจว่ากุฉินถึงแก่ความตายแล้วต่างก็วิ่งหนีกระจัดกระจายไปเพื่อเอาตัวรอด แต่ก็ไม่พ้นอาวุธของทหารเมืองไต๋ไปได้ ที่เหลือตายก็ยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึก
และเม็งรายให้ทหารค้นหากุฉิน เมื่อทหารไต๋เห็นกุฉินนอนสลบอยู่ ก็จำได้และร้องบอกเพื่อนทหารด้วยกันว่าพบกุฉินแล้ว ขณะนั้นกุฉินกำลังจะได้สติ เมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตนก็ยืนขึ้นทหารไต๋เห็นเช่นนั้นก็กลัวและพากันถอยออกไป ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปใกล้ตัวกุฉิน พอดีเม็งรายมาถึง เม็งรายก็ให้ทหารยิงธนูไปเป็นอันมากจนเต็มร่างกุฉิน แต่กุฉินก็ยังยืนพิงก้อนหินอยู่ที่นั่น เมื่อทหารเมืองไต๋เห็น
กุฉินไม่ไหวติงอยู่นาน ก็แน่ใจว่ากุฉินตายแล้ว จึงเข้าไปนำร่างกุฉินมาให้เม็งราย เม็งรายก็ให้ฝังไว้ที่นั่น แล้วเม็งรายนำทัพกลับมาแจ้งชัยชนะให้คำอ้ายทราบ
ในวันนั้นคำอ้ายให้ทหารเลี้ยงดูกันอย่างเอิกเกริก ฉลองชัยชนะและเสียงทหารไต๋โห่ร้องดังไปถึงค่ายของกุมภวา ทัพฝ่ายลือเมื่อทราบว่ากุฉินเสียทีแก่ข้าศึกก็เสียใจยิ่งนัก และกุมภวาเห็นทหารของตนขวัญเสีย กุมภวาจึงเรียกประชุมทหารทั้งปวงและกล่าวว่า “ พวกสูทั้งหลายอย่าได้วิตก เราเสียทีแก่ข้าศึกคราวนี้ แต่เรายังพอจะทำลายข้าศึกได้ ”
ในคืนนั้นกุมภวาก็ให้ถอนค่ายไปตั้งอยู่ริมน้ำโขง คำอ้ายยกทัพตามไป กุมภวาให้ทหารของตนข้ามน้ำหนีต่อไป คำอ้ายรีบยกทหารติดตามไปโดยเร็วมิให้ข้าศึกหลบหนีไป และทหารของคำอ้ายเข้าใจว่าฝ่ายลือไม่กล้าต่อสู้แล้ว ก็มีความประมาทและเดินทัพอย่างไม่เป็นขบวน กุมภวาล่อให้ทัพของคำอ้ายติดตามอยู่สามวัน และกุมภวาสังเกตว่าลมพัดตอนเย็นเสมอ วันที่สี่กุมภวาก็นำทหารผ่านทุ่งแห่งหนึ่งซึ่งมีแต่ฝุ่นและทราย ทหารของคำอ้ายก็ติดตามไปครั้นตกเย็นลมพัดจัด ฝุ่นและทรายตลบทั่วไป มองเห็นกันไม่ถนัด กุมภวาจึงเดินทัพย้อนขึ้นไปด้านเหนือลม และหันเข้าโจมตีทัพของคำอ้าย ทหารของคำอ้ายต้องหันหน้าต้านลม จึงถูกฝุ่นและทรายพัดเข้าตาทำการรบไม่ได้ถนัด ทั้งลมก็แรงมาก และทหารตั้งขบวนไม่ทัน ถูกฝ่ายลือทำลายเสียเป็นอันมาก คำอ้ายพาทหารที่เหลือหนีไปทางเมืองไต๋ ส่วนกองเสบียงที่บรรทุกเกวียนมานั้นหนีไม่ทันก็ตกเป็นของฝ่ายลือทั้งสิ้น
แล้วกุมภวากล่าวแก่สีเภาว่า “ คำอ้ายคงจะมุ่งไปยังเมืองไต๋ข้าจะติดตามไป สูจงนำทหารไปช่วยชาวเมืองเชียงแส เมื่อขับทหารไต๋ออกจากเมืองนั้นได้แล้ว จงตามข้าไป ”
แล้วกุมภวาก็นำทหารมุ่งไปทางเมืองไต๋
๑๙...
ส่วนสีเภานำทหารตรงไปยังเมืองเชียงแส เมื่อถึงก็ให้ตั้งค่ายอยู่หน้าเมือง
ทหารชาวเมืองไต๋ที่รักษาเมืองเชียงแสอยู่ก็ป้องกันเมืองอย่างแข็งแรง นางลำเพานั้นออกมาควบคุมทหารด้วยตนเอง
ชาวเมืองเชียงแสเมื่อทราบว่าทัพลือมาช่วยก็ดีใจนัก และส่งข่าวมายังสีเภาว่าจะเปิดประตูเมืองให้ ขอให้สีเภาดูคบไฟเป็นสัญญาณ
แล้วคืนนั้น เวลายามสอง ชาวเมืองก็ช่วยกันจับทหารยามของประตูเมืองด้านเหนือฆ่าเสียสิ้น แล้วชูคบไฟขึ้นให้ทัพของเมืองลือได้เห็น สีเภาก็นำทหารเข้าเมืองเชียงแส ทหารชาวไต๋เมื่อรู้ว่าข้าศึกเข้าเมืองไต๋ก็จับอาวุธขึ้นสู้ แต่ทหารชาวไต๋จะรุกหรือถอยไปทางใดก็ถูกชาวเมืองที่อยู่ในบ้านทุ่มไม้ หน้าต่างและเครื่องใช้ในบ้านลงมาบนศีรษะ เมื่อเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้แล้ว ทหารชาวไต๋จึงเปิดประตูเมืองด้านอื่นๆ หนีไปนางลำเพานั้นแต่งตัวเป็นชายกำลังจะหนีออกไป แต่ชาวเมืองล้อมบ้านไว้และจับนางมามอบให้สีเภา ระหว่างเดินมาชาวเมืองทั้งชายและหญิงก็ตบตีและด่าว่านางไปตลอดทาง
เมื่อไปถึงสีเภาซึ่งยืนถือดาบอยู่ นางก็กลัวยิ่งนัก น้ำตาไหลอาบหน้าและกล่าวว่า “ ต้นอ้อถูกย่ำก็ไม่ช้ำเท่าข้าแล้วจงเอ็นดูด้วยเถิด ”
สีเภายังแค้นใจใสความตายของลำพูนและนางบุญฉวีอยู่จึงกล่าวว่า “ สูหมดหนทางแล้วจึงมากล่าวดังนี้ เหตุใดเมื่อก่อนจึงไม่คิดสงสารผู้อื่นบ้าง ”
นางลำเพากล่าวว่า “ แม่ทัพลืออย่าได้เอาผิดแก่ข้าเลย ข้าเป็นหญิงเกิดมาก็ต้องเอาใจผู้อื่นที่อยู่ใกล้ แต่ว่าตลอดชีวิตของข้าที่ผ่านมาข้าไม่ได้อยู่ใกล้คนดี ข้าจึงต้องเป็นเช่นนี้ สูรู้แล้วว่าขุนสายเป็นคนอย่างไร คำอ้ายเป็นคนอย่างไร เมื่อท้าวฮอดตายแล้วข้าจำใจต้องอยู่กับสองคนนี้ ข้าเป็นเพียงหญิงร้องเพลง จงสงสารข้าเถิด “ แล้วนางก็กอดเท้าของสีเภาไว้
สีเภามีความสงสารนางอยู่ และเสียดายฝีมือการร้องเพลงและการเป่าขลุ่ยของนาง แต่เมื่อเห็นชาวเมืองมองไปที่นางด้วยความแค้น สีเภาก็หักใจตนไว้และกล่าวแก่ชาวเมืองว่า “ นางลำเรานี้ทำผิดต่อชาวเชียงแส จงเอานางไปตัดสินกันเองเถิด ข้าไม่ประสงค์จะเกี่ยวข้องด้วย ”
ชาวเมืองเชียงแสก็นำตัวนางลำเพาออกมาที่ลานกลางแจ้งและถามกันว่าจะทำประการใดกับนาง ส่วนนางลำเพานั้นก้มหน้าร้องไห้อยู่
ชาวเมืองบางคนก็ว่าต้องสับนางให้ละเอียด บางคนก็ให้ฆ่าและทิ้งนางให้แร้งกินให้สมกับที่ลำพูนและนางบุญฉวีต้องตายเพราะนาง เมื่อชาวเมืองทั้งหญิงและชายได้ยินชื่อลำพูนเจ้าเมืองของตนต่างก็พากันโกรธแค้นนางลำเพา และเข้าไปหวังจะฉีกนางให้เป็นชิ้นๆ แต่พันสงนายวงฟ้อนที่ซื้อนางลำเพาที่ซื้อนางลำเพามาวิ่งไปขวางไว้ และกล่าวแก่ชาวเชียงแสว่า “ ลำเพานี้เมื่ออ่อนวัยอยู่เคยร้องเพลงและเป่าขลุ่ยให้สูฟังเสมอ พวกสูก็นิยมนางอยู่ นางไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน เมื่อนางหนีไปอยู่กับนายวานิชสูก็ยังได้ยินนางร้องเพลงให้ฟังอยู่บ่อยๆ ทำให้พวกสูพอใจสูจงคิดถึงความหลังบ้างเถิด แต่เดิมนางเป็นเด็กรดน้ำผัก เมื่อเป็นสาวก็อยากจะได้ดีเทียมหญิงอื่นบ้าง อันเป็นธรรมดาของคนที่เกิดมาลำบากตั้งแต่เล็ก ที่นางทำผิดไปก็เพราะไปตกอยู่ในอำนาจของขุนสายและคำอ้าย สูจะอภัยนางไม่ได้หรือ ”
ชาวเมืองก็ลังเลใจแต่ในที่สุดพวกผู้หญิงก็กรูกันเข้าไปและเหยียบนางจนถึงแก่ความตาย พันสงก็เอาศพของนางไปฝังไว้และกล่าวแก่ศพว่า “ ลำเพาเอย เป็นความผิดของข้าเอง ถ้าข้าไม่ซื้อสูมา ทุกคนคงไม่เดือดร้อนล้มตายเช่นนี้ สูเองก็จะไม่ตายอย่างอนาถเช่นนี้ ”
ส่วนสีเภาก็มอบเมืองเชียงแสให้แก่ชาวเมือง แล้วรีบนำทหารมุ่งไปยังเมืองไต๋
ทางเมืองไต๋นั้น เมื่อคำอ้ายยกทัพหนีกุมภวามาระหว่างทางคำอ้ายบังคับชาวบ้านเข้าสมทบในกองทัพเป็นอันมาก และเมื่อใกล้เมืองไต๋ ก็ให้ทหารแต่งตัวและถืออาวุธทำกิริยาฮึกเหิมประหนึ่งว่ามีชัยต่อข้าศึกกลับมา
สมเกิดซึ่งรักษาเมืองอยู่ เข้าใจว่าคำอ้ายชนะศึกกลับมาจึงเปิดประตูเมืองให้ แล้วคำอ้ายก็กวาดต้อนเสบียงเป็นอันมากเข้าไว้ในเมือง และให้ทหารรักษาเชิงเทินไว้อย่างกวดขัน และคำอ้ายลอบส่งคนเข้าไปป่าวข่าวในเมืองลือว่าจิ๋นกำลังยกมา
กุมภวานำทัพมาถึงก็ให้ล้อมเมืองไว้ แล้วในไม่ช้าสีเภานำทัพจากเชียงแสมาเพิ่มเติม ระหว่างที่ล้อมเมืองไต๋อยู่ กุมภวาได้รับข่าวว่าเมืองลือกำลังหวาดกลัวด้วยมีข่าวลือต่างๆ กุมภวาจึงกลับไปยังเมืองลือและให้สีเภาทำศึกด้านเมืองไต๋ตามลำพัง

จบภาค ๕
(ไทวิวาทกันอีก)